posttoday

ทหารกำลังต่อสู้กับใคร?

14 มกราคม 2561

ทวี สุรฤทธิกุล

โดย....ทวี สุรฤทธิกุล

2475 สู้กับเจ้าและคนในระบอบเก่า

2490 สู้กับคณะราษฎรและทหาร

2516 สู้กับนักศึกษาและปัญญาชน

2535 สู้กับชนชั้นกลางและทหาร

2549 และ 2557 สู้กับนักการเมือง

2561 กำลังต่อสู้กับโซเชียลมีเดีย?

ข้อสรุปข้างต้นเป็นข้อสังเกตของผู้เขียนที่มองย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าสังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองอะไรที่เด่นๆ โดยเฉพาะบทบาทของทหารที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองตลอดเวลาเกือบ 86 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งนี้นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “การแทรกแซงทางการเมือง” (Political Intervention) อันหมายถึง “การเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมืองของผู้ที่ไม่ควรมีหน้าที่นั้น”

ผู้นำทหารของไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันมีมุมมองแบบ “เอามือปิดฟ้า” ว่า “ทหารมีหน้าที่ในการดูแลบ้านเมืองอย่างแน่นอน ดังนั้นการเข้ามาดำเนินการใดๆ ทางการเมืองโดยทหารจึงไม่ผิด”

แต่ถ้าทหารเหล่านั้นจะเอามือที่บังฟ้าและปิดโลกทั้งใบนี้ออกไปเสียบ้าง (คำเปรียบเทียบนี้มีความหมายว่า “คิดให้กว้าง คิดให้ไกล มองให้รอบๆ”) โดยเฉพาะการมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ ที่อาจจะสรุปแบบ “กำปั้นทุบดิน” ได้ว่า “ทหารยังทำอะไรให้กับการเมืองไทยได้สำเร็จสักเรื่องเดียวเลย”

เมื่อครั้งที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะราษฎรได้กล่าวหาระบอบเจ้าอย่างรุนแรง และบอกว่าคณะราษฎรที่มีทหารเป็นแกนนำนี้จะนำ “โลกพระศรีอาริย์” มาสู่สังคมไทย แต่ตลอด 15 ปีจนถึงปี 2490 คณะราษฎรก็มัวแต่คิดระวังฐานอำนาจของตนและขัดแย้งกันเองในหมู่คณะราษฎร จนถึงการรัฐประหาร 2490 ฝ่ายทหารในคณะราษฎรจึงยึดอำนาจไว้ในฝ่ายทหารไว้ทั้งหมด แล้วขจัดคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนที่เคยร่วมเป็นร่วมตายออกไปเสียจาก “ชามอำนาจ”

คณะทหารที่ทำรัฐประหาร 2490 ได้ “ขายฝัน” อย่างหนึ่งคือ “การสร้างประชาธิปไตย” แต่ทหารก็เกิดขัดแย้งกันเอง เพราะการต่อสู้กันเพื่อที่จะมีอำนาจภายหลังการเลือกตั้งในปี 2500 นั่นเอง ซึ่งภายหลังนายทหารที่ทำการรัฐประหารขับไล่ทหารกลุ่มที่เคยหล่อเลี้ยงตนเองมานั้นก็ได้กลายเป็นวีรบุรุษ ถึงขั้นที่ใช้การปกครองแบบ “พ่อปกครองลูก” มาปกครองคนไทย ทั้งยังเชื่อว่าคนไทยรักทหารและอยากให้ทหารอยู่ในอำนาจไปนานๆ เพราะสามารถนำความเจริญ “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี” มาสู่สังคมไทย แต่เมื่อจอมพลท่านนี้สิ้นชีวิต ทหารที่สืบทอดก็พยายามจะใช้ “เสื้อคลุมประชาธิปไตย” ทำให้ทหารดูดี โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2512 แต่ก็คุมนักการเมืองจากการเลือกตั้งไม่ได้ จึงทำรัฐประหารตนเองเพื่อยึดครองอำนาจไว้ในอีกสองปีต่อมา จนกระทั่งนักศึกษาและปัญญาชนต้องออกมาประท้วงขับไล่ไปในวันที่ 14 ต.ค. 2516

