posttoday

จุดกำเนิดสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางแห่งชาติ

25 กุมภาพันธ์ 2561

โดย...ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย...ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความในตอนนี้ จะเล่าให้เห็นความชุลมุนในระหว่างการ

เตรียมจัดตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางแห่งชาติ” หรือขอเรียกให้สั้นลงอีกนิดว่า “สถาบันราง” ซึ่งพูดคุยกันมานานหลายปี เฉพาะเท่าที่ผู้เขียนได้ติดตามอยู่ก็น่าจะเกือบสิบปี แต่ก็ยังไม่ไปไหน ขณะนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการระดมสมองจากการประชุมของคณะอนุกรรมการซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ก่อนอื่นต้องขออธิบายให้เห็นที่มาที่ไป ซึ่งประกอบจากคำสั่ง 3 ส่วน คือ มติคณะรัฐมนตรี คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี และคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 ก.ค. 2560 เรื่อง “ขออนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา)” มีมติสำคัญที่เกี่ยวข้องกับโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ภายใต้หัวข้อใหญ่ที่ 2.อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่สำคัญ มติข้อย่อยที่ผู้เขียนสนใจ คือ

(2.4) ให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยของภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง” ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาบุคลากรทั้งระดับวิศวกรและช่างเทคนิคเพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางต่อไป และ

(2.5) ให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดตั้ง “องค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย” (ซึ่งรู้จักกันในชื่อย่อ “SPV”, Special Purposed Vehicle) เพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพ โดยให้มีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสมสำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมทั้งกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้การจัดตั้งองค์กรพิเศษดังกล่าวต้องดำเนินการให้ถูกต้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

จุดกำเนิดสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางแห่งชาติ

มติ ครม.ดังกล่าวน่าจะมีเจตนาที่ดี โดยมุ่งเน้นให้เกิดสัมฤทธิผล 2 ประการ คือ (1) การพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางภายในประเทศ (หมายถึงการให้ความสำคัญกับระบบรางทั้งหมด โดยมีเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่ง) มี “สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง” ในฐานะ “สถาบันระบบรางแห่งชาติ” เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบรางทั้งหมด รวมทั้งทำหน้าที่บริหารการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งควรจะต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับทุกการจัดซื้อระบบขนส่งทางรางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ (2) การบริหารการเดินรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เป็นอิสระจาก รฟท. ด้วยการจัดตั้ง “องค์กรพิเศษ” หรือ “SPV” ขึ้นมาทำหน้าที่

จากมติดังกล่าวนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ “สถาบันรางแห่งชาติ” ก็ส่งผลให้กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มนักวิชาการที่ผู้เขียนคุ้นเคยและติดตามเรื่องนี้กันมานาน ก็เริ่มพูดคุยกันว่าประเทศไทยกำลังเริ่มจะมีความหวังที่จะพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีระบบรางเป็นของตัวเองได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นธรรมดาที่จะเริ่มมีการขยับเนื้อขยับตัวของหน่วยงานหลายภาคส่วนเพื่อเสนอตัวเป็นแกนนำในการพัฒนาโครงสร้างตลอดจนรายละเอียดของสถาบันดังกล่าว อย่างไรก็ดีในฐานะที่ผู้เขียนติดตามเรื่องนี้มาเกือบสิบปี ผู้เขียนเห็นว่าสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในเรื่องนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกลายเป็นที่รวมตัวกันของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์มหาวิทยาลัย ตลอดจนผู้สนใจจากภาคเอกชน

มีหลักสูตรฝึกอบรมวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง (วศร.) ความยาวประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ต่อเนื่องมา 7 ปี จนมีผู้ผ่านการฝึกอบรมไปแล้วจำนวนกว่า 200 ท่าน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของ “สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางแห่งประเทศไทย (วศรท.)” ในที่สุด ระยะหลังยังมีการจัดกิจกรรมนิทรรศการ RISE (Thai Rail Industry Symposium and Exhibition) ติดต่อกันมาแล้ว 3 ปีอีกด้วย หากจะมีการจัดตั้ง “สถาบันรางแห่งชาติ” ขึ้นจริง สวทช.ก็น่าจะต้องมีส่วนร่วมเป็นอย่างยิ่ง ในเวลาต่อมามีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 243/2560 ลงวันที่ 27 ก.ย. 2560 แต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน” มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย” โดยมีการตั้ง “อนุกรรมการ” ขึ้น 3 คณะ บทความฉบับนี้จะกล่าวถึงเพียง 2 คณะ คือ (1) คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง และ (2) คณะอนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง

คณะอนุกรรมการแรกคือ SPV ซึ่งถ้าว่ากันตามมติ ครม.เดิม ที่กล่าวถึงข้างต้นก็จะทำหน้าที่กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟไทย-จีน ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งน่าจะหมายถึงในด้าน “การให้บริการเดินรถ” เป็นหลัก ในขณะที่คำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง” อาจจะนำมาซึ่งความสับสนและตีความได้หลายทาง เนื่องจากเป็นคำสั่งที่มี 2 เรื่องซ้อนกัน

 

จุดกำเนิดสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางแห่งชาติ

จุดกำเนิดสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางแห่งชาติ

เรื่องแรกเป็นเรื่องใหญ่ คือการตั้งสถาบันระบบรางแห่งชาติ (ซึ่งเคยคุยกันในระดับมติ ครม. ในฐานะสถาบันระบบรางที่ไม่ได้สนใจเฉพาะรถไฟฟ้าความเร็วสูง การมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการนี้ใต้ร่ม “คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน” ก็อาจทำให้ถูกตีความบทบาทแคบลงจาก “ระบบรางทั้งหมด” เป็นเฉพาะ “ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน”)

และเรื่องสองเป็นเรื่องเล็กกว่า คือแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีระบบรางทั้งหมด (และเอาเข้าจริงๆ ประเทศไทยก็อาจไม่ได้รับเทคโนโลยี M&E อะไรมากนัก เนื่องจากอำนาจการต่อรองต่ำ และเท่าที่ทราบจีนมีแนวโน้มจะปฏิเสธทุกข้อเสนอของไทยในเรื่อง M&E)

ตามคำสั่งนี้ “สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง” จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรทั้งระดับวิศวกรและช่างเทคนิคสำหรับรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางราง รวมทั้งจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในบทความฉบับที่แล้วผู้เขียนก็เกริ่นให้จับตาดูผลการเจรจา JC ครั้งที่ 23 ณ กรุงปักกิ่ง ว่าประเทศไทยจะสามารถเจรจาให้ประเทศจีนถ่ายทอดเทคโนโลยี M&E อะไรให้ได้บ้าง

การประชุม “คณะอนุกรรมการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง” นัดแรกไม่ค่อยคืบหน้ามากนัก เนื่องจากตัวคำสั่งเองก็ดูเหมือนจะผิดที่ผิดทาง ในขณะที่เนื้อหาที่พูดคุยกันก็ยังไม่ตกผลึกพอจะทำให้เห็นว่าโครงสร้าง หน้าที่ ภารกิจ ฯลฯ ของสถาบันระบบรางแห่งชาติจะต้องครอบคลุมอะไรบ้าง (ที่ไม่ใช่เพียงการทุ่มเงินงบประมาณมาจัดตั้งห้องปฏิบัติการ) ผู้เขียนได้ยินว่าอาจมีการมอบหมายให้องค์กรวิชาชีพเข้ามาทำหน้าที่จัดโครงสร้างของสถาบันระบบรางซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนา เกรงว่าจะยุ่งกันไปใหญ่ มาคอยจับตาดูกันครับ