posttoday

ราชการไทย แก้ไขไม่ได้เลยหรือ?

05 มีนาคม 2561

ถ้าหวังพึ่งแต่นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีอีกไม่กี่คน มันจะทำอะไรได้สักแค่ไหน แล้ว 20 กระทรวงกับข้าราชการอีกสองล้านกว่าคนที่มีอยู่ไม่ต้องร่วมกันรับผิดชอบประเทศนี้เลยหรืออย่างไร

โดย...ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

ความล้มเหลวของคำสั่ง คสช. ที่ 21/2560 เรื่อง ห้ามหน่วยราชการเรียกสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สูติบัตร และสำเนาเอกสารราชการอื่นๆ จากประชาชนที่มาติดต่อขอรับบริการ แต่มีหน่วยงานเพียงร้อยละ 2.37 เท่านั้นที่สามารถปฏิบัติได้ ขณะที่อีกร้อยละ 44.71 ทำได้บางส่วนและร้อยละ 52.94 ไม่สามารถปฏิบัติได้เลยหลังจากออกคำสั่งไปตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2560 หรือ 9 เดือนที่แล้ว

มีประชาชนที่ทักท้วงแต่ได้รับคำตอบน่าตกใจ เช่น ถ้ามีสำเนาบัตรประชาชนมาก็ยื่นได้เลย แต่ถ้าให้ดึงข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ต้องรอครึ่งชั่วโมง หน่วยงานศุลกากรบางแห่งบอกให้รอไปสองสัปดาห์ก็มี บางหน่วยงานตอบน่าตาเฉยว่า ถ้าไปที่กรมทำได้แต่ที่หน่วยงานสาขานี้ทำไม่ได้

มีคำอธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลไม่จริงจัง สักแต่ว่าสั่ง ไม่ติดตามให้เกิดผลสำเร็จ ข้าราชการจำนวนมากก็คิดแต่ว่าตนเป็นนายไม่ใช่ผู้รับใช้ให้บริการ เลยเห็นความเดือดร้อนยุ่งยากของชาวบ้านเป็นเรื่องธรรมดา บางคนทำงานจนชินไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรหรือบางทีวิธีใหม่ๆ ก็อาจทำให้เขาเสียประโยชน์ เสียรายได้ไป บ้างก็กลัวว่าทำแล้วจะยุ่งยากหรือเกิดความผิดพลาดจนมีปัญหาถูกร้องเรียน สู้ไม่ทำเสียดีกว่า เลยอ้างโน่นโทษนี่ ดึงเรื่องไปก่อนเพราะอีกไม่ช้าก็เปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว จะไปทำให้มากเรื่องทำไม

หน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามก็ไม่ใส่ใจ กฎหมายปฏิบัติไม่ได้หรือติดขัดอะไรก็นิ่งเฉยไม่รายงานไม่เร่งแก้ไข ยิ่งตอนนี้รัฐบาลหนุนหลังข้าราชการทุกเรื่องการเข้มงวดลงโทษจึงไม่ต้องเกรงกลัว สรุปไปเลยว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบที่ออกกฎหมายแล้วปฏิบัติไม่ได้

แต่วันนี้เรามาทบทวนกันดีไหมว่า “ถ้าหวังพึ่งแต่นายกรัฐมนตรีกับรัฐมนตรีอีกไม่กี่คน มันจะทำอะไรได้สักแค่ไหน แล้ว 20 กระทรวงกับข้าราชการอีกสองล้านกว่าคนที่มีอยู่ไม่ต้องร่วมกันรับผิดชอบประเทศนี้เลยหรืออย่างไร”

