posttoday

สะพานหรืออุโมงค์? เชื่อมสตูล-เปอร์ลิส กระตุ้นท่องเที่ยวไทย-มาเลเซีย

03 ธันวาคม 2560

เฟซบุ๊ก..ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ (อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์)

เฟซบุ๊ก..ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ (อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์)

ความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ด้วยเหตุนี้ การเดินทางและการขนส่งได้หลากหลายช่องทางรวมทั้งทางบกจึงควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล

ย้อนอดีตไปในปี พ.ศ. 2538 สมัยรัฐบาลภายใต้การนำของนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กรมทางหลวงได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างจังหวัดสตูลของประเทศไทยกับรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซีย เพื่อเพิ่มทางเลือกในการสัญจรระหว่างสตูลกับเปอร์ลิส ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังคงมีเพียงเส้นทางเดียวคือเส้นทางผ่านทางหลวงหมายเลข 4184 ผ่านด่านวังประจันของไทย และบ้านวังเกลียนของมาเลเซีย เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ลัดเลาะไปตามไหล่เขา และมีความลาดชันสูง ไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการสัญจร

ผลการศึกษาพบว่า จะต้องก่อสร้างเส้นทางในฝั่งไทยระยะทางประมาณ 35 กิโลเมตร และในฝั่งมาเลเซียประมาณ 3 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้างประมาณ 3,900 ล้านบาท (ราคาในปี พ.ศ.2539) สำหรับเส้นทางในฝั่งไทยนั้นจะต้องก่อสร้างสะพานผ่านทะเลอันดามันด้วย ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2543 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติไม่เห็นชอบต่อเส้นทางดังกล่าว เนื่องจากมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง

ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ.2552 รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างจังหวัดสตูลกับรัฐเปอร์ลิส ซึ่งผลการศึกษาเพิ่งแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2559 โดยกรมทางหลวงได้เลือกเส้นทางใหม่ เป็นเส้นทางที่เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 406 บริเวณบ้านลูโป๊ะฆอเลาะ ตำบลเกตรี อำเภอเมืองสตูล วิ่งผ่านชุมชนบ้านท่าจีน บ้านท่าคลอง บ้านหน้าเขาขาว และบ้านวังรายา จนถึงเทือกเขาสันกาลาคีรีหรือมาเลเซียเรียกว่านาคาวัน (Nakawan) ซึ่งเป็นเทือกเขาที่กั้นเขตแดนระหว่างประทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ทำให้จะต้องขุดเจาะอุโมงค์ทะลุไปสู่มาเลเซีย เพื่อเชื่อมกับถนนหมายเลข R119 ของรัฐเปอร์ลิส เส้นทางนี้มีระยะทางรวมประมาณ 22 กิโลเมตร ประกอบด้วยอุโมงค์ยาวประมาณ 6.5 กิโลเมตร แบ่งเป็นอุโมงค์ในฝั่งไทย 2.9 กิโลเมตร และฝั่งมาเลเซีย 3.6 กิโลเมตร วงเงินค่าก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 12,660 ล้านบาท (ราคาในปี พ.ศ.2558)

ผมดีใจที่ทราบว่าเวลานี้มีความเคลื่อนไหวของภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดสตูลที่จะผลักดันให้มีการก่อสร้างสะพานแทนอุโมงค์ โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำการศึกษาความเป็นได้ในการก่อสร้างสะพานบนเส้นทางที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ทั้งนี้การก่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างสตูลกับเปอร์ลิส จะช่วยประหยัดเวลา และทำให้เกิดความสะดวก สบาย และปลอดภัยในการสัญจรได้ดีกว่า อีกทั้ง ผู้ใช้รถใช้ถนนจะมีโอกาสได้ชมความสวยงามของทะเลอันดามันอีกด้วย ปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะเป็นแรงจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก สำหรับรูปแบบสะพานนั้น ผมขอเสนอให้ใช้รูปแบบการก่อสร้างเป็นสะพานขึง (Cable Stayed Bridge) ตามที่ผมได้เคยเสนอให้สร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุยมาแล้ว

ทั้งหมดนี้ หวังว่ารัฐบาลจะเร่งผลักดันให้โครงการก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างจังหวัดสตูลของประเทศไทยกับรัฐเปอร์ลิสของประเทศมาเลเซียเป็นรูปธรรมในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก สบาย รวดเร็ว และปลอดภัยในการสัญจรของทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศได้เป็นอย่างดี