posttoday

กีฬาสร้างคน...คนสร้างชาติ

13 พฤศจิกายน 2560

ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์

โดย...ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า www.econ.nida.ac.th; piriya.pholphirul.blogspot.com

ได้มีโอกาสอ่านงานเขียนชิ้นหนึ่งของคุณ Dave Fulk ที่เขียนเกี่ยวกับการที่เพื่อนของเขาถามว่าเพราะเหตุใดเขาถึงจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ลูกได้เล่นกีฬา ในฐานะของพ่อที่มีลูกเล่นกีฬาเช่นกัน (และยังเป็นพ่อที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์) คุณ Dave Fulk เขียนได้ตรงใจผมมากๆ ครับ โดยได้ให้เหตุผลดังนี้

“เอาจริงๆ ผมไม่ได้จ่ายเงินให้ลูกได้เล่นกีฬา จริงๆ ผมก็ไม่ได้แคร์เกี่ยวกับกีฬาที่เขาเล่นด้วยซ้ำไป แต่ที่ผมจ่ายก็คือ

“ผมจ่ายให้กับเหตุการณ์เมื่อลูกของผมเกิดการท้อแท้และอยากที่จะเลิกเล่น แต่สุดท้ายเขาก็ไม่เลิก”

“ผมจ่ายให้กับทุกๆ วันที่ลูกของผมกลับจากโรงเรียนและรู้สึกเหน็ดเหนื่อยที่จะต้องไปฝึกฝนกีฬา แต่สุุดท้ายแล้วเขาก็ไป”

“ผมจ่ายให้กับการที่ลูกของผมจะเรียนรู้ในการสร้างวินัย สร้างความทุ่มเท และเสียสละ”

“ผมจ่ายให้กับการที่ลูกของผมจะเรียนรู้ในการดูแลสุขภาพร่างกาย รวมไปถึงการดูแลรักษาอุปกรณ์การกีฬาของเขา”

“ผมจ่ายให้กับการที่ลูกผมได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นและเรียนรู้ในการทำงานเป็นทีมเพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จของทีม”

“ผมจ่ายให้กับการได้เรียนรู้ที่จะจัดการกับความผิดหวังเมื่อเขาไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ แต่สุดท้ายเขาก็จะกลับมาอีกครั้งกับพัฒนาการที่ดีขึ้น”

“ผมจ่ายให้ลูกผมได้เรียนรู้ในการกำหนดเป้าหมายและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้”

“ผมจ่ายให้ลูกผมได้เคารพ ไม่เฉพาะกับตัวเอง แต่กับนักกีฬาคนอื่น รวมไปถึงผู้จัดการแข่งขัน เจ้าหน้าที่และโค้ช”

“ผมจ่ายให้ลูกผมได้เรียนรู้ในการใช้เวลาแต่ละชั่วโมง แต่ละปี ในการได้มาซึ่งการเป็นแชมป์ ซึ่งเขาจะรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้มาได้เพียงชั่วข้ามคืน”

“ผมจ่ายให้ลูกผมให้มีความภาคภูมิใจกับความสำเร็จเล็กๆ และพยายามยิ่งขึ้นไปสู่เป้าหมายในระยะยาว”

“ผมจ่ายเพื่อสร้างโอกาสให้กับลูกผมได้มีการสร้างมิตรภาพในระยะยาวซึ่งจะเป็นความทรงจำที่มีคุณค่าแก่เขาในอนาคต และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเขาเอง...อย่างที่ผมกำลังภูมิใจในตัวเขาอยู่”

“ผมจ่ายให้ลูกผมต้องใช้ชีวิตในสนามหรือในโรงยิมมากกว่าที่จะใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต”

“จริงๆ มีมากกว่านี้อีก แต่ถ้าเอาสั้นๆ ผมจ่ายให้กับโอกาสที่การเล่นกีฬาจะสร้างพัฒนาการตลอดทั้งช่วงชีวิตให้กับลูกของผม และสร้างโอกาสให้กับคนอื่นๆ ใครจะไปรู้ ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นการลงทุนที่ดีเอามากๆ”

ประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้ “กีฬามาพัฒนาคน และให้คนมาพัฒนาชาติ” เพราะเงินที่ลงทุนกับการกีฬาจะนำมาสู่ทั้งผลได้ส่วนบุคคล (Private Return) และผลได้ทางสังคม (Social Return) ที่สูงมาก เด็กที่เล่นกีฬานอกจากจะมีระดับทักษะเชิงพฤติกรรม (Non-Cognitive Skill) ที่สูงกว่าเด็กที่ไม่เล่นกีฬา และทักษะเชิงพฤติกรรมนี้ล้วนมีความจำเป็นมากกว่าทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill) กับการเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในโลกอนาคต

