posttoday

อย่ามองข้าม...‘Slow Life’

23 มิถุนายน 2560

โดย...ไพรัช วรปาณิ กรรมการอัยการ

โดย...ไพรัช วรปาณิ กรรมการอัยการ

ผู้เขียนยึด “หลักคิด” ในการเขียนบทความคือจะต้องเน้น “Content” ให้มีสาระอันทรงคุณค่าและเนื้อหาที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน อันเป็นหลักการสำคัญในการเริ่มงานเขียนในแต่ละครั้ง

ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่าวรรณคดีเปรียบเสมือนเป็นอาหารทางสมอง ฉะนั้นจึงต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้อ่านเองเพื่อการวิเคราะห์ศึกษาเองว่าอาหารสมองจานดังกล่าว ซึ่งแฝงอยู่ในรูปแบบหลากหลายชนิด ทั้งในบทความ นวนิยาย หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ดนตรี ภาพวาด จนถึงภาพยนตร์ ผู้อ่านจึงจำต้องการแยกแยะให้ออกว่าอาหารจานใด หรือวรรณกรรมชิ้นไหนเป็นวรรณกรรมที่ดี-ไม่ดี เป็นอาหารพิษ หรือเป็นอาหารบำรุงสมองอย่างแท้จริง? จึงต้องใช้เวลาอ่านศึกษาด้วยความพิเคราะห์พิจารณาในแต่ละเรื่อง แต่ละบทความให้เข้าถึง Content ในเชิงลึก

เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว ผู้เขียนจึงขอหยิบยกเอาบทความอันได้วิเคราะห์แล้วว่ามีเนื้อหาสาระอันเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางสมองและเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ท่ามกลางโลกอันวุ่นวายในปัจจุบันสำหรับผู้อ่านไม่มากก็น้อย โปรดติดตาม...

ต้องขอขอบคุณท่านอดีตสมาชิกวุฒิสภา “ใจแม่น้ำ” วัชระ ตันตรานนท์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มวีกรุ๊ปและโรงแรมฟูราม่า เชียงใหม่ ที่กรุณาส่งบทความย่อ เรื่อง “Slow Life” ซึ่งเป็นบทประพันธ์อันลือลั่น ของ “ลีโอ บาบัวต้า” มาให้ผู้เขียน เช่นเดียวกับ ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. 2 สมัย ที่ได้ส่งบทประพันธ์ “ทฤษฎีศูนย์” ก็ส่งมาให้เมื่อวันก่อน จึงขอขอบคุณผู้มีน้ำใจไมตรี ทั้งสองท่านที่นี้อีกครั้ง

เมื่ออ่านแล้วปรากฏว่า “Slow Life” คือเทรนด์การใช้ชีวิตแนวใหม่ซึ่งกำลังดังระเบิด และเป็นสิ่งที่กำลังกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลายในสหรัฐขณะนี้

“ลีโอ บาบัวต้า” เป็นนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันเชื้อสายกวม และเป็นผู้ก่อตั้งเว็บบล็อก Zen Habits ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 2.4 แสนคน และได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็นเว็บบล็อกยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกประจำปี 2010

“บาบัวต้า” มีผลงานการเขียนหนังสือมากมายหลายเล่ม แต่เล่มที่โด่งดังติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ก็คือ The Power of Less นั่นคือการแนะนำให้ใช้ชีวิตแบบช้าแต่ชัวร์เพื่อชีวิตอันสงบสุข โดยสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยบันได 9 ขั้นดังนี้

บันไดขั้นที่หนึ่ง คือ แนะให้การดำรงชีวิตที่ดีนั้นต้องรู้จักโฟกัสมากขึ้น และทำอะไรที่ไร้ประโยชน์ให้น้อยลง โดยเฉพาะแทนที่จะทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวพร้อมๆ กันนั้นจงหลีกเลี่ยงเสีย ให้เลือกทำเฉพาะสิ่งสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ไม่สำคัญก็ให้เก็บไว้ก่อน

บันไดขั้นที่สอง คือ เพียงแต่การทำอะไรให้ช้าลงก็ยังอาจไม่เพียงพอ ยังจะต้องมีสติอยู่กับปัจจุบัน เมื่อไหร่ที่คิดฟุ้งซ่านเรื่องโน้นเรื่องนี้ ให้ดึงตัวเองกลับมาอยู่กับโมเมนต์ปัจจุบันให้เร็วที่สุดและการมีสติจะก่อเกิดปัญญา ไม่ทำให้ความคิดฟุ้งซ่าน ตลอดจนการไม่คิดร้ายกับตัวเองและคนอื่น

บันไดขั้นที่สาม จงใช้ชีวิตแบบโลว์เทค ปิดมือถือและอุปกรณ์ไฮเทคทุกอย่างในช่วงวันหยุด แล้วโฟกัสกับสิ่งที่อยากทำจริงๆ ด้วยการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ไปวุ่นกับการเล่นอินสตาแกรมและเช็กอีเมลทั้งวัน ซึ่งเสียเวลาและไร้ประโยชน์

