posttoday

ฟอลคอนในทัศนะพระเพทราชา

23 มีนาคม 2561

เฟซบุ๊ก Kornkit Disthan

เฟซบุ๊ก Kornkit Disthan

ทุกคนรู้ว่าพระเพทราชาทรงชังคอนสแตนติน ฟอลคอน ( เจ้าพระยาวิชาเยนทร์) แต่เราไม่รู้แน่ชัดว่าทรงชังเพราะเหม็นน้ำหน้า หรือว่าชังเพราะฟอลคอนมักใหญ่ใฝ่สูง ความคิดของพระเพทราชานั้นมีแต่พระองค์เท่านั้นที่รู้ ส่วนหลักฐานเรื่องที่ทรงชังและสั่งเด็ดหัวฟอลคอนนั้นมีหลากหลาย หลักฐานฝรั่งเศสออกจะวาดให้พระเพทราชาเป็นผู้ร้าย แต่หลักฐานดัตช์และญี่ปุ่นให้ภาพที่ต่างออกไป

ในที่นี้ผมจะอ้างหลักฐานดัตช์ คือสาส์นจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี หรือโกษาปาน ในฐานะพระคลัง ส่งไปถึงบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ที่เมืองปัตตาเวีย หรือจาการ์ตา

จดหมายฉบับนี้โกษาปานเล่าให้พวกดัตช์ฟังว่า ฟอลคอนชั่วร้ายเพียงใด และพระเพทราชาทรงชอบธรรมในการกำจัดเขา ถือเป็นเวอร์ชั่นที่ใกล้เคียงกับปากคำของพระเพทราชาที่สุด

จดหมายบางส่วนมีใจความว่า

"พระเจ้าอยู่หัวเคยผู้ปกครองกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ครั้งนั้นทรงพระประชวรหนัก ไม่นานนักก็เสด็จสวรรคต ด้วยเหตุนี้พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ปัจจุบันจึงครองราชสมบัติต่อมา ดำรงพระยศพระราชาผู้เกริกไกร และสาส์นนี้เป็นพระราชดำรัสของพระองค์ผ่านมาทางข้าพเจ้า (โกษาปาน) เท่านั้น"

"ในส่วนของทัศนะของคอนสแตนติน ฟอลคอน เกี่ยวกับพ่อค้าวาณิชย์ที่เดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อค้าขายหรือพวกที่อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ฟอลคอนได้สร้างปัญหาและความยุ่งยากเหลือคณานับ ทั้งยังกดขี่ข่มเหง ข่มขู่คุกคาม และบีบบังคับจนกระทั่งไม่มีผู้ใดกล้าปริปากร้องเรียน คอนสแตนตินผู้นี้ยังอ้างสิทธิในสินค้าที่อยู่ในท้องพระคลังและโกดังสินค้าของพระเจ้าอยู่หัว แล้วเบียดบังเอาของหลวงไปเป็นจำนวนมาก ของหลวงจึงสูญหายไป นอกจาก (ความฉ้อฉลนี้) ยังมีการกระทำชั่วและอาชญากรรมอีกหลายกระทงที่เขาได้ละเมิดต่อจารีตประเพณีโบราณ ซึ่งจะไม่ขอเอ่ยในสาส์นฉบับนี้ เพราะหลวงอภัยวารี (Joannes Keyts นายห้างวิลันดาในอยุธยา) จะเดินทางออกจากพระนครในไม่ช้า หลวงอภัยวารีมีข้อมูลครอบถ้วนเกี่ยวกับเหตุการณ์และเรื่องราวเกี่ยวกับคนผู้นี้ เมื่อครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ก่อนสวรรคต หลวงอภัยวารีจะแจ้งให้ ฯพณฯ ท่านทราบถึงโอกาสต่างๆ ที่คอนสแตนตินได้ฉวยใช้เพื่อกระทำความผิด อันทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพิโรธยิ่งนักและชิงชิงคนผู้นี้อย่างมาก"

สาส์นฉบับนี้พรรณนาว่ากรุงศรีอยุธยาเคยคราคร่ำด้วยพ่อค้าวาณิชย์นานาชาติมากเพียงใด และเคยกลมเกลียวกับดัตช์มากเพียงใด จนกระทั่ง ...

