posttoday

การเมืองเรื่องคนไร้บ้าน

17 มกราคม 2561

กลุ่มคนไร้บ้านจำนวนน้อยที่อาจไม่ถูกนับในทางเศรษฐกิจการเมืองก็ยังเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

โดย...ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คนไร้บ้านจัดเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิและด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการ และหลักประกันด้านต่างๆ ด้วยเหตุที่เป็นกลุ่มซึ่งต้องปะทะโดยตรงกับการพัฒนาเมืองอย่างไม่ยั่งยืนทั้งที่สาเหตุของการออกมาอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นเกี่ยวข้องกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเป็นผลลัพธ์ของนโยบายส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจที่ปราศจากการกระจายความมั่งคั่งมาเจือจุนเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคม โดยเฉพาะสิทธิในที่อยู่อาศัยตามเป้าหมายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและขจัดความยากจนอันมุ่งทำให้ทุกคนมีปัจจัยการดำรงชีพขั้นต่ำอย่างครบถ้วน

ยิ่งไปกว่านั้นการขาดไร้ซึ่งเอกสารยืนยันสถานะบุคคลและปราศจากภูมิลำเนาที่ชัดเจนยังทำให้สูญเสียสิทธิในการได้รับสวัสดิการจากบริการสาธารณะด้านต่างๆ รวมไปถึงการรอนสิทธิเมื่อมิอาจเข้ากลไกเยียวยาสิทธิทั้งหลายได้

การพยายามขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านในทางการเมืองก็เปราะบางเพราะอาจจะไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐหรือองค์กรธุรกิจ เนื่องจากมีปริมาณคนในแต่ละพื้นที่น้อยและไม่อาจตรวจสอบย้อนได้ชัดเจนว่าเป็นพลเมืองตามภูมิลำเนาใด จนเป็นสาเหตุให้กลุ่มผลประโยชน์มองข้ามความสำคัญและไม่นับเป็นภารกิจทางการเมืองเพื่อแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียง

อย่างไรก็ดี กลุ่มคนไร้บ้านจำนวนน้อยที่อาจไม่ถูกนับในทางเศรษฐกิจการเมืองก็ยังเป็นมนุษย์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในฐานะปัจเจกชนที่รัฐพึงให้หลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เช่นเดียวกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ได้กำหนดบทบาทของรัฐบาล ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีบทบาทส่งเสริมสิทธิของคนไร้ที่พึ่ง

กระนั้นการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เดิมมีเจตนารมณ์ช่วยเหลือคนไร้บ้านและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่สาธารณะกลับมิได้บังคับตามสิทธิที่กฎหมายได้ให้แนวทางไว้ นำไปสู่การละเมิดสิทธิของไร้บ้านอันเนื่องมาจากการจับกุมคุมขัง และพยายามกวาดล้างคนไร้บ้านออกจากพื้นที่สาธารณะ

ภาวะความเสี่ยงของคนไร้บ้านที่ขาดเอกสารยืนยันตัวบุคคล หรือไม่อาจตรวจสอบย้อนภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านยิ่งซ้ำเติมคนไร้บ้านให้อยู่อย่างหวาดกลัวต่อการดำเนินคดีว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือกลายเป็นอาชญากรในสายตาเจ้าพนักงานของรัฐ ก่อเป็นความหวาดระแวงต่อหน่วยงานรัฐจนผลักไสให้เข้าใกล้องค์กรอาชญากรรมและกิจกรรมผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ จนหมิ่นเหม่ต่อการเปลี่ยนสถานะเป็นอาชญากร ทั้งที่กลุ่มคนไร้บ้านเป็นเหยื่อขององค์กรอาชญากรรมในหลายรูปแบบ อาทิ การถูกบังคับเป็นขอทาน ลวงไปใช้แรงงานทาส หรือการค้ามนุษย์

