posttoday

อย่าให้รถไฟความเร็วสูง เป็นช่องทางหาเงินทอน

25 มิถุนายน 2560

เฟซบุ๊ก THIRACHAI PHUVANATNARANUBALA

เฟซบุ๊ก THIRACHAI PHUVANATNARANUBALA

อย่าให้รถไฟความเร็วสูง เป็นช่องทางหาเงินทอน

ในแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ ผมไม่ได้คัดค้านการมีรถไฟความเร็วสูง แต่ที่ผมไปให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญคัดค้านกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทในสมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ฯ เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้น เนื่องจากผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการหาเงินโดยการออกเป็นพระราชกำหนด และเป็นการใช้เงินนอกระบบงบประมาณที่รัฐสภาไม่สามารถควบคุม

ถ้าพิจารณาเฉพาะความต้องการบริการรถไฟภายในประเทศไทย ผมเห็นว่าการทำรางคู่ 1 เมตรตามเดิมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นการลงทุนที่พอเพียงและคุ้มค่าที่สุดอยู่แล้ว และเห็นว่าควรทำโครงการนี้ เป็นเรื่องแยกต่างหากจากรถไฟความเร็วสูง คือไม่ว่าจะทำรถไฟความเร็วสูงหรือไม่ ก็ยังควรทำระบบรางคู่ 1 เมตรทั่วประเทศไปด้วย เพราะมีการลงทุนเดิมอยู่แล้วมากมาย การลงทุนเพิ่มเติมจึงเป็นการต่อยอด และทำให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้ง่าย

ถ้าพิจารณาเฉพาะความต้องการที่จะขยายบริการรถไฟที่เชื่อมโยงระหว่างไทยกับอินโดจีน ก็ต้องมีการเจรจากับประเทศอินโดจีน ชักชวนให้ทุกประเทศเชื่อมโยงกันด้วยรางคู่ 1 เมตรอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ เพราะประเทศส่วนใหญ่ใช้ราง 1 เมตรอยู่แล้ว จึงจะเป็นการตอกย้ำว่า การทำโครงการรางคู่ 1 เมตรนั้น มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้สูง

แต่ถ้าจะก้าวสูงขึ้นอีกขั้นหนึ่ง โดยทำรถไฟความเร็วสูง หรือแม้แต่ความเร็วปานกลาง ก็จำเป็นต้องใช้ราง 1.43 เมตร เพราะเป็นระบบรางที่เชื่อมโยงกับสากลในระบบใหญ่ของเอเซียและยุโรปได้ โดยในบริเวณที่เป็นภูเขา ก็ต้องมีการทำอุโมงค์มากขึ้น เพราะราง 1.43 เมตรไม่สามารถคดเคี้ยวไปตามไหล่เขาได้สะดวกเหมือนราง 1 เมตร ดังนั้น การจะทำรถไฟความเร็วสูง หรือแม้แต่ความเร็วปานกลาง หรือไม่นั้น ควรจะพิจารณาเป็นโครงการแยกต่างหากจากโครงการรางคู่ 1 เมตรทั่วประเทศ และทำเป็นสองระบบแยกจากกัน

รัฐบาลจะต้องชี้ต่อประชาชนว่า ถ้ามีการทำรถไฟความเร็วสูง หรือความเร็วปานกลางนั้น จะเพื่อวัตถุประสงค์ใด

ซึ่งมีความเป็นไปได้ 3 ด้าน ด้านที่หนึ่ง เพื่อขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ ด้านที่สอง เพื่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ หรือ ด้านที่สาม เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งแต่ละด้านมีความคุ้มค่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ด้านที่หนึ่ง เพื่อขนส่งผู้โดยสารเฉพาะภายในประเทศนั้น มีความคุ้มค่าในตัวเองน้อยที่สุด เพราะต้องแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำ และกับการเดินทางโดยทางด่วนพิเศษ จึงคาดได้ว่าจะขาดทุนเป็นเวลานาน จึงจะต้องมีการพิจารณาผลดีทางเศรษฐกิจนอกสายรถไฟ เช่น การสร้างเมืองใหม่ การทำศูนย์ราชการใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การพัฒนาเมื่องใหม่ก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะข้างทางที่รถไฟวิ่งนั้น ไม่สามารถพัฒนาที่ดินได้เลย ต้องมีการทำรั้วกั้นมิให้สัตว์เข้าไปในพื้นที่ ส่วนการจะพัฒนาเมืองในจุดที่รถไฟหยุดนั้น ถ้ากำหนดจุดสถานีหยุดหลายจุด ก็จะผิดวิสัยรถไฟความเร็วสูง

