posttoday

ช่วยกันแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เถอะครับ

01 มิถุนายน 2560

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

ช่วยกันแก้ปัญหาน้ำท่วม กรุงเทพฯ เถอะครับ

หลังจากฝนตกหนักในคืนวันพุธที่ 24 พฤษภาคม ต่อเนื่องไปถึงเช้าวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในหลายพื้นที่ สร้างความเดือดร้อนให้กับคนกรุงอย่างสาหัสสากรรจ์ โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนนดังที่ทราบกันโดยทั่วไป

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นมาไม่ต้องการตำหนิหรือซ้ำเติมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำทุกคนที่ได้ทุ่มเทสรรพกำลังทำงานกันอย่างหนัก หามรุ่งหามค่ำเพื่อช่วยเหลือชาวกรุง ในทางกลับกัน ผมต้องการที่จะหาทางช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้กับชาว กทม.

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทุกครั้งที่ฝนถล่มกรุงและทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก ผู้บริหารกทม. มักจะออกมาชี้แจงด้วยเหตุผลเดิมๆ เหมือนเมื่อตอนที่ผมเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งเป็นเวลาผ่านมากว่า 10 ปีแล้ว แต่คำชี้แจงก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เช่น (1) ปริมาณน้ำฝนเกินความจุของท่อระบายน้ำ เนื่องจากท่อระบายน้ำมีขีดความสามารถจำกัด ทำให้ต้องใช้เวลาระบายน้ำนาน (2) มีจุดอ่อนน้ำท่วมหรือแอ่งกระทะหลายแห่ง และ (3) ประชาชนทิ้งขยะและสิ่งของเครื่องใช้ลงในท่อระบายน้ำ ลำราง คลอง และแม่น้ำ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ พร้อมกับได้รายงานคนกรุงเทพฯ ต่อว่า กทม.ได้ขุดลอกคูคลอง และท่อระบายน้ำเป็นระยะทางยาวหลายพันกิโลเมตร อีกทั้งได้พร่องน้ำหรือลดระดับน้ำให้ต่ำลง เพื่อให้คูคลองและท่อระบายน้ำมีพื้นที่รับน้ำฝนได้ นั่นคือสูตรสำเร็จในการชี้แจงประชาชน ซึ่งผมจำได้ขึ้นใจมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.

มาถึงยุคหลังๆ กทม.ได้แสดงภาพการจัดเก็บขยะและสิ่งของเครื่องใช้ที่สถานีสูบน้ำ และปากทางลงอุโมงค์ พร้อมทั้งระบุน้ำหนักของขยะที่เก็บได้ เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ เห็นใจและเข้าใจถึงปัญหาอุปสรรคในการระบายน้ำ

แต่อย่างไรก็ตาม ผมเข้าใจว่าคนกรุงเทพฯ คงไม่อยากรับรู้ว่ากทม.ได้ทำอะไรลงไปแล้วบ้าง หรือมีปัญหาอุปสรรคอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของกทม.ที่จะต้องหาทางแก้ไข แต่เขาต้องการดูที่ผลลัพธ์มากกว่า นั่นคือน้ำไม่ท่วม หรือไม่ขังเป็นเวลานาน ที่สำคัญก็คือ จะต้องไม่ทำให้เขาเดือดร้อน หลายคนอยากรู้ว่าในเมื่อกทม.เข้าใจปัญหาปัญหาดีอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่หาทางแก้ไข ทำไมเขาต้องประสบปัญหาน้ำท่วมตลอดมาทุกปี นี่เป็นคำถามที่คนกรุงเทพฯ ทุกคนต้องการคำตอบ

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำในเขตที่มีน้ำท่วมขังหลายเขต และได้รับทราบอุปสรรคในการระบายน้ำดังนี้

1. เครื่องสูบน้ำเสีย ไม่พร้อมใช้งาน ปัญหานี้เป็นมาตลอดทุกครั้งที่มีน้ำท่วม

2. เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ที่ยังคงใช้น้ำมัน (ไม่ใช้ไฟฟ้า) ซึ่งอยู่บริเวณประตูน้ำ เมื่อน้ำมันหมดจะต้องรอให้สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ขนน้ำมันมาเติม ซึ่งบางครั้งต้องรอนานถึง 3-4 ชั่วโมง ทำให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้า

3. เครื่องสูบน้ำที่สำนักงานเขตยืมมาจากสนน. ได้มาเฉพาะเครื่องแต่ไม่ได้ค่าน้ำมันมาด้วย ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เขตจะต้องบริหารการใช้น้ำมัน บางทีก็ต้องควักกระเป๋ากันเอง

4. มีบางลำรางหรือคลองที่กทม.ไม่ได้ขุดลอก และเก็บผักตบชวา วัชพืช อย่างต่อเนื่อง

5. มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ เช่น ที่คลองหลุมไผ่ เขตลาดพร้าวและเขตบางเขน มีโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำ โครงการนี้สิ้นสุดสัญญาไปตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 แต่จนถึงวันนี้งานก่อสร้างก็ยังล่าช้า เนื่องจากไม่สามารถรื้อย้ายผู้บุกรุกคลองได้ ที่น่าเป็นห่วงก็คือยังคงมีนั่งร้านสำหรับตอกเสาเข็มอยู่ในคลองเป็นระยะทางประมาณ 300-400 เมตร ซึ่งเป็นที่เก็บกักผักตบชวาและขยะได้เป็นอย่างดี ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ผมได้ไปสำรวจพื้นที่นี้เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2560

ปัญหาดังกล่าวข้างต้น กทม.สามารถแก้ไขได้หากมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอกทม.พิจารณาดำเนินการดังนี้