มาคิดดีมองบวกให้มากขึ้น มาตรการเพื่อประชาชนเช่นนี้หากสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทั้งชาวบ้านและคนทำมาค้าขายจะได้รับความสะดวกลดภาระลดความกังวล เอาเวลาไปทำมาหากินหรือดูแลครอบครัวได้มากขึ้น ข้าราชการก็ทำงานง่ายไม่ต้องวุ่นวายกับเอกสารกองโต มาตรการใหม่นี้ยังเป็นการบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำงาน ขั้นตอนระบบงานต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจนและเชื่อมโยงถึงกัน เครื่องมือและเทคโนโลยีก็ต้องพัฒนาให้ทันสมัย ซึ่งหมายถึงวันข้างหน้าหากต้องการยกระดับปรับปรุงหรือพัฒนาเรื่องอื่นๆ อีกก็จะทำง่ายขึ้น สรุปแล้วเป็นผลดีกับทุกคน

อันที่จริงเรื่องการออกกฎหมายแล้วไม่มีการปฏิบัติตามหรือบังคับใช้ไม่ได้นี้ มีให้เห็นมาทุกยุคสมัย อย่างการห้ามราชการเรี่ยไรเงินพ่อค้าจัดกอล์ฟการกุศลจัดโบว์ลิ่ง ปัญหากฎจราจรก็มีให้เห็นกันอยู่ในชีวิตประจำวันถึงขนาดขัดรัฐธรรมนูญก็ยังทำให้รู้เห็นไปทั่ว จนทุกคนชินชาแม้จะรู้ดีว่าไม่ถูกต้อง แต่ไม่แก้ไข ประชาชนเองก็สับสนไม่รู้ว่าอะไรถูกผิดหรือถึงรู้ก็ทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นปัญหาหมักหมม ผู้คนเบื่อหน่ายที่จะต่อสู้หรือพูดถึง และเป็นที่มาของคำเปรียบเปรยว่านี่แหละคือ “มะเร็งร้ายที่ลุกลามกัดกินสังคมไทยจนเข้าขั้นวิกฤต”

เรามักพูดถึงคนสิงคโปร์ ที่ช่วยกันเปลี่ยนเกาะเล็กๆ และขาดแคลนให้เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในเวลาไม่กี่สิบปี แซงไทยแซงคนทั้งเอเชีย จนใครๆก็ยอมรับในความขยัน ชาตินิยมและมีวินัย แต่ดูแล้วคนของเขาก็ไม่ได้ต่างไปจากไปกว่าคนไทยมิใช่หรือ

หันมองบ้านเรา พอมีปัญหาอะไรมันแก้ยากเพราะเราปฏิบัติต่อกันอย่างขาดวินัย ขาดความรับผิดชอบ มุ่งจับผิดหาเรื่องจนคนเก่งคนดีต่างกลัวไปหมด ครั้นออกกฎหมายใหม่มาบังคับก็ไม่เข้มงวดไม่เป็นธรรมหรือมองข้ามผลประโยชน์ส่วนรวม อย่างนี้กฎหมายก็ติดขัดกลายเป็นปัญหาอีก

วันนี้ดิจิทัลกำลังเขย่าโลก คนไทยกำลังต้องการปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่เป็นงานใหญ่ ดังนั้นน่าจะเป็นเวลาที่ทุกคนควรคิดให้ยาวคิดให้ลึก แล้วเอาสิ่งดีๆ ที่มีในตัวมาสร้างประเทศ รัฐบาลทำงานให้เกาะติดมากขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐเลิกลอยตัวแล้วมาช่วยกันเป็นมดงาน ประชาชนก็มาช่วยคิด ตรวจสอบและเสนอแนะว่าอะไรดี ใครจะจับผิดวิพากษ์วิจารณ์ก็ทำแต่พอควร 

สังคมที่มีความรักความอบอุ่น ทุกคนต้องช่วยเหลือและเห็นอกเห็นใจ การสร้างอนาคตของประเทศก็เช่นกัน

บทความนี้ผู้เขียนขอขอบคุณข้อคิดเห็นดีๆ ของท่านอาจารย์วิชามหาคุณ คุณประยงค์ ปรียาจิตต์ คุณไชยณัฐ เจติยานุวัตรและคุณช่อผกา วิริยานนท์