posttoday

การก่อตัวของระบบเศรษฐกิจใหม่ เอกระธุรกิจ (1)

13 กรกฎาคม 2560

โดย...รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย...รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ  คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์  4 ประการ คือ การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล การตกงานของคนงานอันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าสู่สังคมคนสูงวัย และสุดท้ายการเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการอิสระโดยคนรุ่นใหม่ ที่มีลักษณะขายเอง ทำเอง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งขอเรียกว่า  "เอกระธุรกิจ หรือ One Person Business"

เหตุการณ์กำลังซ้ำรอยประวัติศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรมดิจิทัล ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมและบริษัทธุรกิจต่างๆ หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ และเพื่อลดต้นทุน มีผลให้โรงงานที่ใช้หุ่นยนต์ดิจิทัลลดการจ้างคนงาน ธนาคารที่ใช้อี-แบงก์กิ้งก็ลดพนักงานและเริ่มลดสาขา ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เริ่มลดพนักงานและลดสาขา

สภาพเช่นนี้กำลังลุกลามเข้ามาในประเทศไทย โรงงานประกอบรถยนต์กำลังหันไปใช้หุ่นยนต์ดิจิทัล ธนาคารต่างๆ ดูเหมือนจะนำร่องล่วงหน้าโรงงานอีก สังเกตจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่อีก 5-10 ปีข้างหน้า ลูกจ้างในโรงงานและในบริษัทต่างๆ อาจจะถูกปลดออกจากงาน นับเป็นจำนวนล้านและไม่อาจคาดการณ์ชะตากรรมได้

ที่น่าวิตกขึ้นไปอีกก็คือ กำลังแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ในปี 2540 มีอยู่ประมาณ 37.4 ล้านคน เทียบกับเมื่อปี 2559 มีอยู่ประมาณ 38.7 ล้านคน หายไปประมาณล้านกว่า จำนวนนี้หายไปไหน เกือบทั้งหมดที่หายไป คือ กลายเป็นคนอายุ 60 ปี ซึ่งตามสภาพเป็นคนนอกกำลังแรงงาน เพราะเป็นวัยเกษียณ คนที่เป็นลูกจ้างและราชการ ก็ถูกปลดเกษียณออกไป ส่วนคนที่ยังคงเป็นกำลังแรงงานอยู่ เกินครึ่งอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป คนวัยนี้ถ้าถูกปลดก่อนเกษียณจะไปทำมาหากินอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนงานในโรงงาน ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกทำงานเชิงเดี่ยว คือ ถ้าไขสกรู ก็ทำอย่างเดียวจนเกษียณ ทำอย่างอื่นไม่เป็น ถูกปลดจากงาน ไม่มีรายได้ บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ มีลูกยังเล็กยังวัยเยาว์ ยังต้องพึ่งพ่อ-แม่ ชะตากรรมของคนกลุ่มนี้ดูออกจะมืดมัวสำหรับคนที่มีการศึกษา ถูกปลดจากบริษัทก็อาจจะพอมีทางไปทำอาชีพส่วนตัว หรือปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้บ้าง

สังคมสูงวัยกับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ประเทศอุตสาหกรรมทั่วโลก ล้วนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศเหล่านี้ขาดกำลังแรงงาน และกดดันให้ธุรกิจโรงงานประเภทต่างๆ หันไปใช้เครื่องจักรอัตโนมัติที่ใช้แรงงานน้อยลง และสุดท้ายในยุคปัจจุบันใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้แรงงานคนน้อยมาก เทคโนโลยีดิจิทัล ที่เริ่มจากประเทศอุตสาหกรรม แผ่ขยายเข้าไปในประเทศอื่นๆ ที่บริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุน ในประเทศไทยโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าที่ปราจีนบุรีจะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล คือ ใช้หุ่นยนต์ทำการผลิต และจ้างงานลดลงถึงร้อยละ 70-80 และจะกดดันให้บริษัทคู่แข่งอื่นต้องทำอย่างนี้ด้วย เพื่อลดต้นทุนและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

ขณะนี้ระบบการค้าอุตสาหกรรมไทยต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 3 แสนคน แต่มีแรงงานไทยให้จ้างได้ประมาณ 1.8 แสนคน ที่ขาดไปต้องจ้างแรงงานต่างด้าว แต่แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ดังนั้น แรงงานระดับมีฝีมือก็ยังขาดแคลนเหมือนเดิม โดยเฉพาะแรงงานฝีมือในระบบอุตสาหกรรมการผลิตหรือการผลิตของโรงงาน

ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เพราะเป็นสังคมสูงวัย โดยหันไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล คนสูงวัยที่ปลดเกษียณก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้รายได้ลดลง กดดันให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง พร้อมๆ กันนั้น กองทุนประกันสังคม ก็ต้องจ่ายเบี้ยชราภาพให้ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นทุกปี กดดันให้เกิดปัญหาการคลังและเกิดปัญหาตลาดภายในประเทศไม่ขยายตัว เพราะกำลังซื้อลด ปัญหานี้เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด

ในญี่ปุ่นกำลังแก้ปัญหากำลังซื้อลดและแก้ปัญหาภาระการคลังด้านช่วยเหลือคนชรา ด้วยการทำ 3 อย่าง คือ

1) ส่งเสริมให้บริษัทจ้างคนวัยเกษียณให้ทำงานต่อไป ขณะนี้กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดอายุเกษียณ 65 ปี แต่ถ้าบริษัทใดยังจ้างต่อ รัฐบาลจะลดภาษีให้

2) การส่งเสริมการทำงานบางช่วงเวลา (พาร์ตไทม์) โดยส่งเสริมให้สตรีและคนวัยเกษียณ ทำงานบางช่วงเวลา เช่น วันละ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มกำลังซื้อให้สูงขึ้น

3) ส่งเสริมให้นักศึกษาต่างชาติทำงานช่วงที่ยังศึกษาอยู่ โดยกำหนดให้ทำงานได้ในแต่ละสัปดาห์ประมาณ 20-25 ชั่วโมง เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงานและเพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ

ในขณะที่โลกอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงาน คนวัยเกษียณเพิ่มขึ้น และเทคโนโลยีดิจิทัล ถูกนำมาทำการผลิตแทนคน ก็เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือ คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาท่ามกลางเครื่องมือดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต กลายเป็นคนที่ใช้เวลาอยู่กับเครื่องมือดิจิทัลมากกว่าการอยู่กับผู้คนอื่นๆ ได้บ่มเพาะให้คนรุ่นนี้เป็นคนอิสระ ไม่อยากอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์

กติกาของสังคมเดิมๆ ไม่อยากอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของใคร ต้องการประกอบอาชีพอิสระ จำนวนหนึ่งทำอาชีพอิสระเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตนเอง ไม่ได้คิดที่จะเติบใหญ่ร่ำรวยมากๆ แต่จำนวนหนึ่งก็เติบโตไปในทิศทางนั้น เราจึงเห็นได้ว่า เศรษฐีรุ่นใหม่ๆ ของโลก ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดิจิทัลทั้งสิ้น

การที่คนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งไม่เป็นลูกจ้าง แต่อยู่ได้ด้วยอาชีพอิสระ ที่อาศัยเครื่องมือดิจิทัล กลายเป็นแบบอย่างและการสร้างโอกาสในการหารายได้ของคนอีก 2 ประเภท คือ คนที่ถูกปลดออกจากงานและคนวัยเกษียณ

คน 2 ประเภทนี้เมื่อได้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ใช้ประสบการณ์จากงานของตนเอง มาทดลองทำการผลิตและทำการขายผ่านเครื่องมือดิจิทัล บางคนก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่าง น่าพอใจ โอกาสเช่นนี้จึงทำให้เกิดแนวโน้มใหม่ในสังคมดิจิทัล นั่นคือ การทำการผลิตหรือการขายคนเดียว หรืออาจจะเรียกว่า "เอกระธุรกิจ (One Person Business) ซึ่งจะพบได้มากในธุรกิจ การขาย ธุรกิจหัตถกรรมบางประเภท

ในประเทศจีนกำลังเกิดอาชีพใหม่ คือ อาชีพเป็น "เน็ตไอดอล" คือ การทำคนให้เป็นที่นิยมในสื่ออินเทอร์เน็ตประเภทต่างๆ ไม่ว่าในเฟซบุ๊ก ในยูทูบ เป็นต้น เมื่อบรรลุการเป็น "เน็ตไอดอล" ก็จะมีคนติดตามมาก จะไปเพิ่มการโฆษณาในรายการของ "เน็ต ไอดอล" ผู้เป็นเน็ตไอดอล ก็จะได้ส่วนแบ่งจากค่าโฆษณา เดี๋ยวนี้ก้าวไกลไปถึงขั้นมีการจัดตั้งสถาบันเพื่อพัฒนา "เน็ตไอดอล" แล้ว นี่ก็เป็นอาชีพใหม่ของ "เอกระธุรกิจ"