posttoday

ประชาชนเป็นคนกำหนดอนาคตของประเทศ

08 มีนาคม 2561

เวลานี้ก็อยู่ที่ประชาชนจะต้องปรับตัวเองให้เป็น “พลเมืองที่ตื่นรู้” ที่จะเลือกคนดีเป็นตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ อย่าให้ประชาธิปไตยไทยเป็น “ประชาธิปไตยเศษสตางค์”

เวลานี้ก็อยู่ที่ประชาชนจะต้องปรับตัวเองให้เป็น “พลเมืองที่ตื่นรู้” ที่จะเลือกคนดีเป็นตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ อย่าให้ประชาธิปไตยไทยเป็น “ประชาธิปไตยเศษสตางค์”

*********************

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ไม่มีใครปฏิเสธการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าความรู้ความเข้าใจต่อระบอบประชาธิปไตยจะแตกต่างกันไป โพลสำนักหนึ่งที่ถามประชาชนถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย สรุปได้ว่าเหมือนกับคนตาบอดคลำช้าง ใครคลำถูกส่วนไหนก็บอกว่าช้างรูปร่างเหมือนอย่างนั้น ซึ่งก็ถูกแต่ไม่ถูกทั้งหมด จำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง บางทีนักการเมืองก็ทำให้ประชาชนสับสน โดยอ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย และป้ายสีฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นเผด็จการ หรือยกตัวเองเป็นเทพให้อีกฝ่ายเป็นมาร พยายามจะทำให้ตนเองดูดีเพื่อหาคะแนนนิยมจากประชาชน ทั้งที่ตนเองเป็นยักษ์แต่ใส่หน้ากากเทวดาและเอาเสื้อคลุมเทวดามาสวมใส่หลอกประชาชน    

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างอ้างว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งนั้น  ประเทศคอมมิวนิสต์ก็อ้างตลอดมาว่า ตนเองเป็นประชาธิปไตย แต่เป็น “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” สำหรับประเทศไทยนั้นรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ รวมทั้งฉบับปัจจุบันได้กำหนดรูปแบบของรัฐไว้ชัดเจนว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งกำหนดลักษณะพิเศษว่านอกจากมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ต้องมีพระมหากษัตริย์เท่านั้นทรงเป็นประมุขด้วย    

โพลทุกสำนักที่สำรวจความเห็นของประชาชนจะได้คำตอบในทางบวกว่าประชาชนต้องการประชาธิปไตย ไม่มีใครชอบเผด็จการ ถ้าถามว่าต้องการเลือกตั้งไหม ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดก็บอกว่าอยากเลือกตั้ง ถามต่อว่าอยากเลือกตั้งเมื่อไร คำตอบส่วนใหญ่ก็คือเร็วที่สุด แต่ที่น่าสนใจก็คือส่วนใหญ่ยอมรับได้หากต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเพราะยังไม่พร้อม หรือต้องการเห็นบ้านเมืองเรียบร้อยหรือปฏิรูปเสียก่อนค่อยเลือกตั้ง พวกเขาไม่อยากเห็นเลือกตั้งแล้วบ้านเมืองกลับมาวุ่นวายอีก แต่ก็มีเงื่อนไขว่าอย่าให้รอนานเกินไป

ในระยะหลังมีคนสนใจค่อนข้างมากเกี่ยวกับระบอบการปกครองบ้านเมืองของจีนที่ใครๆ บอกว่าเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ทำไมคอมมิวนิสต์จีนถึงเจริญเอาๆ แบบฉุดไม่อยู่ คนจีนรวยเอาๆ  คนจีนมีเงินที่ออกไปเที่ยวได้ทั่วโลก ในขณะที่สหรัฐและยุโรปซึ่งเป็นตัวแทนประชาธิปไตยกลับแย่เอาๆ ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ภายในประเทศก็มีแต่ความวุ่นวาย สีจิ้นผิง ผู้นำจีนปัจจุบันได้กล่าวในการประชุมสมัชชาพรรคเมื่อปี 2560 โดยเรียกการปกครองของจีนว่า “เป็นประชาธิปไตยเพื่อสังคมอย่างมีส่วนร่วม” หรือเป็นประชาธิปไตยแบบจีนๆ

ดร.กมล กมลตระกูล เขียนถึงสิ่งที่สีจิ้นผิงได้พูดถึงการประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งว่า “ถ้าประชาชนมีเพียงแค่สิทธิไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่มีสิทธิในการมีส่วนร่วมอย่างทั่วด้าน นัยหนึ่งประชาชนตื่นขึ้นมาเฉพาะเมื่อลงคะแนนเสียง ส่วนเวลาที่เหลือคือนอนหลับ ประชาธิปไตยแบบนี้จีนเรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยเศษสตางค์” แล้วจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร” ฟังแล้วแสบๆ คันๆ เพราะช่างคล้ายกับประชาธิปไตยเมืองไทยเสียเหลือเกิน นอกจากนั้น สีจิ้นผิงยังสอนต่ออีกว่า “ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ใช้เป็นเครื่องประดับ แต่ใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนต้องการให้แก้”