1. ซ้อมการระบายน้ำก่อนจะถึงหน้าฝน

ที่ผ่านมาเรามีการซ้อมหนีไฟไหม้ได้ แล้วทำไมจะซ้อมระบายน้ำไม่ได้ เหตุที่ผมเสนอเช่นนี้ก็เพราะว่าทุกปีเมื่อกทม.เจอฝนตกหนักครั้งแรก จะต้องประสบปัญหาน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว เพราะมีปัญหาด้านบริหารจัดการ เนื่องจากกทม.ห่างเหินจากการระบายน้ำไปหลายเดือนหลังจากหน้าฝนในปีที่ผ่านมา ต่อจากนั้นคนกรุงเทพฯ ก็จะได้รับฟังคำชี้แจงของกทม.ด้วยเหตุผลเดิมๆ ตลอดมาดังกล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้น การซ้อมระบายน้ำก่อนจะถึงหน้าฝนจะทำให้กทม.รู้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำ การพร่องน้ำ การจัดเก็บขยะ ผักตบชวา และการขุดลอกคูคลองมีความพร้อมหรือไม่

2. สำรวจสภาพท่อระบายน้ำ

ผมทราบว่ามีท่อระบายน้ำบางพื้นที่แอ่นตัว ไม่ได้ระดับ เนื่องจากพื้นดินทรุด ทำให้น้ำไหลได้ไม่คล่อง ส่งผลให้น้ำไหลจากท่อไปสู่คลองได้อย่างลำบาก น้ำจึงท่วมถนน กทม.จะต้องสำรวจหาท่อระบายน้ำที่แอ่นตัวและวางท่อใหม่โดยด่วน

3. สร้างประตูน้ำในคลองหลัก

กทม.ควรสร้างประตูน้ำพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำในคลองหลัก เช่น คลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร เป็นต้น เพื่อสูบน้ำและลำเลียงน้ำส่งต่อเป็นทอดๆ ไปสู่อุโมงค์ หรือแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งจะทำให้น้ำไหลจากท่อไปสู่คลอง และจากคลองไปสู่อุโมงค์ หรือแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็ว น้ำก็จะไม่ท่วมขัง

4. ห้ามปล่อยน้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียลงสู่คลองในช่วงฝนตกหนัก

กทม.จะต้องสั่งห้ามเอกชนที่รับจ้างบำบัดน้ำเสียที่โรงงานบำบัดน้ำเสียของกทม.ทุกโรงไม่ให้ปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงสู่คลองในช่วงฝนตกหนัก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำในคลองได้ เพราะปริมาณที่ถูกปล่อยออกมามีมากทีเดียว เช่น โรงบำบัดน้ำเสียดินแดงปล่อยน้ำส่งสู่คลองสามเสนวันละประมาณ 350,000 ลูกบาศก์เมตร และโรงบำบัดน้ำเสียจตุจักรปล่อยน้ำลงสู่คลองบางซื่อวันละประมาณ 150,000 ลูกบาศก์เมตร อนึ่ง เอกชนผู้รับจ้างจะพยายามปล่อยน้ำลงสู่คลองให้มากที่สุด เพราะเขาจะได้รับค่าจ้างมากตามปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมา โดยกทม.ต้องจ่ายค่าจ้างประมาณ 2 บาทต่อลูกบาศก์เมตร

5. ยกระดับถนนสายหลักที่น้ำท่วมเป็นประจำ

กทม.ควรสำรวจหาถนนที่มีน้ำท่วมเป็นประจำแล้วยกระดับให้สูงขึ้น เช่น ถนนรัชดาภิเษกช่วงตัดกับถนนลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธิน เป็นต้น บริเวณนี้มีน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ ทำให้รถต้องจอดหนีน้ำอยู่บนสะพานลอย ดังที่เห็นภาพในเครือข่ายสังคมเมื่อเร็วๆ นี้

6. วางท่อระบายน้ำบริเวณแอ่งกระทะเพิ่มเติม

กทม.จะต้องหาทางวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมให้ได้ เพื่อลำเลียงน้ำจากพื้นที่แอ่งกระทะไปสู่คลอง และจากคลองไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาหรืออุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกทม.อ้างมาตลอดว่าท่อระบายน้ำมีขีดความสามารถจำกัด ทำให้ลำเลียงน้ำจากแอ่งกระทะไปลงคลองและต่อเนื่องไปถึงปากอุโมงค์ได้ยาก ด้วยเหตุนี้ หากกทม.ไม่วางท่อระบายน้ำเพิ่มเติมเพื่อลำเลียงน้ำไปป้อนให้อุโมงค์ได้อย่างรวดเร็ว การสร้างอุโมงค์ขึ้นมาก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แม้จะสร้างอุโมงค์เพิ่มขึ้นอีกกี่อุโมงค์ก็ตาม เพราะไม่สามารถใช้อุโมงค์ได้เต็มขีดความสามารถนั่นเอง การก่อสร้างอุโมงค์จึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

กทม.ควรเร่งสำรวจพื้นที่ที่จะต้องวางท่อระบายน้ำเพิ่มเติม หากวางใต้ดินไม่ได้ ก็สร้างเป็นทางยกระดับให้เป็น “ทางด่วนน้ำ” ขนาดเล็ก เพื่อใช้ลำเลียงน้ำซึ่งจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำช่วย ในช่วงที่ไม่มีน้ำท่วม ก็อาจจะใช้เป็นทางจักรยานก็ได้

ผมมั่นใจว่า หากกทม.ทำได้เช่นนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมได้อย่างแน่นอน ถึงเวลานั้นก็ไม่ต้องเสียเวลายกแม่น้ำทั้งห้ามาชี้แจงประชาชนคนกรุงเทพฯ ด้วยสูตรสำเร็จยามน้ำท่วมอีกต่อไป