posttoday

"ข้อแนะนำ" ครบรอบ20ปีลอยตัวเงินบาท

02 กรกฎาคม 2560

เฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij

เฟซบุ๊ก Korn Chatikavanij

วันนี้ครบรอบ 20 ปีลอยตัวเงินบาท จากประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะผู้บริหารสถาบันการเงินคนหนึ่งในยุคนั้น ผมมีข้อแนะนำเล็กน้อยให้กับทุกคนในยุคปัจจุบัน

1. โลกนี้ไม่มีของฟรี

ผลตอบแทนสูงๆแบบไม่มีความเสี่ยงไม่มี ในยุคนั้นเงินบาทผูกอยู่กับเงินดอลล่าร์แบบตายตัว 25 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์ นายแบงค์กู้เงินดอลล่าร์ที่ 6% เพื่อมาปล่อยกู้ต่อเป็นเงินบาทที่ 12% เพราะไม่คิดว่ามีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน พอมีการลอยตัวค่าเงิน และค่าเงินบาทหายไปครึ่งหนึ่งแบงค์มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

2. อย่าลืมตัว

ช่วงนั้นใครๆก็ประเมินตนเป็นนักค้าเงิน (กู้ดอลล่าร์ถูกๆมาฝากกินดอกเบี้นในไทยแพงๆ) หรือเป็นนักพัฒนาที่ดิน (กู้เงินดอกเบี้ยตํ่ามาซื้อหรือสร้างตึกประดับบารมี) หรือเป็นเซียนหุ้น (เจ้าของกิจการกู้เงินมาซื้อหุ้นตัวเอง เพราะกลัวหุ้นไม่ขึ้นแล้วจะเสียหน้า)

ทั้งหมดนี้คือการ 'ลืมตัว' ลืมว่าหน้าที่ อาชีพ ทักษะ และความสามารถของตนคืออะไร ภาษาฝรั่งเขาบอกว่าให้เรา 'stick to what you know' (ทำเรื่องที่ทำเป็น)

3. มีสติ คิดเอง ระวังกระแส

จริงๆถ้าทุกคนสมัยนั้นหยุดคิดสักนิดก็คงพอติดได้ว่าฟองสบู่มันใกล้จะแตก เป็นไปได้อย่างไรที่มูลค่าบริษัทหลักทรัพย์ไทยสูงกว่าบริษัทหลักทรัพย์ระดับโลกอย่าง Merrill Lynch? เป็นไปได้อย่างไรที่เรากู้เงินได้โดยแทบไม่ต้องบอกแบงค์หรือนักลงทุนว่าเราจะเอาเงินไปทำอะไร? เป็นไปได้อย่างไรที่คนไทยสามารถซื้อบ้านที่แพงที่สุดในโลกจากฝรั่งได้ แถมยังมองว่าได้ของถูก?

4. อย่ามัวเชื่อ 'ผู้ที่อยู่ในตำแหน่ง'

อย่างน้อยต้องเผื่อไว้ว่าเหล่าผู้ว่าฯรัฐมนตรีฯอธิบดีฯและอาจารย์ทั้งหลาย รวมไปถึงนักวิเคราะห์และกูรูทุกประเภท ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องทั้งหมด และบางคนอาจจะรู้น้อยอย่างน่าตกใจ

5. อย่ามัวคิดเข้าข้างตัวเอง

สัญญานเตือนภัยตอนนั้นมีเยอะ หลายคนก็ได้ยินแต่ก็ไม่อยากฟัง เวลาใดที่เราเชื่ออะไรแบบปักใจ เวลานั้นคือจังหวะที่ยิ่งต้องระวัง

6. เชื่อในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หลักคิดนี้ใช้ได้กับทุกอาชีพ เคารพความเสี่ยง ทำความเข้าใจกับความกลัว บริหารความโลภ ลดอัตตา อยู่ในความพอดี และเน้นประโยชน์ในระยะยาว

ทางลัดไม่มีครับ ถึงมีก็โคตรเสี่ยง หากรู้ว่าใช้ทางลัดอยู่ก็ระวังตัวให้ดี เมื่อ 20 ปีที่แล้วมีแต่คนหลงผิด นึกว่าทางลัดเป็นทางหลัก เลยพลัดตกเหวกันเป็นแถว