สำหรับวัตถุประสงค์ด้านนี้ การคัดเลือกและจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการ ไม่จำเป็นต้องบีบแคบเฉพาะประเทศจีน แต่สามารถเปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างหลากหลาย

ด้านที่สอง เพื่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศนั้น จะต้องอาศัยผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างจีนกับไทยและประเทศอินโดจีนเป็นฐานเริ่มต้น และในอนาคตระยะยาว ต้องหวังว่าจะมีผู้โดยสารที่เดินทางจากไทย ไปผ่านจีน และต่อเนื่องไปยังยุโรป รวมทั้งในขั้นต่อไป การเดินทางอาจจะขยายลงไปถึงมาเลเซียและสิงค์โปรอีกด้วย ซึ่งผลตอบแทนในด้านที่สองนี้ ถ้าเป็นการดำเนินโครงการที่เสริมด้านที่หนึ่ง ก็จะทำให้ผลตอบแทนในด้านที่หนึ่งสูงขึ้นไปด้วย

อย่างไรก็ดี ในด้านการขนส่งผู้โดยสารนั้น ถ้าเปรียบเทียบสายรถไฟในยุโรปที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างเมืองต่างๆ เป็นเครือข่ายใยแมงมุมอย่างกว้างขวางและสะดวกนั้น สายรถไฟส่วนใหญ่จะมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะคนในยุโรปมีการย้ายถิ่นฐานระหว่างประเทศต่างๆ ไขว้กันจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นต้องเดินทางไปมาหากันตลอดเวลา

เนื่องจากกรณีการเชื่อมโยงในขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศต่างๆ ในอินโดจีน จะสามารถใช้ระบบรางคู่ 1 เมตรได้สะดวกอยู่แล้ว ถึงแม้ความเร็วจะต่ำกว่า แต่ก็จะเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ โดยผู้ที่มีฐานะดีกว่ายังสามารถใช้เครื่องบินและเดินทางด้วยรถยนต์บนทางด่วนพิเศษเสริมได้ ดังนั้น ถ้าขยายมุมมองไปกว้างขวางกว่าอินโดจีน ก็จะต้องอาศัยฐานผู้โดยสารระหว่างจีนและประเทศในอินโดจีนเป็นสำคัญ

แต่ขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นที่ประชากรในจีนจะต้องเดินทางลงมายังไทยและอินโดจีนเป็นประจำ ดังนั้น ปริมาณผู้โดยสารในส่วนนี้ จะต้องใช้เวลาบ่มเพาะอีกนานกว่าจะคุ้มทุน ดังนั้น ถึงแม้จะพิจารณาโครงการในด้านที่สอง เป็นการเสริมโครงการในด้านที่หนึ่ง ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเฉพาะในส่วนของโครงการในด้านที่สอง น่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำ และกว่าจะแก้ปัญหาขาดทุนได้ ก็จะต้องใช้เวลานาน

ส่วนด้านการจัดซื้อจัดจ้างนั้น เนื่องจากการเชื่อมโยงไปยังยุโรป จะต้องแล่นรถไฟผ่านจีน และการเชื่อมโยงต่อเนื่องไปยังเมืองต่างๆ ของจีน ก็ต้องใช้ระบบรางและระบบควบคุมรถไฟของจีน ดังนั้น การจัดซื้อจัดจ้าง จึงหนีไม่พ้นต้องเลือกจีน

