posttoday

"ข่าวร้าย" ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

22 กุมภาพันธ์ 2561

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับล่างถือว่าเป็น "ข่าวร้ายที่สุด" ของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งเท่ากับจะทำลาย "โครงการรับจำนำข้าว" ที่ใช้หาเสียงกับชาวนา

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับล่างถือว่าเป็น "ข่าวร้ายที่สุด" ของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งเท่ากับจะทำลาย "โครงการรับจำนำข้าว" ที่ใช้หาเสียงกับชาวนา

************************** 

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

เศรษฐกิจระดับชาติและเศรษฐกิจระดับชาวบ้านมีความสัมพันธ์และมีความสำคัญต่อรัฐบาลที่ต้องทำสองอย่างไปพร้อมๆ กัน เพราะต้องเอาใจคนรวยแม้จะเป็นคนส่วนน้อยแต่มีพลังมหาศาล กับกลุ่มเศรษฐกิจระดับล่างหรือคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งสองพวกล้วนมีศักยภาพที่จะล้มรัฐบาลด้วยกันทั้งนั้น 

เป็นของธรรมดาที่คนรวยมีศักยภาพสูงกว่าทำธุรกิจได้กำไรมากกว่าคนจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจึงเป็นปัญหาของรัฐบาลทุกยุครวมทั้งรัฐบาล คสช.ด้วย ทำอย่างไรจะให้คนรวยมีจิตสำนึกที่จะแบ่งปันความสุขที่ตนได้จากการใช้ทรัพยากรของชาติมากกว่าให้กับคนจนบ้าง ทำอย่างไรจะให้นักการเมืองลดการเบียดบังงบประมาณแผ่นดินที่เอาไว้ช่วยเหลือคนจน

เศรษฐกิจตั้งแต่กลางปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 มีลักษณะ “แข็งบน อ่อนล่าง” กล่าวคือ เศรษฐกิจมหภาคหรือระดับบนแข็งแรง แต่เศรษฐกิจระดับล่างหรือระดับชาวบ้านยังมีปัญหาอยู่มาก เป็น “การโตอย่างไม่ทั่วถึง” หรือ “รวยกระจุก จนกระจาย” เศรษฐกิจระดับบนถือว่าใช้ได้จนถึงดีแต่การที่จะทำให้เศรษฐกิจคึกคักคือต้องทำให้คนระดับล่างมีรายได้มากขึ้นโดยเฉพาะเกษตรกร  ปีที่ผ่านๆ มาราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา  ปาล์มน้ำมัน ไม่ดีเพราะราคาตลาดโลกตกต่ำ ราคาบ้านเราก็ต่ำไปด้วย กำลังซื้อก็หดหายไปจากระบบ 

เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังกระจุกตัวอยู่ในภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว แม้ตัวเลขการส่งออกดีแต่กำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ได้ดีตามไปด้วย เพราะสินค้าส่งออกเป็นสินค้าภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ใช้แรงงานน้อย   เศรษฐกิจฟื้นตัวก็จริงแต่ยังไม่กระจายไปทุกภาคส่วน  รายได้ของเกษตรกรซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศลดน้อยลงร้อยละ 17.4 หนี้สินเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เพราะเจอปัญหาภัยแล้งติดต่อกันสองปี (2558-2559)  ตามด้วยน้ำท่วมใหญ่ซึ่งท่วมพื้นที่เกษตร 3.41 ล้านไร่  ส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร  สินค้าเกษตรหลายตัวราคาปรับลดลงตามราคาตลาดโลก เพราะราคาพืชผลการเกษตรผูกพันกับราคาตลาดโลก  กระทบต่อรายได้ของเกษตรกร กำลังซื้อหดหายไปจากระบบ

รัฐบาลทุ่มเงินไป 1.9 แสนล้านบาท ใน 19 โครงการเพื่อช่วยเหลือคนยากจน 11.4 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนไว้ เพื่อให้มีการจ้างงานมากขึ้นถือว่าเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนเพื่อให้คนจนอยู่ได้ก่อน แต่ทำไมเงินไม่ถึงเศรษฐกิจระดับล่าง จากการวิเคราะห์พบว่าส่วนหนึ่งถูกดูดจาก “ร้านสะดวกซื้อ” ที่ขายแม้กระทั่งข้าวเหนียว หมูปิ้ง ไข่ต้ม ที่เป็นธุรกิจคนจน เงินอีกนับแสนล้านบาทถูกดูดโดย “บริษัทมือถือยักษ์ใหญ่” เพราะคนไทยแม้แต่ชาวบ้านในชนบทก็ใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้อินเทอร์เน็ต คนยอมจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือแม้อดบ้างก็ยอม เงินอีกส่วนหนึ่งที่หายไปจากระบบเกิดจาก “ธุรกิจสีเทา” ที่รัฐบาลปราบปรามพวกทุจริตคอร์รัปชั่น กลุ่มผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด ธุรกิจผิดกฎหมาย ฯลฯ เงินประเภทนี้ที่เคยหมุนเวียนคล่องหายหรือลดน้อยลงไปมาก เงินที่ถูกหมุนในธุรกิจก็น้อยลงไม่ถึงคนค้าขายข้างถนน

ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลใช้ประเด็นเศรษฐกิจโจมตีรัฐบาลประยุทธ์อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่างช่วยคนยากจนที่ขึ้นทะเบียนไว้ 11.4 ล้านคน ด้วยการ“ลดหนี้  เพิ่มรายได้”  ช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค. 2560  รัฐบาลจัดการแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่ขอให้ช่วย 1.6 แสนราย ผ่านเงื่อนไข 8.5 หมื่นราย   รัฐบาลช่วยเจรจากับธนาคารเพื่อช่วยลูกหนี้ประมาณหมื่นราย มูลหนี้ 2,870 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พยายามช่วยแก้หนี้นอกระบบของเกษตรกรโดยนำลูกหนี้มาเรียนรู้การบริหารเงินที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 315 แห่งทั่วประเทศ

แปรหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบเพราะเสียดอกเบี้ยต่ำ ทำให้หนี้นอกระบบลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และช่วยปล่อยเงินกู้ให้สร้างอาชีพเสริมรายได้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จัดทำโครงการประชารัฐเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ชาวนาสำหรับฤดู 2560-2561 ช่วยลดค่าเก็บเกี่ยวข้าวให้ชาวนาภาคอีสานไร่ละ 200 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่  ชาวนาได้รับความช่วยเหลือ 5,000 กว่าราย  พื้นที่ 4.58 หมื่นไร่ ใน 12 จังหวัด โดยโอนเงินเข้าธนาคาร  หลังน้ำท่วมงบน้ำท่วมได้ลงไปช่วยชาวไร่ชาวนาที่ได้รับผลกระทบ 

นอกเหนือจากโครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุ  ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียงแล้ว  รัฐบาลจัด “โครงการประชารัฐเพื่อสวัสดิการ” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่า “บัตรคนจน”ด้วยการอัดฉีดเงิน 4 หมื่นล้านบาท ช่วยกลุ่มประชาชนยากจน 11.4 ล้านคน ที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท/ปี ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ตรงจุด  ทำให้เศรษฐกิจระดับล่างหมุนเวียนมากขึ้น ร้านโชห่วยมีชีวิตชีวาขึ้น โดยกำหนดให้ใช้บัตรไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้าและร้านที่เข้าร่วมโครงการ ซื้อก๊าซหุงต้ม จ่ายค่ารถเมล์ รถไฟ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของคนจน

โครงการนี้นับว่าเป็นที่นิยมอย่างมากจากประชาชนฐานราก รัฐต้องขยายร้านที่เข้าร่วมโครงการมากขึ้นโดยเฉพาะร้านค้าส่งและค้าปลีก หรือร้านโชห่วยซึ่งกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง  บัตรคนจนช่วยกระตุ้นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคกลับมาคึกคักในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ

นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2560 เป็นต้นมา ราคาสินค้าเกษตรหลายอย่างเริ่มดีขึ้น การส่งออกสินค้าภาคเกษตรขยายตัวต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกโดยเฉพาะข้าวทุกชนิดดีขึ้นมาก ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐบาลสามารถช่วยเกษตรกรได้โดยไม่ต้องใช้นโยบายจำนำข้าวที่ทำให้บ้านเมืองเสียหายยับเยิน แต่รัฐบาลต้องลงไปช่วยวางแผนตั้งแต่การผลิตเพื่อไม่ให้มีปริมาณมากไปจนทำให้ราคาตก ราคาสินค้าเกษตรอื่นก็ดีขึ้น ราคายางก็ค่อยๆ ขยับสูงขึ้นทำให้รายได้ของเกษตรกรดีขึ้นบวกกับโครงการที่รัฐบาลทุ่มลงไปช่วยเหลือเกษตรกรทำให้เศรษฐกิจระดับล่างคึกคักมากขึ้น  

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจระดับล่างถือว่าเป็น “ข่าวร้ายที่สุด” ของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ซึ่งเท่ากับจะทำลาย “โครงการรับจำนำข้าว” ที่ใช้หาเสียงกับชาวนา และจะส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไปเพราะเวลานี้คะแนนนิยมก็ลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นพวกนี้จะต้องเร่งทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประยุทธ์ในทุกวิถีทางเพื่อให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่นาน ข่าวดีของรัฐบาลมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันฝ่ายตรงข้ามก็จะเจอข่าวร้ายมากขึ้นเช่นกัน