posttoday

บรรษัทวิสาหกิจคือการถ่ายโอนทรัพย์สินแผ่นดินแบบฉ้อราษฎร์บังหลวงใช่หรือไม่

18 กันยายน 2560

เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล

เฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล

"บรรษัทวิสาหกิจคือการถ่ายโอนทรัพย์สินแผ่นดิน แบบฉ้อราษฎร์บังหลวง !!โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือใช่หรือไม่?"

หลายสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเช่น สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัช สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟ สมาพันธ์คนงานรถไฟ และสหภาพแรงงานบริษัททีโอที เริ่มออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างพ.ร.บ การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ....ออกจากการพิจารณาของสนช.

ร่างก.ม ฉบับนี้ที่เรียกง่ายๆว่า ก.ม บรรษัทวิสาหกิจ ที่เตรียมเอา 11 รัฐวิสาหกิจซึ่งจัดตั้งเป็นบริษัทไว้แล้วมาอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ (ชื่อนี้แสดงว่าจะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไปใช่หรือไม่)โดยใน11บริษัทรัฐวิสาหกิจ บางบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว และกระทรวงการคลังมีหุ้น51% และบางบริษัท กระทรวงคลังยังถือหุ้น100% เต็ม

รัฐวิสาหกิจที่เหลือจะเป็นล๊อตต่อไปที่จะถูกแปรสภาพเป็นบริษัท และถูกนำไปเป็นบริษัทภายใต้บรรษัทวิสาหกิจเพื่อนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นขั้นตอนการกระจายการถือครองทรัพย์สินของรัฐไปให้เอกชนต่อไป

เมื่อรัฐวิสาหกิจทั้งหลายที่ถูกแปรสภาพมาเป็นบริษัท และถูกถ่ายโอนหุ้นมาอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ บรรษัทจะเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นแทนกระทรวงการคลังไปโดยปริยาย ดังนั้น บรรดากระทรวงทบวงกรม ที่รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเคยสังกัดอยู่ จะไม่มีอำนาจมากำกับรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นอีกต่อไป !! เป็นการย้ายการรวมศูนย์อำนาจมาอยู่ภายใต้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)เพียงจุดเดียว ที่มีอำนาจลดสัดส่วนหุ้นของรัฐวิสาหกิจจนหมดสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ และมีอำนาจพิจารณาว่าจะเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจใดมาเป็นรูปบริษัทเพื่อเตรียมขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกด้วย

เมื่อบริษัทรัฐวิสาหกิจมาอยู่ภายใต้บรรษัทวิสาหกิจ ที่เป็นเจ้าของแทนกระทรวงการคลังแล้ว ทิศทางของรัฐวิสาหกิจจะถูกเปลี่ยนให้ทำกำไรจากประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่ทำกิจการเพื่อบริการประชาชน ในรูปแบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่มีประสิทธิภาพและราคาที่เป็นธรรมเป็นหลักอีกต่อไป

กิจการของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสถูกนำไปเล่นแร่แปรธาตุเพื่อให้หุ้นขึ้นหุ้นลง ยิ่งหุ้นของบริษัทที่มีกำไรสูง ก็แสดงว่าประชาชนต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้นเพื่อให้มีกำไรมากขึ้น เป็นการตอบสนองต่อผู้ถือหุ้นไม่กี่รายในตลาดหลักทรัพย์เป็นหลักโดยไม่เห็นหัวประชาชน70ล้านคนเลย

ยิ่งกว่านั้นรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 11แห่ง จะไม่ส่งตรงเข้ากระทรวงการคลังอีกต่อไป แต่จะส่งเข้าบรรษัทฯ และบรรษัทฯมีอำนาจเก็บกักรายได้ กำไรของทั้ง11 บริษัทไว้ก่อน เพื่อสำรองการลงทุนของบรรษัทฯและการไปลงทุน หรือซื้อหุ้น ซื้อสัมปทานในต่างประเทศ เหลือเท่าไหร่ จึงจะส่งเงินส่วนที่เป็นเศษเหลือมาเป็นเงินปันผลให้กระทรวงการคลัง ใช่หรือไม่

แล้วจะมีเงินเหลือสักเท่าไหร่ ?

ขอตั้งคำถามว่า กระบวนการถ่ายโอนทรัพย์สินและรายได้จากรัฐวิสาหกิจของชาติแบบนี้ผ่านสนช. ซึ่งเป็นมืออีกข้างของคสช. จะเรียกได้หรือไม่ว่า เป็นกระบวนการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยอาศัยพิธีกรรมในการออกกฎหมายในสภาเสียงข้างเดียวที่ไม่มีการถ่วงดุล หรือสภาเสียงเอกฉันท์ภายใต้อำนาจการเมืองแบบเบ็ดเสร็จบวกกลุ่มทุนผูกขาด ซึ่งเลวร้ายกว่าการเมืองยุคเลือกตั้ง ใช่หรือไม่?

รสนา โตสิตระกูล

18 กันยายน 2560

ที่มา www.facebook.com/rosana.tsk