สีจิ้นผิงให้ความสำคัญต่อประชาชนอย่างมาก โดยเน้นว่า “อำนาจรัฐทั้งปวงเป็นของประชาชน ประชาชนคือเจ้านายของประเทศ ประชาชนไม่ใช่แค่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น แต่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายสำคัญ การมีส่วนร่วมคือประชาชนเป็นผู้กลั่นกรองสรรหาคัดเลือกคนดีเสนอชื่อผู้แทนเพื่อเข้าแข่งขันรับเลือกตั้งเข้าสู่สภา ไม่ให้คนดีถูกตัดโอกาส มิใช่หัวหน้าพรรคเป็นคนชี้นิ้วเอาคนนั้นคนนี้แบบมัดมือชก” สีจิ้นผิงได้กำชับข้าราชการและเจ้าหน้าที่จีนให้ตระหนักว่า “กลไกรัฐและข้าราชการต้องทำงานเพื่อประชาชน ใกล้ชิดประชาชน ฟังความเห็น คำแนะนำจากประชาชน ยอมรับการตรวจสอบของประชาชน”

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราได้รู้จักประชาธิปไตยในหลายรูปแบบตามที่นักวิชาการตะวันตกได้พูดถึง คือ “ประชาธิปไตยแบบประชานิยม” โดยเศรษฐีเสนอนโยบายประชานิยมให้คนเลือกเข้ามา แล้วใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว และพรรคพวก “โจราธิปไตย” คือ ใช้อำนาจที่ได้รับเลือกจากประชาชนแล้วมาปล้นประเทศ “ประชาธิปไตยพรรคพวก” คือ เมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้วก็ใช้อำนาจรัฐหาประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวก เช่น การให้สัมปทานแก่พรรคพวก การแต่งตั้งพรรคพวกมาร่วมโกงกิน “ประชาธิปไตยแบบเครือญาติ” ใช้อำนาจที่ประชาชนให้มาแต่งตั้งเครือญาติมาหา “เงินทอน” กับโครงการต่างๆ ของรัฐ

วันนี้เราได้ยินคำว่า “ประชาธิปไตยเศษสตางค์” จากสีจิ้นผิงพูดถึง ดูเหมือนว่า ไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาเป็นประชาธิปไตยครบทุกแบบที่กล่าวมา ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พูดถึง“ประชาธิปไตยไทยนิยม” หรือประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ยึดหลักการสากลแต่มาปรับให้เข้ากับสังคมไทย บางครั้งท่านก็อ้างถึง “ประชาธิปไตยธรรมาภิบาล”หรือประชาธิปไตยที่มีธรรมเป็นเครื่องชี้นำตามที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวไว้

บ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นสำคัญดังที่ สีจิ้นผิงได้กล่าวไว้ เมื่อเร็วๆ นี้มีการเผยแพร่บนสื่อออนไลน์เกี่ยวกับอมตะวาจาของวุฒิสมาชิกหญิงอเมริกันคนหนี่ง ชื่อ  อลิซาเบ็ธ วอร์เรน  เธอได้กล่าวไว้เมื่อปี 2516 ว่า “ประเทศไม่ได้อยู่ได้เพราะประชาธิปไตย ไม่ได้อยู่ได้เพราะรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ได้เพราะกฎหมาย แต่ประเทศจะยั่งยืนอยู่ได้ด้วยกำลังของพลเมืองดี ที่ไม่ดูดายและไม่ยอมแพ้ต่อคนชั่ว คนทุจริต ที่กัดกร่อนบ่อนทำลายประเทศชาติ พลเมืองดีจึงต้องยืนหยัดรักษาบ้านเมืองไว้ให้มั่นคงเพื่อลูกหลานรุ่นต่อไป”

สรุปก็คือ ประเทศเป็นประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ  มีกฎหมายในการปกครองประเทศ ยังไม่พอ สำคัญที่สุดต้องมีพลเมืองดีที่ไม่นิ่งดูดาย หรือเป็น “พลเมืองที่ตื่นรู้” 

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้เน้นความสำคัญกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่จะเลือกคนดีเป็นตัวแทนไปใช้อำนาจ พรรคการเมืองต้องเสนอคนดีและนโยบายที่ดีมาให้ประชาชนเลือก นอกจากประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและหน้าที่แล้ว เวลานี้ก็อยู่ที่ประชาชนจะต้องปรับตัวเองให้เป็น “พลเมืองที่ตื่นรู้” ที่จะเลือกคนดีเป็นตัวแทนเข้าไปบริหารประเทศ และตรวจสอบการทำงานของตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้าไป ใครไม่ดีก็เอาออกโดยไม่ต้องรอถึง 4 ปี อย่าให้ประชาธิปไตยไทยเป็น “ประชาธิปไตยเศษสตางค์” ตามที่สีจิ้นผิงพูดไว้

ประชาธิปไตยไทยหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่ที่พลเมืองดีที่เอางานเอาการและตื่นตลอดเวลา ไม่ใช่ตื่นมารับเงินเวลาเลือกตั้ง จากนั้นก็นอนหลับต่อโดยปล่อยให้นักการเมืองชำเราบ้านเมืองไปอีก 4 ปีแล้วค่อยตื่นมารับเงินใหม่