posttoday

จับตาซื้อเทอร์โบรถไฟ ส่อล็อกสเปก-ราคาแพง

03 กรกฎาคม 2560

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

ที่ผ่านมาผมได้ออกมาตีแผ่ถึงความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้ออุปกรณ์บำรุงทางของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาแล้วหลายครั้ง โดยผมได้ชี้ให้เห็นว่าการรถไฟฯ ได้กำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคหรือสเปกที่ไม่เปิดกว้าง เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง และได้ตั้งราคากลางที่สูงเกินจริง แม้ว่าเสียงติติงของผมได้ทำให้การรถไฟฯ ชะงักไปบ้าง แต่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือทำให้การจัดซื้อโปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้เข้าแข่งขันทุกราย ที่สำคัญ ยังคงกำหนดสเปกที่ไม่เปิดกว้างให้ผู้ผลิตจำนวนมากเข้าร่วมแข่งขันได้

ผมกำลังจะพูดถึงเรื่องที่การรถไฟฯ กำลังจะจัดซื้อเครื่องถ่ายทอดกำลังไฮดรอลิกส์ (Turbo Transmission) ซึ่งเป็นตัวส่งกำลังจากเครื่องยนต์ไปที่เพลาล้อของรถดีเซลราง จำนวน 5 ชุด วงเงิน 37.343 ล้านบาท หรือชุดละ 7.47 ล้านบาท โดยมีความไม่ชอบพามากลดังนี้

1.มีการระบุยี่ห้อและรุ่นอย่างชัดเจน

โดยการรถไฟฯ ระบุว่าต้องการจัดซื้อเครื่องถ่ายทอดกำลังหรือเทอร์โบยี่ห้อ Voith รุ่น T211rz ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงยี่ห้อและรุ่นอย่างชัดเจน ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคแบบกว้างๆ หรือคุณสมบัติเทียบเท่า แต่ได้ระบุยี่ห้อและรุ่นนี้เพียงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ยี่ห้อและรุ่นดังกล่าวมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวในโลก และมีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยเพียงรายเดียวเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ผลิตยี่ห้ออื่นที่มีคุณภาพดีไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ นั่นหมายความว่าการรถไฟฯ ล็อกสเปกให้ผู้ผลิตยี่ห้อนี้และรุ่นนี้เท่านั้น ซึ่งมีอยู่เพียงรายเดียวในโลก

2.การรถไฟฯ ตั้งราคากลางสูงเกินจริง

การรถไฟฯ ตั้งราคากลางเครื่องถ่ายทอดกำลังหรือเทอร์โบยี่ห้อ Voith รุ่น T211rz จำนวน 5 ชุด วงเงิน 37.343 ล้านบาท หรือชุดละ 7.47 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่การรถไฟฯ ของประเทศอินเดียเคยซื้อยี่ห้อและรุ่นเดียวกันนี้มาก กล่าวคือการรถไฟฯ อินเดียซื้อชุดละ 2.20 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ.2558 นั่นคือการรถไฟฯ ของไทยซื้อแพงกว่าการรถไฟฯ ของอินเดียถึง 240%

ดังนั้น การที่การรถไฟฯ ระบุชัดถึงยี่ห้อและรุ่นของเทอร์โบเช่นนี้ทำให้การรถไฟฯ เสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพและราคา ส่งผลให้ราคากลางสูงเกินจริง หากการจัดซื้อจัดจ้างในการรถไฟฯ ยังคงมีการล็อกสเปกและการตั้งราคากลางที่สูงเกินจริง ไม่หมดไปเสียที เห็นทีว่าการพัฒนารถไฟไทยจะยังคงริบหรี่ แล้วจะปล่อยให้การรถไฟฯ รับผิดชอบรถไฟความเร็วสูงได้หรือ