posttoday

"แก้ปัญหา" หรือ "สร้างปัญหา" สะพานคนเดินท่าพระจันทร์-ศิริราช

16 กรกฎาคม 2560

เฟซบุ๊ก Lek Parinya

เฟซบุ๊ก Lek Parinya

บ่ายวันที่ 22 ก.ค.เมื่อปีก่อน อยู่ๆ ผมก็โดนชวนให้ไปร่วมเป็นตัวแทนหน่วยงานราชการของผมเพื่อเข้าประชุมอันนึงของ กทม.

ตอนแรกนึกว่าเป็นเรื่องทางเลียบแม่น้ำที่กำลังฮ๊อตตอนนั้น แต่ไม่ใช่ การประชุมกลับเป็นเรื่อง “สะพานคนเดิน-จักรยาน ท่าพระจันทร์-ศิริราช”

การประชุมจัดโดยที่ปรึกษาของ กทม.ที่จ้างมาเพื่อศึกษาโครงการนี้

สาระในการประชุมครั้งนี้คือ ช่วยกันเลือกแบบสะพาน จากสี่แบบของที่ปรึกษา

สองในสี่แบบ เป็นแบบคล้ายๆ สะพานพระรามแปด คือเสาเดียว ปักลงด้านท่าศิริราช

อีกแบบเป็นสะพานเรียบๆ แต่ตอม่อเยอะๆ

แบบสุดท้ายเป็นโครงสร้างกลมๆ ไม่สูงมาก ตอม่อห่างๆ

พร้อมคำอธิบายข้อดีข้อเสีย เช่น ตอม่อเยอะๆ ขวางกระบวนเรือฯ ควรเลี่ยงงานก่อสร้างหนักๆ บริเวณโรงพยาบาลศิริราช

ซึ่งแน่นอนว่า เหมือนจะมุ่งให้ที่ประชุม เลือกแบบโดนัทอันที่สี่

เอกสารที่แจก มีสี่แผ่น มีรูปสะพานสี่แบบ ให้ผู้ร่วมประชุมที่มาจากหน่วยงานต่างๆ เลือก พร้อมให้ออกความเห็น ระบุข้อดี ข้อเสีย ชอบ ไม่ชอบ เขียนลงในกระดาษนั้น แล้วส่งคืน

ผมเห็นเอกสารแล้วก็สะกิดหัวหน้าผมที่ชวนมาว่าจะให้ผมออกความเห็นไหม? ถ้าออกความเห็นแล้ว จะแรงนะ

หัวหน้าผมบอก “เอาเลยเว้ย เรามาทำหน้าที่ ก็ทำให้เต็มที่”

ผมก็ยกมือขึ้นจากแถวหลัง ให้ความเห็นว่า ผมจบคณะสถาปัตย์มา ผมมีโอกาสได้ไปช่วยสอนที่คณะสถาปัตย์มาสองสามที่

ถ้าผมเป็นอาจารย์ เจอนิสิตทำงานช่วงศึกษากระบวนการงานออกแบบ แล้วให้ทางเลือกแบบนี้ ผมจะไล่ให้ไปทำมาใหม่ทั้งหมด

เพราะทางเลือกทั้งสี่นั้น สองอันแรกมันคล้ายกันมาก แค่เสาตรง กับเสาโค้ง แถมทำไม่ได้ในบริบทรอบข้าง นั่นคือ สามทางเลือกจากสี่นั้น มันทำมาพร้อมให้ตัดทิ้ง

เพราะฉะนั้น นี่เป็นการศึกษาทางเลือกที่ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจอะไรได้เลย

ผมยังให้ความเห็นในที่ประชุมต่อว่า ทำไมไปเลือกตรงนั้น ก่อสร้างก็ยาก แน่นก็แน่น ต้องหลบที่ดินเอกชนจนทางขึ้นสะพานแคบนิดเดียว แถมอ้างว่าจะทำเป็นทางจักรยาน แต่คนขี่จักรยานต้องขึ้นลิฟท์เพื่อใช้สะพาน เพราะพื้นที่ไม่มี ทำทางลาดไม่ได้ ซึ่งผิดธรรมชาติของผู้ใช้จักรยาน (ในที่ประชุมมีตัวแทนจากหน่วยราชการที่อื่นเป็นนักปั่นก็ทักท้วงเรื่องนี้)