ด้านที่สาม เพื่อขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนั้น วัตถุประสงค์นี้เป็นข้อเดียวที่จำเป็นต้องใช้ราง 1.43 เมตร และจะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด เพราะสามารถส่งสินค้าผ่านพรมแดนได้สะดวก โดยไม่ต้องย้ายสินค้าจากตู้รถไฟราง 1 เมตร ไปบรรจุซ้ำในตู้รถไฟราง 1.43 เมตร และเนื่องจากประชากรจีนนับวันจะมีฐานะดีขึ้นๆ จึงจะต้องการบริโภคสินค้าที่สดใหม่และทันฤดูกาลมากขึ้น ดังนั้น การขนส่งทางรถไฟจากอินโดจีนไปยังประเทศจีน จะช่วยส่งเสริมการค้าขายสินค้ามูลค่าเพิ่มได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นจุดที่ได้เปรียบในการขนส่งทางบกผ่านพรมแดน เข้าไปแคว้นยูนนาน เพราะการผ่านขั้นตอนพิธีการศุลกากร จะกระทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าการขนส่งทางเรือผ่านท่าเรือทางชายฝั่งตะวันออกหลายเท่า เนื่องจากขณะนี้ ทางการจีนได้อนุญาตให้มีการจัดตั้งโกดังปลอดภาษีในหลายเมือง โดยเฉพาะมีศูนย์ใหญ่ที่เมืองคุนหมิงเพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังแคว้นอื่นๆ ศุลกากรจีนจึงอนุญาตให้ขนส่งตรงเข้าไปที่โกดังปลอดภาษีโดยเร็ว

แต่ในด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศนั้น ถ้าไทยสามารถจัดมือกับเมียนมาในการพัฒนาเมืองทวายให้เป็นท่าเรือนำลึก และให้เป็นศูนย์อุตสาหกรรมพื้นฐาน จะมีมิติของการเข้าเป็นจุดเชื่อมโยงในทางสายไหมยุคใหม่อีกด้วย โดยสามารถเป็นเส้รทางระหว่างจีนกับอินเดีย ซึ่งทั้งสองตลาดมีขนาดมหึมา และจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันจำนวนมากเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต รวมทั้งโครงการนำแร่ธาตุจากอัฟริกาตะวันออกมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่เมืองทวาย เพื่อส่งให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในไทย และในอินโดจีน รวมทั้งขนส่งไปยังประเทศจีนอีกด้วย

ในด้านการจัดซื้อจัดจ้างกรณีที่สามนี้ จึงหนีไม่พ้นต้องเลือกจีนอีกเช่นกัน

การที่ไทยจำเป็นจะต้องใช้เทคโนโลยีของจีนสำหรับโครงการขนส่งสินค้า จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ คสช. ตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกประกาศเพื่อยกเว้นกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในความเห็นของผม เป็นที่เข้าใจได้ สามารถอธิบายต่อประชาชนได้

แต่ปรากฏข้อมูลว่า มูลค่าของโครงการนั้น แบ่งเป็นงานด้านระบบการควบคุมการเดินรถไฟ เพียงร้อยละ 25 ที่เหลืออีกร้อยละ 75 เป็นงานก่อสร้างแบบพื้นๆ ซึ่งผู้ที่จะทำงานส่วนนี้ จะเป็นบริษัทในไทย จึงเท่ากับว่า การใช้มาตรา 44 เพื่อยกเว้นกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้างนั้น มิใช่เพื่อสนองเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องใช้บริษัทตามที่รัฐบาลจีนกำหนดเท่านั้น แต่จะมีผลครอบคลุมการให้งานแก่บริษัทไทยที่จะรับทำงานก่อสร้างด้วย ซึ่งจะเป็นงานส่วนใหญ่ 3 ใน 4 ของมูลค่างานทั้งหมด และเป็นจุดอ่อนในการทุจริตคอร์รัปชันที่น่ากลัวที่สุด

คสช. และรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ฯ จึงพึงจะต้องแก้ไข และจำกัดความเสี่ยงทุจริตคอร์รัปชันเหล่านี้

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

25 มิถุนายน 2560

ที่มา https://www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala/