posttoday

บทเรียนที่ลืมแล้วจากวิกฤตต้มยำกุ้ง

04 กรกฎาคม 2560

สมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

โดย...สมชาย สกุลสุรรัตน์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้จำนวนไม่น้อย คงได้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ค. 2540 จากการที่รัฐบาลในขณะนั้นปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวจากที่เคยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ขายเงินดอลลาร์ที่ถืออยู่ในกองทุนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ออกไปเพื่อรักษาค่าเงินบาทไว้จนเกือบจะหมด

ผลคือหลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน เงินบาทได้อ่อนค่าลงจาก 25 บาท ลงไปถึงจุดต่ำสุดประมาณ 52 บาท/ดอลลาร์ แล้วมาทรงๆ ตัวอยู่ที่ประมาณ 40-45 บาท ทำให้ธนาคารและบริษัทขนาดใหญ่ที่กู้เงินดอลลาร์หรือเงินตราต่างประเทศสกุลอื่น เช่น เงินเยน หรือเงินสวิสฟรังก์ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินบาทมาเป็นเงินลงทุนบ้าง หรือเก็งกำไรจากอัตราดอกเบี้ยบ้าง มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมากมายอย่างกะทันหันจนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้

ทั้งยังถูกเร่งรัดให้ชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่างประเทศที่ขาดความเชื่อมั่นในสถานะเศรษฐกิจของไทย ทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงทั้งระบบ เริ่มจากภาคการเงินที่มีการปิดสถาบันการเงิน 42 แห่ง ในเดือน ส.ค. 2540 กับอีก 14 แห่งก่อนหน้านี้ ทำให้ลูกค้าในภาคการผลิตที่เคยใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินเหล่านั้นถูกตัดเส้นเลือดหล่อเลี้ยง ไม่มีเงินหมุนเวียนเพื่อใช้ในธุรกิจตามปกติ และไม่สามารถชำระหนี้ได้แม้ว่าธุรกิจที่ดำเนินการอยู่จะดำเนินอยู่ตามปกติไม่ได้มีปัญหา

หลังจากนั้นธนาคารหลายแห่งถูกธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปลดทุนของผู้ถือหุ้นเดิม เพราะปัญหาหนี้สินที่เพิ่มขึ้นทำให้ไม่สามารถดำรงสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงได้ตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้นยังเกิดปัญหาการขาดความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินที่ต้องการถอนเงินฝากออกไป จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Bank Run เพราะหลังจากการลอยตัวค่าเงินบาทและการปิดสถาบันการเงินหลายแห่ง เพราะมีปัญหาหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น

ทั้งหลายทั้งปวงที่เล่ามา ทำให้เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาวิกฤตอย่างรุนแรงใกล้ล้มละลาย ต้องขอให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เข้ามาช่วยให้เงินกู้มาใส่ไว้ในกองทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนประมาณ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียอีก 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์ เพราะตอนนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ไปจนเหลือแค่ 158 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ทั้งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกให้เงินกู้มาจริง แต่ได้ตั้งเงื่อนไขที่เข้มงวดให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตาม ไอเอ็มเอฟส่งทีมงานเข้ามาคุมการทำงานของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ที่หลายท่านกล่าวว่าวิกฤตเศรษฐกิจรอบนั้นทำให้ประเทศไทยเสียเอกราชทางเศรษฐกิจคงไม่ผิด เพราะเผอิญช่วงนั้นผมได้รับหน้าที่ให้เข้าไปดูแลธนาคารแห่งหนึ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปยึดจากผู้ถือหุ้นเดิม ไม่ว่าจะทำอะไรในระดับนโยบายจะต้องชี้แจงตอบคำถามฝรั่งเด็กๆ ที่ไอเอ็มเอฟส่งเข้ามากำกับดูแลการทำงานของทางการ และมักจะได้รับแจ้งจากทางการว่าให้รอให้ไอเอ็มเอฟเห็นชอบก่อนจึงจะทำได้ สร้างความอึดอัดใจให้กับตัวเองพอสมควร เพราะเด็กฝรั่งบางคนดูเหมือนจะเพิ่งจบมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ แต่ทำตัวเหมือนเป็นผู้รู้การเงินและธนาคารในประเทศไทยทุกเรื่อง

อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น 2-3 ปี เศรษฐกิจไทยก็เริ่มฟื้นตัว สาเหตุเพราะการส่งออกขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการลดค่าเงินบาทและการที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขยายตัว ปริมาณความต้องการพืชผลและราคาผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้น

ส่วนสถาบันการเงินแข็งแกร่งขึ้นเพราะการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย และการให้ต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ส่วนบริษัทในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในปี 2540 ถ้าไม่ได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะถูกขายให้บริษัทต่างชาติหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างๆ ทำให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปตามปกติ ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการตกงานบ้าง ลดเงินเดือนบ้าง จนต้องนำเสื้อผ้า สิ่งของเครื่องใช้ใส่ท้ายรถมาเปิดขายในลานจอดรถ ก็เริ่มคุ้นเคยกับชีวิตใหม่ และเริ่มมีงานทำเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

ตรงนี้แหละครับที่อยากจะพูดถึง เพราะพอเศรษฐกิจฟื้นตัวเพราะโชคดีที่การส่งออกขยายตัวเนื่องจากเงินบาทลดค่าและเศรษฐกิจโลกขยายตัว เนื่องมาจากระบบโลกาภิวัตน์ และการสร้างฟองสบู่ในบางภูมิภาคของโลก เราก็ดูเหมือนจะลืมบทเรียนที่เราได้รับและเคยตั้งปณิธานเอาไว้ว่าหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งแล้ว เราจะไม่ยินดีปรีดาปราโมทย์กับเงินร้อนที่ไหลเข้ามาแสวงหากำไรในประเทศ แต่เราจะส่งเสริมให้มีการลงทุนระยะยาวภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง เราจะพยายามสร้างเศรษฐกิจให้ยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยการพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพในการแข่งขัน เราจะหาวิธีการสกัดกั้นการไหลเข้ามาเก็งกำไรของเงินร้อนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤตรุนแรง ฯลฯ

ถ้าท่านมีเวลาลองค้นดูว่ามีใครต่อใครบ้างที่เคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้หลังวิกฤตต้มยำกุ้งแล้วจะแปลกใจว่าเวลาทำให้คนพูดและคนฟังลืมอย่างไม่น่าเชื่อภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปี

อย่างที่ทราบว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยทุกวันนี้คือ การขาดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล โครงสร้างเศรษฐกิจต้องพึ่งพาการส่งออกเหมือนก่อนที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะเราจะลืมบทเรียนที่ได้รับง่ายเกินไป เนื่องจากรัฐใช้เงินกว่า 5 ล้านล้านบาท เข้าไปกอบกู้ภาคการเงิน แต่ไม่ได้มีมาตรการเข้มข้นอย่างไรที่จะกอบกู้ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินที่ตนเองไม่ได้ก่อให้เกิดขึ้นโดยตรงเหมือนภาคการเงิน

ผู้ประกอบการต้องดิ้นรนขวนขวายช่วยตนเองเพื่อความอยู่รอดบ้างไม่รอดบ้าง ทำให้ผู้ประกอบการในภาคการผลิตที่แท้จริงจำนวนมากเกิดความท้อแท้และ “เข็ด” ที่จะลงทุน ลงเงินจำนวนมากพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต คงดำเนินกิจการไปตามกำลังการผลิตบนสายการผลิตเดิมทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศที่มีการลงทุนใหม่ทั้งเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตที่ผู้ประกอบการไทยไม่อยากจะลงทุน บางท่านบอกว่าไม่อยากเป็นนักอุตสาหกรรม สู้ไปลงทุนในตลาดหุ้นดีกว่า ไม่เหนื่อยและออกตัวได้ง่ายกว่า และให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

พูดถึงตรงนี้ก็ได้แต่หวังว่านโยบายทำประเทศไทยให้เป็นประเทศ 4.0 ของรัฐบาลคงจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ก็ขอเอาใจช่วยครับ