posttoday

ม.44อุ้มค่ายมือถือ ขัดหลักนิติธรรม-แฝงทุจริตคอร์รัปชั่น?

21 มีนาคม 2561

คสช.มีอำนาจอุ้ม2ค่ายธุรกิจมือถือด้วยม.44 ที่ขัดหลักนิติธรรมตาม รธน.และแฝงการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยหรือไม่?

โดย...รสนา โตสิตระกูล

"คสช.มีอำนาจอุ้ม2ค่ายธุรกิจมือถือด้วยม.44 ที่ขัดหลักนิติธรรมตาม รธน.และแฝงการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วยหรือไม่?”

ข่าวที่คสช.เตรียมประชุมวันที่27 มีนาคม 2561 เพื่อออกคำสั่งตามมาตรา44 อุ้ม2ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ให้สามารถขยายเวลาการจ่ายค่างวดใบอนุญาตคลื่น4G งวดสุดท้ายรวม1.2แสนล้านบาทที่ต้องจ่ายภายในปี 2563 ให้ผ่อนจ่ายเป็น5ปี โดยคิดดอกเบี้ย1.5% ต่อปีนั้น

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอได้คำนวณส่วนต่างของดอกเบี้ยที่2ค่ายโทรศัพท์มือถือจะประหยัดได้ถึงรายละ 1.5 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมทั้ง2บริษัท เท่ากับเอกชนจะประหยัดดอกเบี้ยไปถึง 3หมื่นล้านบาท จึงเป็นที่จับตาว่ากรณีนี้ ไม่ต่างจากกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเคยแปลงค่าสัมปทานโทรศัพท์ไปซุกในภาษีสรรพสามิต ส่วนกรณีนี้คสช.กำลังช่วยอุ้มค่ายมือถือให้ประหยัดดอกเบี้ย3หมื่นล้านบาทด้วยการไปซุกกับการช่วยทีวีดิจิตอล ซึ่งถูกตั้งคำถามว่า เป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่

กรณีการช่วยให้ค่ายมือถือประหยัดดอกเบี้ยนี้น่าจะคล้ายคลึงกับกรณีที่อดีตนายกฯคนดังกล่าวเคยสั่งให้เอกซิมแบงค์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่าในอัตราดอกเบี้ย3%เพื่อจ้างบริษัทโทรคมนาคมของอดีตนายกฯไปรับงานติดตั้งระบบโทรศัพท์ให้รัฐบาลพม่า ทั้งที่เอกซิมแบงค์มีค่าใช้จ่ายในการปล่อยกู้เป็นดอกเบี้ยมากกว่า3% ซึ่งอดีตนายกฯก็มีคำสั่งให้รัฐบาลไทยเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงให้กับเอกซิมแบงค์ ใช่หรือไม่

สังคมไม่เคยตั้งคำถามและตรวจสอบอำนาจมาตรา44 ที่คสช.ใช้อย่างพร่ำเพรื่อทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย2560ว่าเป็นการใช้อำนาจที่ชอบด้วยเจตนารมณ์ และหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหรือไม่

มาตรา44 บัญญัติว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ.....”

สรุปให้สั้นลง อำนาจในมาตรา44 ในรัฐธรรมนูญ 2557 มิได้ให้ใช้อย่างไร้ขอบเขตแต่กำหนดให้ใช้ได้ในขอบเขตเพียง 3เรื่องคือ 1)การปฏิรูป 2)การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ และ3)ปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดินเท่านั้น

ไม่เคยมีการตั้งคำถามว่า การใช้อำนาจมาตรา 44 ของคสช.ที่ข้ามห้วยไปกำหนดการได้มาซึ่งคณะกรรมการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ อย่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินนั้นอยู่ในอำนาจข้อใดของมาตรา44 และการใช้อำนาจในส่วนนี้ กลับไปทำลายกลไกการถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดินขององค์กรอิสระ ใช่หรือไม่?

การใช้อำนาจ ม.44 ของหนุมานคสช.กำลังจะเหาะเลยเถิดเกินกรุงลงกาไปอุ้ม2ค่ายธุรกิจมือถือ ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับขอบเขตอำนาจตามมาตรา44 เลย ใช่หรือไม่

ขอให้วิญญูชนโปรดพิจารณาข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1)คสช.จะมีอำนาจเฉพาะการออกคำสั่งเพื่อ1.การปฏิรูป 2.ส่งเสริมความสมานฉันท์ ปรองดองของคนในชาติ และ 3.ปราบปรามการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ และเศรษฐกิจการออกคำสั่งเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งจึงไม่น่าจะเข้าขอบเขตมาตรา44ข้อใดข้อหนึ่งใน3ข้อ การออกคำสั่งที่เกินขอบเขตเป็นการออกคำสั่งที่ไม่มีอำนาจและขัดต่อหลักนิติธรรม คำสั่งนั้นจึงไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย

2)รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่” รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2560แต่คำสั่งคสช.ที่ 2/2560 ลงวันที่21กย.2560 ได้แต่งตั้งนายทหารเพิ่มอีก3รายมาดำรงตำแหน่งในคสช. ได้แก่

1)พลเอก นริส ประทุมสุวรรณ

2)พลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์

3)พลเอก ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา265 ใช้คำว่า ”คสช.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ” คสช.ที่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 จึงต้องหมายถึงสมาชิกทุกคนที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 แต่สมาชิกใหม่ 3 คนที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งอยู่ในคสช.ก่อนวันที่ 6 เมษายน 2560 ทำให้คสช.มิได้ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน 6เมษายน 2560 ทุกคนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560

ดังนั้น คสช.ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2560 จึงเป็นคสช.ที่ไม่มีอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา265 บัญญัติให้อำนาจไว้ คำสั่งและประกาศที่ออกหลังวันที่ 21 กันยายน 2560 จึงไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมาย

การใช้อำนาจของคสช.โดยมิใช่เป็นกรณีที่ประชาชนได้ประโยชน์หรือจำเป็นต่อเศรษฐกิจแต่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะ2บริษัท และยังมีข้อสงสัยว่าอาจจะเปิดช่องให้แฝงเร้นการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือ การประพฤติมิชอบเอาไว้ด้วยนั้น ย่อมทำให้คำสั่งคสช.นั้นเป็นโมฆะเพราะนอกจากจะขัดต่อขอบเขตอำนาจตามมาตรา44 ที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้แล้ว ยังขัดต่อหลักนิติธรรม ซึ่งคสช.ต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ 2560 อีกด้วย ใช่หรือไม่

รสนา โตสิตระกูล

21 มีนาคม 2561

ที่มา https://www.facebook.com/rosana.tsk/posts/1875857392458757