การมองข้ามความหลากหลายของกลุ่มคนไร้บ้านโดยหน่วยงานรัฐย่อมนำไปสู่การลิดรอนสิทธิของคนไร้บ้านในลักษณะการกลายเป็นส่วนเกินของชุมชน เมื่อมีปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนรอบข้างก็มักถูกตราบาปกดซ้ำย้ำว่าเป็นฝ่ายผิดโดยมิได้มีมาตรการระงับข้อพิพาทที่เป็นธรรมกับคนไร้บ้านกลุ่มเสี่ยงซึ่งด้อยอำนาจต่อรอง เมื่อต้องเผชิญกับความรุนแรงหรือการกล่าวหาที่มิชอบด้วยกฎหมายกระบวนการยุติธรรมก็มิได้เข้าปกป้องเยียวยาตามมาตรฐานที่พึงจะเป็น เรื่อยไปถึงการด้อยโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขทั้งในเชิงป้องกันก่อนและเยียวยา กว่ารัฐจะเข้ามาแก้ไขสภาพปัญหาก็ร้ายแรงจนรัฐเกรงว่าอาจแพร่ระบาดโรคอันตรายสู่สังคม

แม้จะมีพระราชบัญญัติการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเป็นหลักประกันทางกฎหมายที่รองรับปัญหาอยู่ แต่แนวทางการบังคับตามสิทธิในกฎหมายยังอยู่ในลักษณะสังคมสงเคราะห์ หรือการผลักดันคนออกจากพื้นที่สาธารณะแล้วรวบรวมไปอยู่ในสถานที่ซึ่งไม่ตรงตามความปรารถนาของปัจเจกชนหรือกลุ่มคนไร้บ้าน

การบังคับให้ทำกิจกรรมที่ไม่ตรงจริตความถนัด ไปจนถึงการขาดแคลนระบบจัดการที่ละเอียดอ่อนเพียงพอต่อการบริหารปัญหารายกรณีให้เหมาะสมสอดคล้องกับความจำเป็นของแต่ละบุคคล อันจะมีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูศักยภาพบุคคลจนสามารถพัฒนาตนเองให้ยืนหยัดได้อย่างมีศักดิ์ศรีเต็มภาคภูมิ 

พระราชบัญญัติควบคุมการขอทานที่มีเป้าหมายป้องกันการค้ามนุษย์และแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มเสี่ยงโดยองค์กรอาชญากรรม ก็ถูกนำไปใช้อย่างคลาดเคลื่อนไม่ตรงตามเจตนารมณ์ เนื่องจากผู้บังคับใช้กฎหมายมิได้เข้าช่วยเหลือคนไร้บ้านหรือผู้ที่ถูกบังคับให้ขอทาน แต่กลับจับกุมดำเนินคดีในฐานะขอทาน ทั้งที่รัฐต้องพยายามสืบสาวไปถึงต้นตอองค์กรอาชญากรรมแล้วนำผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากคนไร้บ้านมาดำเนินคดี แล้วขยายผลไปสู่การต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ

สำหรับข้อเสนอทางการเมืองเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านมีดังนี้

1.จัดทำนโยบายเชิงรุกหรือส่งเสริมระเบียบต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์กับคนไร้บ้าน อาทิ ให้สิทธิแก่คนไร้บ้านในการเข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงได้แม้ไม่มีบัตรประชาชน จัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลแก่ผู้ที่ไร้สถานะทางทะเบียน ซึ่งจะสามารถครอบคลุมคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนได้อย่างทั่วถึง

2.ประชาสัมพันธ์และดึงภาคีความร่วมมือเข้าร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับคนไร้ที่พึ่ง เช่น การสร้างโอกาสและช่องทางในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ การพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพของเครือข่ายคนไร้ที่พึ่ง ทั้งจากภาคประชาสังคมและองค์กรธุรกิจ

3.รัฐสามารถเก็บภาษีลาภลอยเพื่อเอามาเพิ่มงบประมาณให้แก่คนไร้บ้าน

4.หนุนเสริมภารกิจต่อต้านการค้ามนุษย์ของหน่วยงานอื่นผ่านการเสนอปรับปรุงบทบัญญัติป้องปรามและปราบปรามองค์กรแสวงหาประโยชน์จากคนไร้บ้าน ตามแนวทางของพันธกรณีและนโยบายสากล