posttoday

เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจริงหรือ? สำคัญที่ถามใคร?

23 กรกฎาคม 2560

เฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang

เฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang

เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจริงหรือ? สำคัญที่ถามใคร?

เรามักจะได้ยินรัฐบาลชี้แจงว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้นบ้าง ฟื้นตัวแล้วบ้างในขณะที่ไปที่ไหนก็จะได้ยินเสียงบ่นว่าเศรษฐกิจแย่มาก ร้านค้าอยู่ไม่ได้บ้าง ขายของไม่ได้บ้าง ไม่ไหวแล้วเป็นหนี้เป็นสิน ไม่รู้จะเอาที่ไหนไปใช้หนี้

ตกลงว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นและกำลังจะดีขึ้นจริงหรือ ทำไมคนจำนวนมากจึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่และพวกเขากำลังเดือดร้อนมากขึ้นทุกที ในขณะที่ตัวเลขของทางรัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวแล้ว

ผมพยายามถามความเห็นจากผู้รู้และหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจว่า เหตุใดคนจำนวนมากจึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังแย่เหลือเกิน และทำไมผู้คนจึงมีความเห็นต่างกันมากในเรื่องนี้ ก็พอได้ความบางแง่มุมดังนี้ครับ

1. อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ที่ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวนั้น ใช้ตัวเลขกันอยู่ที่เป้าหมายอัตราการเติบโตของจีดีพีประมาณร้อยละ 3 ต่อปี แต่ละสำนักอาจจะต่างกันไปบ้างเล็กน้อย แต่เวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตมากๆและผู้คนรู้สึกว่าทำมาค้าขายได้คล่องตัว หาเงินง่ายในอดีตนั้น อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 6-7 % หมายความว่าที่ว่าเศรษฐกิจกำลังโตแล้วในปัจจุบันนั้นยังโตด้วยอัตราที่ไม่สูงเลย

อย่างที่ทราบกัน เทียบกับประเทศต่างๆในอาเซียน เราก็รั้งท้าย คือเติบโตด้วยอัตราที่ต่ำกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม และมาเลเซีย

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในรูป USD ในเดือนมิถุนายน ปี 2560 ขยายตัวสูงถึง 11.7% เมื่อเทียบกับ มิถุนายน ปี 2559 รวมการส่งออกใน 6 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวที่ 7.8 % (YOY) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี เทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจนได้เห็นอัตราการขยายตัวเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งไม่เคยเห็นมานานแล้ว ทำให้หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังดีขึ้น เพราะไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าถึงมากกว่า 50% ต่อขนาดเศรษฐกิจหรือ GDP ของประเทศซึ่งถ้ารวมการส่งออกบริการที่ส่วนใหญ่คือการท่องเที่ยวเข้าไปด้วย ภาคการส่งออกรวมจะมีขนาดใหญ่ถึงเกือบ 70% ของ GDP

การขยายตัวของการส่งออกทำให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นจริง โดยทำให้ไตรมาสแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยโต 3.3% ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่เคยโต 0.9%, 2.9% และ 3.2% ในปี 2557, 2558 และ 2559 ตามลำดับ

เมื่อเศรษฐกิจและการส่งออกไทย มีแนวโน้มดีขึ้น แล้วทำไมจึงมีคนบางส่วนที่ยังไม่รู้สึกว่าดีขึ้น เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขการส่งออกของไทยในอดีต ก็พบว่ามูลค่าการส่งออกของไทยลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2555 จากที่เคยส่งออกได้ถึง 229,084 ล้าน USD ก็ลดลงมาเรื่อยๆ กระทั่งเหลือ 215,387 ล้าน USD ในปี 2559 ที่นับว่าก็กระกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว จากที่หดตัว 3 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 2556-58 แม้การส่งออกใน 6 เดือนแรกปีนี้ จะทำได้ค่อนข้างดี จนขยายตัวได้ถึง 7.8% และถ้าภาครัฐสามารถทำให้ส่งออกทั้งปีโตได้ตามเป้าที่ 5% มูลค่าการส่งออกรวมของปี 2560 ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อปี 2555

ใน 20-30 ปีมานี้ ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยเติบโตเร็วๆนั้น การส่งออกเติบโตด้วยอัตราเป็นเลข 2 หลักเกือบตลอด มากกว่า 10% ขึ้นไป จึงเรียกได้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ การส่งออกของเราแทบจะไม่ขยายตัวเลย

นอกจากนั้น การส่งออกที่ดีขึ้น เป็นการดีขึ้นเฉพาะบางธุรกิจ เช่น ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องอิเล็คทรอนิคส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า การขยายตัวยังไม่ได้กระจายตัวไปในทุกกลุ่มธุรกิจ จึงทำให้คนในภาคส่งออกโดยรวมไม่ได้รู้สึกว่าดีขึ้น

3. ภาคเกษตร

เมื่อไปดูในภาคเกษตร ซึ่งมีคนทำงานอยู่ในภาคนี้ถึงประมาณ 11 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 30% ของคนที่มีงานทำทั้งหมดในประเทศไทย พบว่า คนทำงาน 30% มีส่วนแบ่งในผลผลิตของประเทศหรือ GDP เพียงแค่ 8% ส่วนผลผลิตที่เหลืออีก 92% แบ่งกันไประหว่างคนอีก 70% ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ นั่นคือคนจำนวนมากมีส่วนแบ่งจำนวนน้อย แม้ภาคเกษตรจะขยายตัวถึง 7.7% ในไตรมาสแรกปีนี้ ก็ยังไม่พอแบ่งได้อย่างทั่วถึงสำหรับคนเกือบ 11 ล้านคน

แล้วการส่งออกที่เป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้นตอนนี้ มีการส่งออกสินค้าเกษตรอยู่มากน้อยขนาดไหน สินค้าการเกษตรส่งออกทั้งหมด ซึ่ง 6 เดือนแรกปีนี้ ทำได้ดีมาก ขยายตัวสูงถึง 17.9% แต่ก็รวมแล้วมีสัดส่วนในการส่งออกเพียงแค่10%

มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวดี แล้วเกษตรกรขายของได้ราคาดีขึ้นบ้างหรือไม่ ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งออกในรูป USD (ยกเว้นสินค้าประมง) มีแนวโน้มลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2554 เพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นบ้างตั้งแต่ปลายปี 2559 ถึงปัจจุบัน โดยปรับตัวจากที่เคยอยู่ที่ระดับ107.39 มาอยู่ที่ระดับ 86.73 ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ที่แสดงดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญที่เกษตรขายได้ที่ไร่นา มีแนวโน้มลดลงมาตลอดตั้งแต่ปี 2554 จากระดับ 174.45 และเพิ่งจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2559 นี้จนมาอยู่ที่ระดับ 140.08 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560

ดังนั้นภาคเกษตรที่ว่าดีๆ หลักๆ ก็มาจาก ยางพารา ซึ่งราคาในตลาดโลกเริ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งแต่ปลายปีที่แล้วถึงเดือน ก.พ. ปีนี้ ธุรกิจยางจึงได้ประโยชน์ แต่หลังจากนั้นราคาเริ่มตก และลดลงมากในไตรมาส 2 ธุรกิจยางจะได้ประโยชน์น้อยลงจากที่เคยได้ อีกอย่างคือผลไม้ ซึ่งได้ทั้งราคาส่งออกดี และปริมาณส่งออกมาก ขณะที่ราคาส่งออกข้าว ยังไม่ดี แต่ที่มูลค่าส่งออกยังขยายตัวได้บ้าง เพราะขายปริมาณมาก ส่วนมันสำปะหลัง ทั้งปริมาณส่งออกและราคาลดลงทั้งคู่ และแม้สินค้าการเกษตรส่งออกได้ดีใน 6 เดือนแรกปีนี้ ด้วยอัตราการขยายตัวสูงถึง 17.9% ทว่าสัดส่วนในการส่งออกรวมก็น้อย จึงยังไม่พอที่จะทำให้คนในภาคเกษตรทั้งหมดรู้สึกดีขึ้น ฉะนั้นแม้ดูรวมๆแล้วภาคเกษตรจะดี แต่ก็ดีไม่กี่ตัว และโดยรวมๆราคาสินค้าเกษตรปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่เกษตรกรเคยขายได้ในปี 2554/5

4.ประมง

สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยแจ้งว่าเรือประมงนอกน่าน้ำซึ่งมีเรือกว่า 1,000ลำเจ๊งหมดแล้ว เสียหายปีละ 60,000-100,000 ล้านบาท เรือประมงในประเทศกว่า40,000 ลำ เหลือเพียง 10,600 ลำ ในจำนวนนี้ไม่สามารถออกทำการประมงอีก3,500 ลำ เพราะขาดแคลนแรงงาน ทำให้เสียหายเดือนละ 20,000 ล้านบาท รวม 2ปี เศรษฐกิจภาคประมงเสียหายไปแล้วกว่า 500,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมอุตสาหกรรมต่อเนื่องภาคประมง

5.การค้าปลีก

มีข้อมูลว่าการค้าปลีกไทยโตต่ำสุดในอาเซียนต่อเนื่องมาเกือบ 4 ปี

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า ภาพรวมดัชนีค้าปลีกปี 2560 น่าจะดีกว่า ปี 2559 เล็กน้อย คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตน่าจะอยู่ประมาณ 3.0 - 3.2% จากปี 2559 เติบโตขึ้นถึง 2.97% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลข 3.0% ที่ประมาณการณ์ไว้เมื่อต้นปี นับว่ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการเติบโตเพียง 2.8%

ขณะที่ธุรกิจห้างค้าปลีก ค้าส่งรายใหญ่ 4 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แจ้งผลดำเนินการในไตรมาสที่ 1 ของปี 60 มีกำไรรวมกัน 4,950 ล้านบาท บางบริษัทมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นถึง 29.3 %

