posttoday

กระบี่ Go Green

28 พฤษภาคม 2560

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด

โดย...ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กระบี่เป็นจังหวัดที่การท่องเที่ยวเติบโตมาก และเป็นจังหวัดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยว ทั้งในแง่ธรรมชาติ และการจัดการ เช่น เป็นจังหวัดที่ไม่มีบานานาโบต เจ็ตสกีชายหาด และร่มหรือเตียงผ้าใบตามชายหาด

แต่รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจนมาอยู่ในอันดับ 5 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ จ.ชลบุรี ภูเก็ต และเชียงใหม่ (บางปีก็อาจแซงเชียงใหม่ขึ้นมาที่ 4) ก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องมีการเติบโตของเศรษฐกิจที่นี่ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

แต่ในขณะที่ชาวกระบี่มีรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างมาก แต่พี่น้องชาวกระบี่ไม่เคยนิ่งนอนใจ ตั้งคำถามกับผมว่า “อาจารย์พอทราบมั้ยว่า เราชาวกระบี่ใช้ธรรมชาติไปเท่าไรแล้ว”

ผมชอบวิธีการตั้งคำถามของชาวกระบี่มากๆ

ผมเลยไปขอความช่วยเหลือจาก ดร.จตุพร เทียรมา จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มาช่วยคำนวณการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และมูลค่าการให้บริการของระบบนิเวศ หรือคุณประโยชน์ที่ระบบนิเวศมอบให้กับเรา

ดร.จตุพร ได้ใช้ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินมาเปรียบเทียบการใช้ที่ดินของ จ.กระบี่ ระหว่างปี 2550-2555

ในช่วงระหว่างปี 2550-2555 จำนวนนักท่องเที่ยวของ จ.กระบี่ เพิ่มขึ้นจาก 1.54 ล้านคน มาเป็น 3.16 ล้านคน เรียกว่าเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวภายในเวลา 5 ปี

ในช่วงเวลาดังกล่าว รายได้จากการท่องเที่ยวของ จ.กระบี่ ได้เพิ่มขึ้นจากประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท เป็น 4.8 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดเพิ่มขึ้นจาก 5 หมื่นล้านบาท/ปี เป็น 7.6 หมื่นล้านบาท/ปี

แปลว่าในช่วง 5 ปีดังกล่าวชาวกระบี่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 2.6-2.7 หมื่นล้านบาท

แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน พื้นที่เมืองของ จ.กระบี่ เพิ่มขึ้น 1.06 หมื่นไร่ แถมยังมีพื้นที่โล่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ (เช่น ที่ดินถมรอการก่อสร้างหรือรอขาย) เพิ่มขึ้นอีก 2.74 หมื่นไร่

ส่วนพื้นที่ทางธรรมชาติสำคัญๆ ที่หายไป ก็ประกอบด้วยป่าไม้หายไป 1.36 หมื่นไร่ พื้นที่ชายฝั่งหายไป 1.12 หมื่นไร่ พื้นที่ชุ่มน้ำหายไป 7,500 ไร่ และพื้นที่ไม้ยืนต้น (ที่ไม่ใช่ป่า) หายไปอีก 7,500 ไร่

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะไม่ได้มากนัก เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนหรือเปอร์เซ็นต์การใช้ที่ดิน แต่นั่นก็ทำให้ระบบนิเวศในภาพรวมเสียหายไปส่วนหนึ่ง เมื่อ ดร.จตุพร ได้เทียบเป็นมูลค่าแล้วพบว่ามูลค่าการให้บริการของระบบนิเวศแต่ละปีของ จ.กระบี่ ลดลงไปถึง 10,160 ล้านบาท

ดังนั้น แปลว่าในขณะที่ชาวกระบี่มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท มูลค่าการให้บริการของระบบนิเวศกลับลดลงกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 40% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้น

หากเจาะลึกลงถึงบริการทางระบบนิเวศที่สูญเสียไป จะพบว่าบริการทางระบบนิเวศที่สูญเสียไปมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ การช่วยกำจัดของเสียโดยธรรมชาติ การชะลอการพังทลายของดิน การช่วยอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน การบรรเทาความผันผวนของภูมิอากาศ และภาวะอากาศแปรปรวน

การสูญเสียทั้ง 5 ด้านกำลังคุกคามวิถีชีวิตของชาวกระบี่ ไม่ว่าจะในแง่ของคุณภาพของน้ำทะเลที่ลดลง (ไม่ว่าด้านความขุ่นหรือแบคทีเรีย) การเผชิญภัยพิบัติที่บ่อยครั้งขึ้น (เช่น น้ำท่วม) และความสมบูรณ์ของอาหารทะเล

เพราะฉะนั้นถ้าปล่อยไปแบบนี้ วิถีการพัฒนาของ จ.กระบี่ จะไม่ยั่งยืน

ชาวกระบี่จึงได้เสนอ 3 แนวทางหลัก หรือ 3 เสาหลักของการเติบโตที่ยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจมาก

หนึ่ง ขีดจำกัดเพื่อคงความเขียว (อย่าใช้เกิน) กล่าวคือ ชาวกระบี่จะมีการศึกษาเพื่อกำหนดขีดจำกัดการเติบโตและการใช้ประโยชน์ในพื้นที่สีเขียวหรือมิติเชิงอนุรักษ์ต่างๆ เพื่อคงรักษาความเขียวและการเติบโตที่มีคุณภาพไว้ให้ได้ โดยอาจเริ่มต้นจากพื้นที่ที่มีความสำคัญหรือมีความเสี่ยงสูง เช่น อุทยานแห่งชาติ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่

สอง การหยอดกระปุกสีเขียว (ใช้แล้วหยอดเพิ่มด้วย) กล่าวคือ ชาวกระบี่ตระหนักว่ารายได้หลายหมื่นล้านบาทที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวนั้นมาจากพื้นที่สีเขียว เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ชาวกระบี่จะหยอดกระปุกคืนกลับไปทำนุบำรุงรักษาธรรมชาติ โดยมีผู้หยอดกระปุกสีเขียวที่สำคัญอยู่ 3 ภาคส่วน คือ

ภาครัฐ สามารถหยอดกระปุกผ่านการเก็บค่าเข้าชม/ใช้พื้นที่อนุรักษ์ แต่จะต้องแบ่งส่วนมาบำรุงรักษาทรัพยากรในพื้นที่ให้มากกว่านี้ มิใช่นำรายได้ส่วนใหญ่กลับไปที่ส่วนกลางเช่นที่ผ่านมา

ภาคเอกชน สามารถหยอดกระปุกโดยการจัดทำโครงการต่างๆ เช่น การปลูกป่าชายเลน การทำเส้นทางเดินที่ไม่รบกวนธรรมชาติ การปลูกและรักษาต้นไม้ใหญ่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง

ส่วนภาคประชาชน ก็สามารถร่วมระดมทุนและร่วมกิจกรรมที่จะเพิ่มหรือพัฒนาพื้นที่สีเขียว การทำธนาคารต้นไม้ในพื้นที่ของตนได้เช่นกัน
ในภาพรวม ภาครัฐยังสามารถลดหย่อนภาษี เหมือนกับการส่งเสริมการลงทุน สำหรับกิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ด้วย รวมถึงยังสามารถสนับสนุนงบประมาณในการเพิ่มพูนทรัพยากรผ่านทางชุมชนเพิ่มขึ้น เช่น การจัดตั้งธนาคารปูม้า การจัดตั้งธนาคารต้นไม้ เป็นต้น

ภาษาวิชาการ เราเรียกแนวทางนี้ว่า Payment for ecosystem service หรือการจ่ายเงินสำหรับบริการที่ระบบนิเวศมีให้กับเรา แต่ผมชอบคำว่า “กระปุกสีเขียว” ของ จ.กระบี่ มากกว่า ฟังง่ายและมีความหมายลึกซึ้ง เพราะคำว่า “กระปุก” สะท้อนให้เห็นว่า เรายอมจ่ายสิ่งนี้ไม่ใช่เพื่อวันนี้ แต่เราหยอดเพื่ออนาคต

สุดท้าย ชาวกระบี่เห็นว่าจะต้องมี “พื้นที่ความรู้และข้อมูลสีเขียว” (ใช้อย่างฉลาดขึ้น) ที่สามารถช่วยให้คำแนะนำเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ การอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน ได้อย่างรวดเร็วทันที สอดคล้องกับพื้นที่ และที่สำคัญที่สุด ชาวกระบี่เป็นตัวหลักในการจัดการพื้นที่ความรู้นี้เอง ซึ่งคงเน้นเป็นทั้งพื้นที่ออนไลน์และพื้นที่หน้างานจริง (ซึ่งกระจายอยู่ทั่วไปใน จ.กระบี่)

ทั้งการกำหนดขีดจำกัดเพื่อคงความเขียว การหยอดกระปุกเขียว และการสร้างพื้นที่ความรู้และข้อมูลสีเขียว จะเป็นเสาหลักที่ทำให้ชาวกระบี่คงรักษาความเขียวและการเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ได้

โดยชาวกระบี่จะเริ่มศึกษาถึงขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว (อย่าใช้เกิน) การนำรูปแบบการหยอดกระปุกเขียวทั้ง 9 แบบไปใช้งานจริง (ใช้แล้วหยอดเพิ่มด้วย) และการสร้างฐานความรู้ในเชิงปฏิบัติการ (ใช้อย่างฉลาดขึ้น) ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ไร่เลย์ เกาะกลาง-คลองประสงค์ และเกาะลันตา

แม้ว่าทุกอย่างจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้น และยังจะต้องเดินทางกันอีกไกล แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า ด้วยวิธีคิดและวิธีตั้งคำถามของชาวกระบี่ การพัฒนา จ.กระบี่ จะไม่หลงใหลไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไม่ลืมหูลืมตา