"... ภายหลังจากที่คอนสแตนตินกลายเป็นพระยาวิชาเยนทร์และมนตรีที่ปรึกษาราชการ ชายผู้นี้จึงเริ่มคุกคามและยังความอยุติธรรมให้เกิดกับพ่อค้าต่างชาติและชาวฮอลันดา กระทำการณ์ราวกับว่าได้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าอยู่หัว แต่เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานและยกย่องเขาอย่างมากยิ่งกว่าพระยาพลเทพในยุคสมัยใด จึงไม่มีใครกล้าไปทราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ได้แต่รอให้สบโอกาสและสถานการณ์เอื้ออำนวย เพื่อที่เขาจะได้รับผลกรรมที่ก่อ และในเวลานี้ พระเจ้าอยู่หัวทรงประชวรหนัก คอนสแตนตินผู้นี้ได้สมคบกับพวกฝรั่งเศส อังกฤษ จีน และนายทหารชั้นสูงชาวสยามจำนวนหนึ่ง ซึ่งเขาล่อลวงให้มาเป็นพวก เมื่อพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันทรงทราบเรื่อง จึงทรงสั่งให้จับกุมคอนสแตนตินและประหารเสีย นี่คือชะตากรรมของคนผู้นี้

หลังจากนั้น สาส์นได้กล่าวว่า ชาวดัตช์ไม่เคยคิดร้ายต่อกรุงศรีอยุธยาดังเช่นฟอลคอน และถึงเวลาที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะรื้อฟื้นสัมพันธ์ฉันมิตรดังเดิม

เนื้อหาของสาส์นฉบับนี้มีนัยหลายประการ เป็นไปได้ว่าพระเพทราชาทรงต้องการดัตช์มาช่วยเป็นพันธมิตรสกัดฝรั่งเศสและพันธมิตรฟอลคอน หรือไม่ก็ทรงคิดจะค้าขายกับดัตช์เพื่อแทนที่ฝรั่งเศสและอังกฤษ หรือไม่ก็ทรงเห็นว่าดัตช์ไม่ได้รับความยุติธรรมจริงๆ ในสมัยฟอลคอนเป็นใหญ่ หรือไม่ก็ทรงจะประกาศความชอบธรรมในการยึดอำนาจ โดยชี้ว่า ฟอลคอน (ซึ่งเป็นศัตรูกับดัตช์) เป็นคนคิดไม่ซื่อต่อกรุงศรีฯ

ส่วนหลักฐานญี่ปุ่น ปรากฎในบันทึกโทเซน ฟูเซตสึ งะกิ (Tôsen fusetsu-gaki) ซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของพ่อค้าจีนและดัตช์ที่เมืองนางาซากิ แปลโดยอาจารย์โยเนโอะ อิชิอิ (Yoneo Ishii) ในช่วงแรกของการยึดอำนาจ พ่อค้าเล่ารวบรัดว่าทรงยึดอำนาจ ไล่ฝรั่งออกไป (บันทึกเรียกเป็นอังกฤษ) พวกเมืองนครกับปัตตานีได้ยินข่าวการยึดอำนาจ ก็คิดจะยกทัพไปสู้ แต่พอทราบว่าพระอนุชาทั้ง 2 และพระปีย์ ถูกสังหารแล้ว ก็เลิกความคิด แต่นั้นบ้านเป็นปกติสุขดังเดิม แต่ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 1690 จากเรือหมายเลข 86 เล่าไว้ว่า

"ที่สยามไม่มีเรื่องอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ เมื่อ 2 ปีก่อนเกิดศึกกลางเมืองขึ้น ซึ่งเรือที่เทียบท่าลำก่อนๆ น่าจะเล่าไว้แล้ว แต่บางคนเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผิดไปโดยเชื่อว่ากษัตริย์องค์นี้ (พระเพทราชา) ซึ่งทรงเคยเป็นขุนนางระดับสูงผู้มีบารมีของรัชกาลก่อน ได้ชิงราชบัลลังก์มา ตอนที่กษัตริย์องค์ก่อนทรงพระประชวร ภายหลังจากกำจัดขุนนางชั้นสูงผู้ทุรยศชาวอังกฤษ (ฟอลคอน) แล้วสังหารเสีย แต่ในความจริงคือกษัตริย์องค์ก่อนทรงไม่มีรัชทายาท แม้จะทรงมีพระโอรสหนึ่งองค์และพระธิดาหนึ่งองค์ แต่พระโอรสประชวรหนักไม่อาจปกครองบ้านเมืองได้ เมื่อพระพลานามัยของกษัตริย์องค์ก่อนทรุดหนักลง ทรงเรียกขุนนางชั้นสูงผู้นั้นมาแล้วสั่งให้เษกสมรสกับพระธิดาของพระองค์แล้วครองบัลลังก์ เรื่องนี้เขาได้รับคำสั่งตอนที่กษัตริย์ยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ขุนนางชั้นสูงผู้นั้น (พระเพทราชา) จึงรับพระกรุณาธิคุณด้วยความยินดี และตรองหาวิธีที่จะกำจัดขุนนางอังกฤษ วันหนึ่งเขาจึงอ้างคำสั่งกษัตริย์ให้ขุนนางอังกฤษเข้าวัง แล้วฆ่าเสีย นี่คือเหตุผลว่าทำไมพสกนิกรและเมืองประเทศราชทั้งปวงจึงยอมอ่อนน้อมต่อกษัตริย์องค์ใหม่ โดยมิคิดต่อกระด้างกระเดื่อง" (อ้างจาก Yoneo Ishii หน้า 57 - 58)