โดยทักษะด้านพฤติกรรม (Non-Cognitive Skill) ในที่นี้หมายถึง ทักษะอื่นๆ นอกเหนือจากทักษะทางปัญญา อันบ่งบอกถึงพฤติกรรมและทักษะการดำเนินชีวิต (Life Skill) ของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางอารมณ์ ทักษะในการเข้าสังคม ทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะในการเข้าใจผู้อื่น ความมุ่งมั่น และการมองโลกในแง่บวก เป็นต้น

โดยทั่วไปแล้ว ทักษะดังกล่าวค่อนข้างยากในการวัดออกมาเป็นค่าที่แน่นอน โดยทักษะทางพฤติกรรมเหล่านี้มีความสำคัญต่ออาชีพการงานของแต่ละคนที่แตกต่างกัน และเป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบอาชีพ ในหลายๆ  อาชีพ ทักษะทางด้านพฤติกรรมกลับมีความสำคัญมากกว่าทักษะทางปัญญา

ในขณะที่ประเทศไทยเรากลับทำตรงข้าม เราไปมุ่งที่ระบบการศึกษาในรั้วโรงเรียนแบบผิดทาง เราไปคิดว่าการเรียนมากๆ เป็นสิ่งที่ดีในการสร้างคน ในขณะที่การทำกิจกรรมอื่นๆ นอกโรงเรียน (เช่น เล่นกีฬา ดนตรี ศิลปะ) เป็นสิ่งที่เสียเวลา (ในขณะที่พ่อแม่จำนวนมากไปยัดเยียดการเรียนให้ลูกเพิ่มขึ้นอีกจากการ “กวดวิชา”)

โดยที่การศึกษาแบบแข่งขันกันเอาเกรดแบบเอาเป็นเอาตาย มีการบ้านมหาศาล และมีการสอบแทบทุกอาทิตย์ กลับเป็นการทำลายโอกาสการพัฒนาในการเล่นกีฬาเหล่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีนักกีฬาเยาวชนในเกือบทุกกีฬา “ลดลง” เป็นอย่างมาก เด็กคนหนึ่งต่อให้เล่นกีฬาเก่งก็แทบไม่มีคู่แข่งให้ตัวเองได้พัฒนา

สุดท้ายเมื่อถึงจุดหนึ่ง (ตามทฤษฎีประมาณ 12-15 ปี) เด็กไทยจะต้องเลือก ถ้าจะเป็นนักกีฬาก็ต้องทิ้งการเรียน หรือถ้าอยากเรียนสูงๆ (สไตล์ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด) ก็ต้องทิ้งกีฬา สุดท้าย ด้วยระบบการศึกษาแบบไทยๆ ที่ต้องเลือกจุดนี้จึงทำให้ “ประเทศไทยถึงไม่มีทั้งเด็กที่เรียนเก่งและไม่มีทั้งเด็กที่เล่นกีฬาเก่งที่จะสามารถแข่งขันในระดับโลก (ทั้งด้านการเรียนและด้านกีฬา) ได้

แต่จริงๆ แล้ว จากงานวิจัยของ James Heckman (Heckman และคณะ 2006) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลพบว่า เด็กที่มีระดับทักษะทางพฤติกรรมสูง (ซึ่งได้จากการเล่นกีฬา) จะมีระดับของทักษะทางปัญญา (Cognitive Skill) ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลจากการศึกษาพบว่า นอกจากทักษะทางพฤติกรรมจะส่งผลความสำเร็จในการทำงาน อันส่งผลทำให้บุคลากรดังกล่าวได้รับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น

ทักษะพฤติกรรมเองก็ยังเป็นตัวกำหนดทักษะทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียน ความขยันหมั่นเพียร รวมไปถึงการเลือกอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของ Brunello and Schlotter (2011) ที่พบว่า ทักษะทางพฤติกรรมที่ดีจะส่งผลต่อความสำเร็จทางด้านการเรียน อันนำมาสู่ทักษะทางปัญญาที่สูงขึ้น และในท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานตามมา

หนึ่งในนโยบายของบริษัทดังๆ ในต่างประเทศก็คือ เขาจะเลือกรับนักกีฬาเข้ามาทำงาน เพราะคนเหล่านั้นมีแนวโน้มของการทำงานเก่ง ขยัน แข็งแรง อดทน แบ่งเวลาได้ และเข้ากับคนได้ดีกว่าเด็กเรียนเก่ง

สรุปง่ายๆ คือ ถ้าอยากให้ลูกเรียนเก่งหรือเป็นผู้ใหญ่ที่เก่ง พ่อแม่ควรให้ลูกได้เล่นกีฬามากๆ ครับ หรือถ้ายิ่งถึงขั้นเป็นนักีฬาแข่งขันได้ยิ่งดี ให้ลูกได้ “แข่งกีฬาแล้วแพ้มากๆ” เขาจะได้ฝึกในการเป็น “ผู้แพ้” เพื่อจะได้เรียนรู้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่เป็น “ผู้ชนะ” ได้อย่างสมบูรณ์แบบในอนาคต