posttoday

ใครสอบ เจ้าหน้าที่โกง

17 ตุลาคม 2560

ปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา

โดย...ปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา

เมื่อครั้งที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ. เปิดให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่ยังไม่มีมาตรา 77 ด้วยซ้ำไป แต่เชื่อไหมครับว่าเรื่องทุจริตนำโด่งมาอันดับหนึ่งเลย

ผู้แสดงความเห็นหลายท่านที่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เล่าไปร้องไห้ไปด้วยความอัดอั้นถึงความทุกข์ระทมของผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวว่า ทันทีที่มีการกล่าวหาทางปฏิบัติก็จะมีการประกาศชื่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้องลงเว็บไซต์ แล้วสื่อก็เอาไปลงเป็นข่าวครึกโครมทั้งที่ยังไม่มีการชี้มูลความผิดเลย

แค่นี้พวกเขาและครอบครัวเหมือนตกนรกทั้งเป็นแล้ว เพราะชาวบ้านร้านช่องก็ตราหน้าว่าเป็นคนโกง ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย ตัวอย่างเช่น การร้องเรียนว่าการประกวดราคาก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีการทุจริต โครงการก็ชะงักเลย ไม่มีใครกล้าทำอะไรต่อ

คนเดือดร้อนคือชาวบ้านในหมู่บ้าน เป็นต้น แต่พอผลออกมาไม่มีอะไร ถึงจะลงเว็บไซต์เผยแพร่ว่าไม่มีการทุจริต สื่อก็ลืมไปแล้ว ไม่ลงข่าวให้ พวกเขาเหมือนตายทั้งเป็นและทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ข้อนี้คงต้องปรับปรุงวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง ของบุคคลตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญครับ

มีคำถามหนึ่งที่พบในแทบจะทุกเวทีก็คือ เราให้มีองค์กรปราบทุจริตแล้ว ใครจะเป็นคนตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของ "ผู้ดำรงตำแหน่ง" ในองค์กรเหล่านี้จะไม่ทุจริตเสียเอง ต้องตั้งซูเปอร์องค์กรอะไรมาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งไหม แล้วใครจะมาตรวจสอบซูเปอร์องค์กรนั่นล่ะ ต้องตั้งซูเปอร์ของซูเปอร์องค์กรอีกไหม เรื่องนี้เดิมมีทางออกอยู่แล้วคือให้มีการตั้ง "ผู้ไต่สวนอิสระ" มาดำเนินการตรวจสอบ ได้ความว่าอย่างไรก็ว่ากันไป เคยใช้มาแล้วด้วย มีประสิทธิภาพดี อันนี้ กรธ. จึงกำหนดเป็นหลักประกันความเป็นอิสระขององค์กรปราบทุจริตไว้ในรัฐธรรมนูญเลย พี่น้องเขาก็เห็นด้วย

อย่างไรก็ดี พี่น้องประชาชนเขาก็ยังมีความข้องใจว่า แล้วถ้า "เจ้าหน้าที่" ขององค์กรปราบทุจริตถูกกล่าวหาว่าโกง ใครจะเป็นคนตรวจสอบ เพราะในหมู่คนดีก็ย่อมมีคนไม่ดีปะปนอยู่บ้างเหมือนกันทุกที่ แต่ถ้าให้องค์กรตรวจสอบเอง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ช่วยเหลือกัน อันนี้ก็น่าคิดนะครับ เกิดข้อครหานินทาแน่ๆ ทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาเช่นนี้

ในประเด็นนี้ กรธ.ก็เลยเสนอว่าถ้าเจ้าหน้าที่ขององค์กรปราบทุจริตถูกกล่าวหาว่าโกง ก็ให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนกันมาเป็นคนตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่กระบวนการตรวจสอบ ปรากฏผลอย่างไรก็แจ้งให้องค์กรปราบทุจริตดำเนินการต่อไปเอง ผิดถูกก็ว่ากันไปตามหลักเกณฑ์

ประเด็นสุดท้ายก็มีเท่านี้แหละครับ กรธ.ไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกับใครตามที่มีการลงข่าวหรอกครับ คิดจะทะเลาะยังไม่เคยเลย

เพียงแต่พี่น้องประชาชนเขาสะท้อนความคิดเห็นมา เราก็พยายามหาวิธีคลายความกังวลของพี่น้องเขาโดยวิธีการที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

ถ้าใครคิดวิธีอะไรที่มีเหตุผลหนักแน่นมากกว่านี้ได้ก็ลองช่วยกัน เสนอครับ สนช.เขากำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ การพัฒนาบ้านเมืองให้เกิดความเจริญพี่น้องประชาชนมีความผาสุก เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนทุกฝ่ายครับ