เหตุผลจากที่ปรึกษาชี้แจงว่า ที่ต้องเลือก ท่าพระจันทร์-ท่าวังหลัง เพราะว่า ดูจากปริมาณคนที่ใช้เรือข้ามฝาก น่าจะคุ้มกับการมีสะพาน และเป็นการเพิ่มบริการของ รพ.ศิริราชให้มาถึงฝั่งพระนคร โดยมีเหตุฉุกเฉิน ก็นำคนไข้ใส่รถกอล์ฟ วิ่งข้ามสะพาน (กดลิฟท์ขึ้น และลง) ไปเข้าห้องฉุกเฉินได้ง่าย

ผมแย๊บถามในที่ประชุมว่า ทำไมไม่เลือกทำที่อื่น

ถ้าดูจากสะพานต้นแบบอย่างสะพานมิลเลนเนี่ยมที่ลอนดอน เขาวางตามแนวแกนสถานที่สำคัญ แล้วมันออกมาสวยมาก เช่น พื้นที่ช่วงกรมอู่ทหารเรือ-ราชนาวีสโมสรให้ตรงกับแกนพระบรมหาราชวังโดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ทำทางลาดจักรยานได้ แถมแก้ปัญหารอบวัดพระแก้วสำลักรถทัวร์นักท่องเที่ยว โดยไปจอดบริเวณกรมอู่ฯ ให้นักท่องเที่ยวเดินข้ามสะพานชมแม่น้ำเจ้าพระยาสวยๆ ของเราได้อีก

หรือแม้แต่อุโมงค์ลอด วัดอรุณ-ท่าเตียนวัดโพธิ์ ที่ทำแล้วเปิดเส้นทางเชื่อมการท่องเที่ยวใหม่ๆ ได้

ที่ปรึกษาดับฝันบรรเจิดผมด้วยการบอกว่า กทม.จ้างให้ศึกษาแค่จุดนี้ ไม่ได้รวมถึงขอบเขตการเลือกพื้นที่

------------

ผมบอกตอนท้ายของที่ประชุมว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ค่าก่อสร้างเกือบสองพันล้านบาท(ณ วันนั้น) ทำไมไม่เปิดเวบ หรือเฟสบุ๊ค โพสทางเลือก ให้ประชาชนเขาดูหล่ะ? จะได้วิจารณ์กันในวงกว้าง

เขาบอกว่า ขอบเขตการศึกษาของเรา ต้องจบที่แบบก่อสร้าง สัญญาหมด มกราคม 2560  ส่วน กทม.จะเอาแบบนี้ไปสร้างเลย หรืออีกยี่สิบปีสร้าง ก็เรื่องของ กทม. ถ้าสนใจ เข้าเว็บไซต์ของเขาได้

ซึ่งผมก็เข้าไป ปรากฏว่าเป็นเวบง่อยๆ ตายๆ ชื่อยาวๆ และไม่มีแบบสะพานที่ให้เลือกวันนี้โพสลงไป

--------------

วันนี้ ผ่านจากการประชุมวันนั้นมาหนึ่งปี

แบบโดนัทที่ดันให้เลือกในที่ประชุมวันนั้นมันเผยโฉมออกมาแล้วครับ

เชิญวิจารณ์ได้แล้ว

ส่วนเรื่อง กทม.ไปจ้างที่ปรึกษามืออาชีพแบบนี้ ให้มารับงานมาทำใช้งบหลายสิบล้านได้เรื่อยๆ

ล๊อกสเปคบริษัทที่ปรึกษาเดิมๆ กันอยู่หรือไม่?

ทำไม TOR ถึงง่อยแบบนี้?

ทำไมไม่ศึกษาทางเลือกเชิงพื้นที่?

ทำไมไม่ประกวดแบบในงานระดับโลกแบบนี้?

ทำไมเสียตังหลายสิบล้าน ได้อะไรออกมาแบบนี้?

เอาเงินไปแก้ปัญหาที่เป็นปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหาใหม่ๆกันดีไหม?

ไปไล่บี้เอาคำตอบกันเองนะครับ