บันไดขั้นที่สี่ ต้องพยายามใส่ใจเพื่อนฝูง ครอบครัว และคนรอบข้างให้มากขึ้น คำว่า “ใส่ใจ” ต้องขีดเส้นใต้ชัดๆ เพราะเรามักสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานในลักษณะเจ๊าะแจ๊ะ มากกว่าจะใส่ใจกันอย่างแท้จริง หมั่นแสดงความห่วงใยและเอื้ออาทรต่อคนรอบข้างด้วยความจริงใจ

บันไดขั้นที่ห้า เปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ด้วยการรู้จักชื่นชมกับความงดงามของธรรมชาติบ้าง แทนที่จะอุดอู้อยู่แต่ในบ้าน นอนตากแอร์ทั้งวัน โดยการเปลี่ยนอิริยาบถลองออกมาเดินเล่นในสวนเพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์ หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเช่น การเดิน ว่ายน้ำ และขี่จักรยาน เพื่อให้ร่างกายได้สัมผัสกับสายลมแสงแดด และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติบ้าง

บันไดขั้นที่หก จงได้เปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารให้ช้าลง โดยค่อยๆ เคี้ยวเพื่อรับรู้รสสัมผัสความอร่อยของอาหารแต่ละเมนู จะสร้างความรื่นรมย์ให้กับชีวิตมากกว่าการรับประทานเร็วๆ เพื่อให้อิ่มถ่ายเดียว

บันไดขั้นที่เจ็ด จงขับรถให้ช้าลง ทั้งนี้นอกจากจะทำให้เครียดน้อยลง ยังลดการเกิดอุบัติเหตุด้วย แทนที่จะเครียดกับการจราจรบนท้องถนน ลองเปิดเพลงคลอเบาๆ เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ในบางขณะ

บันไดขั้นที่แปด เป็นขั้นที่มีความสำคัญมาก คือ การทำตัวให้มีความสุขง่ายๆ และรื่นรมย์กับทุกอย่างที่พบเจอ เรื่องนี้เชื่อมโยงกับการมีสติกับปัจจุบัน แต่เป็นก้าวที่พัฒนาไปไกลขึ้น ไม่ว่าคุณจะทำอะไรขอให้ทำด้วยความสุขและความเต็มใจ แม้แต่การล้างจานก็สามารถหาความรื่นรมย์ได้ เพียงเปลี่ยนมุมมองซะใหม่ จงเป็นน้ำครึ่งแก้วเสมอ

บันไดขั้นที่เก้า ขจัดความเครียดด้วยการสูดลมหายใจเข้าลึกๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าเร่งรีบและเหนื่อยหอบ ลองสูดลมหายใจเข้าลึกๆ ให้เต็มปอดสัก 2-3 เฮือก รับรองว่าจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้นอย่างเหลือเชื่อ และถ้าจะให้ได้ผลยิ่งขึ้นควรมีสติกับทุกลมหายใจเข้า-ออก โดยกำหนดลมหายใจเข้า-ออกเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ

ส่วน “ทฤษฎีศูนย์” บทประพันธ์ของ ดร.สมัครฯ นั้น เน้นให้รู้จักทำสิ่งที่มีให้ได้ประโยชน์มากที่สุด “เวลาเป็นประโยชน์ ผู้ที่ฉลาดย่อมใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ให้เป็นเงินเป็นทองและสามารถใช้ความว่างพักผ่อนร่างกาย จิตใจ หรือออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ระบบนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เกิดขึ้นก่อนบุคคล และวัตถุธาตุทั้งหลายในสุริยะจักรวาลดวงดาวน้อยใหญ่และโลก ต่างเดินทางและหมุนอย่างเป็นระบบ ถ้าไม่มีระบบดวงดาวทั้งหลายก็ชนโลกพัง ระบบเป็นผู้สร้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติและสร้างคน สัตว์ ทั้งหลายให้มีชีวิตอยู่ ถ้าคนไม่กินอาหารก็ตาย กินแล้วไม่ถ่ายออกก็ตาย ฉะนั้นกิน ย่อย ถ่าย จะต้องเป็นระบบและมีความสมดุลกันด้วย”

เมื่อได้อ่านข้อเขียนอันเป็นประโยชน์ ทั้งสองเรื่องที่มิตรรักส่งมาให้ดังกล่าวแล้ว จึงต้องเขียนเผยแพร่เพื่อให้เป็นวิทยาทานแก่ผู้อ่านตามปณิธาณดังที่ตั้งใจไว้แต่ต้น และเพื่อเป็นการเตือนสติต่อผู้บริหารงานใหญ่ๆ สำคัญๆ ว่าอย่าได้ใจร้อน จงไต่ตรองด้วยความใจเย็น รอบคอบ มิให้เสียการด้วย!