บันทึกฉบับนี้เรียกฟอลคอนว่าเป็นอังกฤษ และตราหน้าเขาเป็นคนสามานย์ พร้อมกับให้ความชอบธรรมพระเพทราชาอย่างเต็มที่ ต้องย้ำว่าคนเล่าเป็นเพียงพ่อค้า อาจไม่รู้ตื้นลึกหนาบางมากนัก แต่เรื่องเล่าของเขาอาจสะท้อนข้อมูลที่ชาวอยุธยาทั่วๆ ไปรับทราบ

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือคนไปเชื่อกันว่า พระเพทราชาทรงกวาดล้างฝรั่งเศส ไม่ถูกกับอังกฤษ เท่ากับปิดประเทศโดยปริยาย ซึ่งผิด เพราะพระองค์โปรดดัตช์อย่างมาก และยกให้เป็นพันธมิตรยุโรปหนึ่งเดียว ทั้งยังทรงโปรดเทคโนโลยีแบบฝรั่ง เช่นการทำอาวุธ และเครื่องจักรกล แต่กลับทรงระมัดระวัง ไม่ยืมมือฝรั่งเพื่อกุมอำนาจ เหมือนพระนารายณ์หรือพระศรีสุธรรมราชา (อ้างจาก Bhawan Ruangsilp หน้า 158 - 159) เหมือนกับว่าทรงระแวงฝรั่งเศสมากขึ้นหลังกรณีคอนสแตนติน ฟอลคอน

คนยุคเราสงสัยกันมากว่าฟอลคอนเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงจริงหรือ? สาส์นฉบับนี้พอจะตอบได้ และหากยังไม่มีน้ำหนักพอจะขอยกทัศนะของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์ต่อฟอลคอน ดังนี้

"แต่บางทีเขาอาจแค่ต้องการกองกำลังฝรั่งเศสเพียงเพื่อสนับสนุนให้เขาเป็นกษัตริย์หลังจากเหนือหัวของเขาสวรรคตแล้ว ซึ่งตัวเขาเองหวังไว้สูงยิ่ง เขาเป็นคนโอหัง โหดเหี้ยม ไร้ปราณี และมีความทะเยอทะยานเกินหน้าเกินตา เขาสนับสนุนศาสนาคริสต์ เพียงเพราะคิดว่าจะช่วยส่งเสริมเขาเท่านั้น" (Choisy, 150)

อ้างอิง

Letter from the Phrakhlang on behalf of King Phetracha of Siam (r. 1688-1703) to the Supreme Government, 12 February 1689 and the answer from Batavia, 4 Mei 1689 (https://sejarah-nusantara.anri.go.id/hartakarun/item/19/translation_en)

Yoneo Ishii, editor (2000) The Junk Trade from Southeast Asia: Translations from the Tosen Fusetsu-gaki, 1674-1723. ISEAS.

Bhawan Ruangsilp. (2007) Dutch East India Company Merchants at the Court of Ayutthaya, Ca. 1604-1765. Brill Academic.

Abbé de Choisy. (1983) Mémoires pour servir à l'histoire de Louis XIV. Editions du Mercure de France.

--------------------------------------------

ภาพที่เชื่อว่าเป็นพระเพทราชา (PiteraTjay) ในหนังสือของดัตช์ ชื่อ 1695 Military Revolutions Wars of Europe & Asia Ottoman Turks Mohammed Siam 27 Portraits

ที่มา - https://schilbantiquarian.com/product/1695-military-revolutions-wars-of-europe-asia-ottoman-turks-mohammed-siam-27-portraits/