ผู้เขียนจะไม่พูดถึงกรณีที่ทหารสู้กับทหารและชนชั้นกลางในปี 2535 หรือที่สู้กับนักการเมืองบางกลุ่มในปี 2549 และ 2557 เพราะท่านผู้อ่านน่าจะเกิดทัน โดยเฉพาะท่านที่สนใจปัญหาบ้านเมืองก็อาจจะพอทราบว่าทหารได้ทำอะไร (หรือไม่ได้ทำอะไร คือทำอะไรไม่สำเร็จ) บ้าง แต่อยากให้ท่านทั้งหลายมามองดูทหารใน พ.ศ.นี้ ที่ผู้เขียนมองว่าอาจจะ “ซ้ำรอยประวัติศาสตร์” อย่างในช่วงก่อน 14 ตุลา 2516 นั้นก็ได้

ประการแรก ดูเหมือนว่าทหารคณะที่กำลังปกครองประเทศไทยอยู่นี้เชื่อว่าคนไทยกำลังร้องเพลง “ชีวิตฉันขาดเธอ (ทหาร) ไม่ได้” เพราะไม่มีใครดีกว่าทหาร แม้แต่นักการเมืองที่จะเลือกตั้งเข้ามาก็ต้องมาสนับสนุนทหาร ส่วนนักการเมืองที่ไม่เอาทหารนั้นก็คือนักการเมืองในแบบเก่าๆ ที่โกงกินและประชาชนรังเกียจ

ประการต่อมา ก่อนเกิด 14 ตุลา 2516 ทหารก็ “เริงใจ” ว่าไม่มีใครกล้าท้าทายอำนาจทหาร มีการแต่งตั้งลูกชายให้เลื่อนยศอย่างรวดเร็ว มีการสร้างอาณาจักรทางธุรกิจให้ลูกหลานและเครือญาติ (เปรียบเทียบว่าถ้าทหารบางนายจะทำอะไรโก้หรูโดยไม่แจ้ง ป.ป.ช.ก็ไม่มีอะไรน่าเกลียด) แต่ก็ท้าทายความรู้สึกของผู้คน

ประการสุดท้าย ทหารในยุคนั้นคิดว่าถ้าควบคุม “แกนนำ” บางคนของกลุ่มที่ต่อต้านไว้ได้ ทหารก็จะไม่มีใครทำอะไรได้ เหมือนกับที่แกนนำของทั้งคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง และในพรรคการเมือง กำลังอยู่ในกระบวนการทางศาลและคดีความต่างๆ แต่ทหารจะรู้ไหมว่าใน “หัวใจ” ของผู้คนนั้นกำลังมีอะไร “คุกรุ่น” อยู่

ผู้เขียนเชื่อในทฤษฎีที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ขณะนี้เราอาจจะมองไม่เห็นวีรบุรุษคนนั้นอย่างชัดเจน รวมถึงก็ยังไม่รู้ด้วยว่าจะเป็นใคร แต่เมื่อสถานการณ์นั้นสุกงอม เพียงแค่ “ลิงตัวหนึ่ง” ที่กล้าโผล่ออกมายืนข้างหน้าก็อาจจะกลายเป็นวีรบุรุษได้ โดยไม่จำเป็นต้อง “เทวดา” หรือ “ผู้วิเศษ” จากที่ใดๆ

ขอให้ท่านผู้อ่านลองนึกภาพให้เป็นช็อตๆ ตามลำดับดังนี้ วันนี้ท่านผู้นำทหารให้คนไทยทั้งหลายทำตัวดีๆ รวมทั้งสื่อมวลชนก็อย่าสร้างความแตกแยก แต่ท่านได้ให้ “เพื่อนพ้องน้องพี่” ของท่านทำอะไรได้ตามใจ แปลง่ายๆ ว่า ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน แต่เปิดกว้างให้อภิสิทธิ์แก่ผู้มีอำนาจ จากนั้นผู้คนก็ไปซุบซิบนินทาในสื่อออนไลน์คือโซเชียลมีเดียทั้งหลายจนเสียงระงมว่า “ไม่ดีๆๆๆ” ดังไปทั้งเมือง ต่อมาวันหนึ่งท่านผู้มีอำนาจก็ให้ควบคุมสื่อทุกจำพวก รวมถึงสื่อออนไลน์นี้เสีย แล้วบังเอิญมี “คนกล้า” คนหนึ่งออกมาฝ่าฝืนให้ถูกจับ เกิดกระแสความเห็นใจแล้วต่อต้านทหารไปทุกที่ อย่างนี้ก็อาจจะเกิด 14 ตุลา 2561 (สมมติ) ได้ในที่สุด

เริ่มปีใหม่นี้ก็มีคนส่ง ส.ค.ส.ในทำนองนี้ถึงท่านผู้นำบ้างแล้ว