posttoday

เศรษฐกิจไปโลด... แต่ทำไมชาวบ้านกระเป๋าแห้ง

23 ตุลาคม 2560

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย...ดร.ธนิต  โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ท่ามกลางการปรับตัวเลขเศรษฐกิจของหลายหน่วยงาน ทั้งต่างชาติและไทยเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจปี 2560 ขยายตัวได้สูงกว่าประมาณการ ล่าสุด IMF หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปรับตัวเลขจีดีพีไทยขยายตัวร้อยละ 3.7 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าจะโตได้ถึงร้อยละ 3.8 ขณะที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4.0

ด้านภาคเอกชนดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 2 สูงสุดในรอบ 6 เดือนสะท้อนจากคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงตัวเลขการใช้ปูนซีเมนต์กลับมาบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ถึงแม้ว่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1 แต่เป็นสัญญาณการฟื้นตัวด้านลงทุน สำหรับด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ผลิตขายในประเทศ ซึ่งซบเซามาเกือบปี ยอดขายปีนี้น่าจะสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2.4 แสดงว่ากำลังซื้อในประเทศเริ่มกลับมา และไฟแนนซ์ซึ่งเดิมเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเริ่มมีการผ่อนคลาย

ทิศทางเศรษฐกิจ ปี 2560 มีการพลิกฟื้นมาตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นผลจากตัวเลขการส่งออกทั้งปีกลับมาขยายตัวร้อยละ 8-9 สูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งจะเป็นหัวจักรผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีหน้า อีกทั้งความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่ง คสช.อยู่มาเข้าปีที่ 4 รัฐบาลมีลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีการเร่งการใช้จ่ายและกระตุ้นการบริโภค เช่น บัตรคนจน 10 ล้านใบ ซึ่งแจกไปแล้วทำให้เริ่มมีการใช้จ่าย เห็นได้จากดัชนีราคาผู้บริโภคขยับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่ประชาชนกลุ่มนี้นำเงินที่ได้ไปใช้ในหมวดอาหารและสินค้าอุปโภค-บริโภค แต่คงเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าเศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว

ผมมีโอกาสเดินทางไปต่างจังหวัด เพื่อนๆ ฝากมาว่าเศรษฐกิจจริงแย่มากๆ แม้แต่จังหวัดใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ การค้าขายฝืดเคือง แถมฝนตกน้ำท่วมกระทบท่องเที่ยว ผลผลิตเกษตรเสียหาย ธุรกิจร้านค้าบอกว่ายอดขายตก ขณะที่ภาคใต้ จ.สงขลา เงียบเห็นได้ชัด นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงเพราะเศรษฐกิจประเทศเขายังไม่ดีจากราคาน้ำมันและราคาปาล์มที่ลดลง เศรษฐกิจของภาคใต้อยู่ที่ราคายางพารา ซึ่งราคาน้ำยางสดลดเหลือ 44 บาท/กิโลกรัม แค่เดือนเดียวราคาหายไป 10 บาท นักธุรกิจท้องถิ่นถามผมว่าจีดีพีขยายตัวแต่ทำไมเศรษฐกิจของพวกเขาและชาวบ้านยังซึมและจนเหมือนเดิม

สอดคล้องกับรายงานของคณะกรรมการนโยบายการเงิน พบว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ลดลงเมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งก็จริง ไม่เถียง เพราะจีดีพีถูกอัดฉีดจากการลงทุนภาครัฐ ทำให้มูลค่าของเศรษฐกิจรวมสูงตามไปด้วย แต่หากส่องกล้องดูไส้ในพบว่าหนี้ของประชาชนไม่ได้ลดลง แต่กลับขยายตัวมากขึ้นเป็นมูลหนี้รวม 11.6 ล้านล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรกสูงขึ้น 1.2 แสนล้านบาท โดยจำนวนนี้เมื่อหารกับจีดีพีที่สูงขึ้น ทำให้ดูเหมือนว่าสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ลดลง ซึ่งสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 80.3 ในไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 78.4

จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ประชาชนร้อยละ 90 ยอมรับว่ามีหนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอีมีความเปราะบางจากปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งพบว่ามีการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงเงินในกระเป๋าของประชาชนได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นว่าถึงแม้ตัวเลขจีดีพีหรือเศรษฐกิจที่ดูว่าขยายตัวได้ดี แต่เงินยังไม่กระจายลงมาระดับฐานล่าง เห็นได้จากสถานะหนี้และเศรษฐกิจชาวบ้านยังมีความอ่อนแอ ไม่ได้ดีตามเศรษฐกิจของประเทศ ที่น่าเป็นห่วงคือการเยียวยาประชาชนและเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วม

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมดีขึ้นเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทำให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้ดีเกินคาดหมาย ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่ไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่น้อยกว่า 35 ล้านคน นำเงินมาใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 5 หมื่นล้านบาท กอปรกับการอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการเมกะโปรเจกต์หลายแสนล้านบาทเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

โจทย์ของรัฐบาลคือเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีมาจากส่วนบน การดูแต่ตัวเลขจีดีพีคงไม่พอ เพราะเงินไปกระจุกตัวที่กลุ่มทุนใหญ่เพียงไม่กี่ราย แต่จะต้องมีกลไกที่จะดันเงินให้ลงไปอยู่ในเศรษฐกิจฐานรากโดยเร่งด่วน ขณะเดียวกันบัตรคนมีรายได้น้อย ซึ่งมาขึ้นทะเบียนถึง 11.4 ล้านคน และตัวเลขหนี้ครัวเรือนซึ่งสูงขึ้น สะท้อนสถานะทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประชาชนระดับล่างว่ายังอ่อนแอ แม้แต่บัตรคนจนใช้งบปีละ 4.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งควรจะหมุนเวียนได้เป็นแสนล้านบาท แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเงินส่วนใหญ่ไหลไปอยู่กลุ่มเจ้าสัวผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่เพียงไม่กี่ตระกูล

ต้องยอมรับว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายของปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปีหน้ามีสัญญาณในทางที่ดีว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว และตัวเลขการส่งออกที่กลับมาเป็นบวกจะเป็นปัจจัยหนุนให้มีการลงทุนใหม่ตามมา เห็นได้จากนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งระบุว่ายังมีความเหนียวแน่นกับประเทศไทย อีกทั้งความเชื่อมั่นของภาคอุตสาห กรรมที่ออกมาดูดี บวกกับโรดแมปเลือกตั้งซึ่งค่อนข้างชัดเจน ล้วนส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยไปโลด เพียงแต่ว่าเศรษฐกิจที่ดีต้องทำให้ชาวบ้านท้องอิ่ม อย่าให้กระเป๋าแฟบ...จริงไหมครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)