6.หนี้ครัวเรือนและหนี้ภาคแรงงาน

หนี้ครัวเรือนไทยขยายตัวต่อเนื่อง ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2560 ครัวเรือนไทยมีหนี้สินรวมเท่ากับ 11,480,921 ล้านบาท คิดเป็น 78.6% ของ GDP นับว่าสูงเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาคเอเชีย จากผลการวิจัยของนางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และ น.ส.อัจนา ล่ำซำหัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยมุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทยว่า 1 ใน 3 ของประชากรไทยทั้งหมด 69 ล้านคนเป็นหนี้ในระบบ ค่าเฉลี่ยหนี้ต่อคนอยู่ที่ 150,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ไม่รวมหนี้เพื่อการศึกษา หนี้จากสหกรณ์ และหนี้นอกระบบ

เดือนเมษายนปีนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยจากการสุ่มตัวอย่าง พบว่า แรงงานไทยส่วนใหญ่ 97% ระบุมีภาระหนี้ ส่วนอีก 3% ระบุไม่มีภาระหนี้ โดยแรงงานไทยมีหนี้เฉลี่ย 131,479 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 10.43 % จากปีก่อน ซึ่งในแง่มูลค่าสูงสุดรอบ 8 ปี

7.ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์

ในปี 2558 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงาน 370.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่มีกำไรสุทธิ 192.3 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน

ในปี 2559 แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จะมีค่าใช้จ่ายจากการกันสำรองที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ก็ยังคงมีกำไรสุทธิ 199 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.6 จากการบริหารพอร์ตเงินฝากเป็นหลัก

ในไตรมาส 1 ปี 2560 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 51.1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับระยะเดียวกัน ปีก่อน

8. ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (บจ.) รายงานกำไรสุทธิปี 2559 รวมทั้งสิ้น 9.09 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.41% จากปีก่อน ในปี 2559 นี้ บจ.มีกำไรสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คือ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง หมวดพาณิชย์ และหมวดการแพทย์

ไตรมาส 1/2560 บจ. รายงานกำไรสุทธิ รวม 2.85 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.36% จากงวดเดียวกันในปีก่อน จากการฟื้นตัวของหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะเดียวกัน หมวดธุรกิจในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคยังคงเติบโตได้ดี

9.ข้อสรุปจากข้อมูลที่ได้มา

ข้อมูลที่รวบรวมมานี้เป็นเพียงบางด้านของเศรษฐกิจไทย แต่ก็น่าจะพอตอบคำถามว่าทำไมคนจำนวนมากหรือคนส่วนใหญ่จึงรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีและทำไมจึงมีคนที่รู้สึกแตกต่าง

ที่ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแล้วนั้น อัตราการเติบโตก็ยังต่ำ ที่ว่าการส่งออกฟื้นแต่อัตราการขยายตัวก็ยังต่ำมาหลายปีและมีทั้งดีขึ้นและแย่ลง ไม่เท่ากัน หนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นบวกกับรายได้เกษตรกรที่ลดลง จากการที่ทั้งราคาสินค้าเกษตรส่งออกและราคาสินค้าเกษตรที่ขายได้ที่ไร่นา ลดลงมาโดยตลอด เมื่อคนจำนวนมากมีภาระหนี้สูง และรายได้ลดลง ทำให้กำลังซื้อไม่เพิ่ม คนค้าขายรายเล็กรายน้อยก็แย่ไปตามๆกัน คนกลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวนมากจึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจของตัวเองดีขึ้น ซึ่งเป็นคำตอบว่าทำไมคนจำนวนมากจึงไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แม้ GDP จะขยายตัว 3.3% ในไตรมาสแรก และการส่งออกจะโตถึง 11.7% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าธุรกิจบางส่วนขยายตัวได้ไม่น้อย บางประเภทก็เติบโตดีมาก ที่ไม่ได้นำข้อมูลมาเสนอที่ควรยกมาเป็นตัวอย่างก็คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งขยายตัวเร็วมาก สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยปี 2558 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทยมากถึง 29.88 ล้านคน ขยายตัว 20.44% สร้างรายได้ 1.44 ล้านล้านบาท ขยายตัว23.5

ปี 2559 ภาคการท่องเที่ยวโดยภาพรวมสร้างรายได้ 2,510,779 ล้านบาท รายได้รวมจากการท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 11.09 โดยขยายตัวทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ และรายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 12.64 และร้อยละ 8.27 ตามลำดับ

เมื่ออุตสาหกรรมหรือธุรกิจบางประเภทโตด้วยตัวเลข 2 หลัก ในขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ก็ย่อมหมายความว่ามีหลายภาคส่วนที่โตด้วยอัตราต่ำมากหรือไม่ก็เป็นลบ บังเอิญว่าที่โตด้วยอัตราเป็นลบนั้นไปเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนจำนวนมากจึงบอกว่าเศรษฐกิจแย่มากๆ ไม่ว่าใครจะยกตัวเลขสวยหรูอะไรมาอ้างก็ตาม