posttoday

"ตูน" คนต้นแบบของประเทศ

05 พฤศจิกายน 2560

ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

หัวใจของ ตูน บอดี้สแลม นี่ใหญ่มากๆ ควรยกย่องให้เป็น “คนต้นแบบของชาติ”

การวิ่งระยะไกล 2,191 กิโลเมตร จากเบตง จ.ยะลา จบที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เสี่ยงถึงความตายได้ ถึงแม้จะมีคุณหมอประจำตัวทีมแพทย์มาช่วยดูแล เช็กสภาพกล้ามเนื้อ ร่างกาย ตามประกบทุกฝีก้าวก็ตาม

สังคมไทยมักเก่งวิจารณ์ หาคนลงมือปฏิบัติจริงๆ ยาก เมื่อ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย ตัดสินใจวิ่งระดมเงินบริจาค แน่นอนว่า มีเสียงค่อนแคะต่างๆ ว่า โง่บ้าง ทำไมต้องเอาตัวไปแลกกับปัญหาของชาติที่มีรัฐบาลคอยแก้ปัญหาดูแลงบประมาณอยู่แล้ว บ้างว่า ตูนเป็นพวกรัฐบาลบ้าง เพราะเห็นรัฐบาล คสช.จัดเจ้าหน้าที่ทหารอำนวยความสะดวกการวิ่งให้และยังออกมาชื่นชม สดุดีว่าเป็นการทำความดีให้กับสังคม บ้างว่า การระดมเงินบริจาคเป็นการตีแสกหน้ารัฐบาล คสช. ที่ไม่ดูแลแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน แต่กลับเอาเงินไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพ

ตรรกกะทั้งหลายทั้งปวงที่สุดก็หักล้างกันเองพิสูจน์ให้เห็นว่าตูนไม่ได้เป็นคนของฝ่ายไหน แต่เป็นคนของประชาชน เลือกทำเพื่อสังคม ช่วยเหลือผู้ป่วยที่นอนติดเตียงให้โรงพยาบาล 11 แห่งทั่วประเทศที่ขาดแคลน จะได้มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพดูแลผู้ป่วยให้ดีกว่านี้ แต่สังคมขี้ปาก เก่งหน้าจอ มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ คอยสาดโคลนให้ร้าย ทำสิ่งดีให้แปดเปื้อน ผลักให้เป็นขั้วการเมือง บั่นทอนให้ผู้ที่อยากทำความดี ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในสังคมด้วยกันหมดกำลังใจ

การวิ่งระดมทุนของตูนยังเพิ่งเริ่มต้นได้ 4 วัน ยังอยู่ที่ปลายด้ามขวาน จ.ยะลา มุ่งหน้าสู่ จ.ปัตตานี และได้รับการต้อนรับจากพี่น้องชาวใต้อย่างอบอุ่น ประชาชนตลอดสองข้างทาง บ้านเรือน รวมถึงบริษัท เอกชน ร่วมกันบริจาคเหนือความคาดหมาย ณ เวลานี้ (รวม 3 วัน) วิ่งไปแล้ว 138 กิโลเมตร ได้เงิน 67 ล้านบาท เฉลี่ยทุกๆ การวิ่ง 2 กิโลเมตร ระดมได้เกือบ 1 ล้านบาท ถ้าคำนวณเล่นๆ เป้าหมายที่ตูนวางไว้วิ่ง 2,191 กิโลเมตร จากเหนือสุดถึงใต้หล้า ต้องการเงินบริจาค 700 ล้านบาท ก็คงทะลุเป้าถึงหลักพันล้าน สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยต้องการให้กำลังใจคนทำความดีเพื่อสังคม ยอมอุทิศร่างกายเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

เงินบริจาคคือเนื้อแท้ที่จับต้องได้จากพลังศรัทธา พลังความดี แต่เงินได้มาก็จากไปรวดเร็ว ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ทว่าสิ่งที่ได้นอกเหนือจากการวิ่งของตูน คือ ปลุกจิตสำนึก กระตุ้นคนในสังคมให้มาขบคิดถึงปัญหาโรงพยาบาลขาดงบประมาณที่มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าภาครัฐละเลยไม่ให้ความสำคัญ แทนที่จะเอางบประมาณให้กับโรงพยาบาลผ่านโครงการบัตรทองที่กำลังเผชิญปัญหาใหญ่ในช่วงหลายปีจากเงินไม่พอ แต่กลับถูกวิจารณ์ว่านำงบประมาณจำนวนมากไปใช้ในมิติความมั่นคง เช่น ซื้ออาวุธ เรือดำน้ำ

ถึงเวลาหรือยังที่ต้องร่วมกันหาทางออกถึงวิธีแก้ปัญหาการขาดทุนของโรงพยาบาลรัฐอย่างยั่งยืนว่า สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร การบริหารงบประมาณของโครงการบัตรทองไม่มีประสิทธิภาพ หรืองบประมาณแต่ละปีไม่พอจริงๆ เพราะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชาชนควร “จ่ายร่วม” เป็นทางออกหรือไม่ และแม้ว่ารัฐบาลเพิ่งล้วงงบกลาง 5,000 ล้านบาท ไปช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐที่ขาดทุนเหล่านี้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากตูนระดมทุนวิ่งช่วยโรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อครั้งก่อนแต่ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง   

ผลพวงของตูนยังกระตุ้นให้สังคมตระหนักหวงแหนงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้บริหาร ต้องใช้จ่ายโปร่งใส ไม่คอร์รัปชั่น เงินหลายร้อยกว่าจะระดมมาช่วยโรงพยาบาลได้ ไม่ใช่น้ำพักน้ำแรงของตูน แต่คนไทยก็มีส่วนช่วยลงขันคนละเล็กละน้อยเพื่อให้มาแก้ปัญหา ทั้งที่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณหลักมาให้โรงพยาบาลเหล่านี้

ยิ่งกว่านั้น รูปแบบการระดมเงินบริจาคด้วยการวิ่งช่วยให้คนไทยที่ปัจจุบันตื่นตัวออกกำลังกายกันมากขึ้น หันมาใส่ใจในการวิ่งเพื่อสุขภาพยิ่งขึ้นไปอีก ลดการเจ็บไข้ได้ป่วย และภาระงบประมาณที่สูญเสียจำนวนมากในแต่ละปีลง

“ตูน” ยอมเหนื่อยเพื่อช่วยเหลือสังคม ในเป้าหมายที่เขาอยากตั้งใจทำ แต่เขาคงไม่เหนื่อยถ้าเห็นผลลัพธ์ที่ได้ช่วยต่อยอดเป็นพลังความเข้มแข็งของสังคมที่มีต่อมิติด้านการพัฒนาต่างๆ บนเป้าหมายปัญหาของชาติและเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในโลกใบนี้