posttoday

ทุเรียนแพง

25 กรกฎาคม 2560

ดร.รุจิระ บุนนาค

โดย...ดร.รุจิระ บุนนาค กรรมการผู้จัดการ Marut Bunnag International  Law Office [email protected] Twitter : @RujiraBunnag

ทุเรียนถือเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว บางคนรู้สึกว่ามีกลิ่นหอม ในขณะที่บางคนรู้สึกว่ามีกลิ่นเหม็น เพราะมีส่วนผสมของสารระเหยที่ประกอบไปด้วยเอสเทอร์คีโตน และสารประกอบกำมะถัน

จากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในแต่ละปีทุเรียนทำรายได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี พื้นที่ปลูกทุเรียนในทุกภูมิภาคของประเทศมีกว่า 7.2 แสนไร่ ในปี 2559 พื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตมีมากถึง 5.8 แสนไร่ จ.จันทบุรี มีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดจำนวน 203,170 ไร่ โดยให้ผลผลิต 187.79 (พันตัน) รองลงมาคือ จ.ชุมพร มีพื้นที่ปลูก 148,130 ไร่ ให้ผลผลิต 199.81 (พันตัน) และ จ.ระยอง มีพื้นที่ปลูก 66,280 ไร่ ให้ผลผลิต 59.68 (พันตัน)

จังหวัดอื่นๆ ที่ปลูกทุเรียน ได้แก่ ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนและผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียนอันดับ 1 ของโลก ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 85 จากข้อมูลกรมศุลกากรระบุ ปี 2559 การส่งออกทุเรียนมีมูลค่า 19,923 ล้านบาท แยกเป็นทุเรียนสด 17,469 ล้านบาท ทุเรียนแช่แข็ง 2,173 ล้านบาท และทุเรียนอบแห้ง 282 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกหลักคือประเทศจีนร้อยละ 80 ของตลาดส่งออกทั้งหมด รองลงไปคือ ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย

จีนนับได้ว่าเป็นตลาดสินค้าอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชากรมากถึง 1,300 ล้านคน  และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 จีนจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 1,475 ล้านคน

ทุเรียนเป็นสินค้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 91) พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้ผู้ส่งออกผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักร ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผลทุเรียนสดออกไปนอกราชอาณาจักรกับกรมวิชาการเกษตร โดยผลผลิตที่ส่งออกต้องมาจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการเกษตรที่ดีและเหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) และใช้โรงคัดบรรจุผลไม้ที่ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามระบบการผลิตที่ดี หรือ GMP (Good Manufacturing Practice)   

ปัจจุบันมีนายทุนชาวจีนจำนวนมากได้เข้ามาตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ล้ง” โดยมีการเข้าหุ้นกับคนไทย หรือการให้คนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) เพื่อประกอบธุรกิจนี้

ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร ปี 2560 ทั่วประเทศมีโรงคัดบรรจุผลไม้ จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,130 ราย โดยในภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่สำคัญมีจำนวน 138 โรง ในจำนวนนี้เป็นโรงคัดบรรจุทุเรียน 44 โรง ตั้งอยู่ที่ จ.ระยอง 6 โรง และตั้งอยู่ที่ จ.จันทบุรี 38 โรง

ในจำนวนโรงคัดบรรจุผลไม้เหล่านี้ จะมีบางโรงที่มีคนจีนร่วมหุ้นอยู่ด้วย จึงนิยมเรียกว่า “ล้งจีน”

ล้งจีนได้เปรียบในการเจรจาและหาตลาดที่จีนได้เพราะมีความได้เปรียบด้านการตลาด และตลาดจีนย่อมถูกควบคุมโดยนักธุรกิจจีน ประกอบกับกฎหมายนำเข้าผลไม้ของจีนกำหนดไว้ว่าการนำเข้าผลไม้ต้องนำเข้าโดยผ่านบริษัทจีน

ทุเรียนถือได้ว่าเป็นผลไม้อันโอชะของคนจีน ไทยเป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่สำคัญ และมีรสชาติถูกปากชาวจีนมากกว่าทุเรียนจากประเทศอื่น เช่น กัมพูชา เวียดนาม ทุเรียนจึงเป็นที่ต้องการของตลาดผลไม้จีนเป็นอย่างมาก

ล้งจีนมีทุนหนา สามารถซื้อผลผลิตได้ทั้งสวน หรือซื้อได้แม้กระทั่งตอนที่ทุเรียนยังไม่ผลิดอก  ทำให้เจ้าของสวนทุเรียนจำนวนไม่น้อยต้องการขายทุเรียนให้กับล้งจีน เพราะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ และมารับซื้อถึงสวน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไปติดต่อหาตลาดเอง

ล้งไทยบางคนถึงกับต้องขอร้องเพื่อขอซื้อทุเรียนดีๆ จากชาวสวน จึงจะมีโอกาสขายให้คนไทยได้ทาน บางแห่งล้งไทยต้องจ่ายค่าทุเรียนแพงกว่าล้งจีน เพื่อให้ได้ทุเรียนดีมาจำหน่ายบ้าง จำนวนกว่าร้อยละ 60 ของทุเรียนทั้งประเทศได้ส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยจำนวนนี้จีนนำเข้าสูงสุด คงเหลือเพียงร้อยละ 40 ที่ได้ให้คนในประเทศได้บริโภค ทำให้คนไทยต้องซื้อทุเรียนราคาแพง ทั้งๆ ที่เป็นผลไม้ที่ปลูกได้เอง

แม้ราคาทุเรียนตลาดสี่มุมเมือง เดือน มิ.ย. 2560 ทุเรียนหมอนทองเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท แต่ราคาทุเรียนหมอนทองที่ขายอยู่ทั่วไปเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 130 บาท ทุเรียน 1 ลูก น้ำหนักเฉลี่ย 2 กิโลกรัม นั่นหมายถึงต้องมีเงินประมาณ 260 บาท จึงจะได้ทานทุเรียนเต็มลูก ยิ่งเป็นทุเรียนตามซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ราคาอาจแพงเท่าตัว    

หากเกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ คงเป็นการดี จะได้แข่งขันกับล้งจีนได้และเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ที่ล้งจีนบางรายหลบเลี่ยงกฎหมายตั้งตัวแทนหรือนอมินี เพื่อจะได้ตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ และคืบคลานทำธุรกิจแบบผูกขาดซื้อสวนทุเรียนจากเกษตรกรคนไทย

ทุเรียนสามารถสร้างรายได้ให้กับไทยจำนวนมาก ปัจจุบันทั้งประเทศมาเลเซียและเวียดนามได้ศึกษาและคิดค้นสายพันธุ์ทุเรียนใหม่ ซึ่งอาจกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต

ถึงแม้ประเทศไทยจะเป็นเจ้าแห่งทุเรียนของโลก แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่นับวันคนไทยจะมีโอกาสทานทุเรียนคุณภาพดีได้น้อยลงเพราะราคาแพง และส่งออกเป็นส่วนใหญ่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์น่าจะเข้ามาจัดการในเรื่องการจำหน่ายหรือโควตาในประเทศและต่างประเทศอย่างเหมาะสม 

ราคาทุเรียนแพงช่างตรงกันข้ามกับราคายางพาราที่เราเป็นเจ้าแห่งการผลิตน้ำยางของโลกเช่นกัน หากใช้กลไกราคาของทุเรียนมาแก้ปัญหาราคายางพารา ชาวสวนยางคงลืมตาอ้าปากได้มากกว่านี้