posttoday

อุโมงค์ซุปเปอร์บิ๊ก ผันน้ำโขงไล่ภัยแล้งพ้นอีสาน

22 พฤษภาคม 2560

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของเราเป็นภาคที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุด กล่าวคืออีสานมีพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของพื้นที่ประเทศไทย ควบคู่ไปกับพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาล จำนวนประชากรของภาคอีสานก็มีมากที่สุดในประเทศ นั่นคืออีสานมีประชากรประมาณ 1 ใน 3 เช่นเดียวกับพื้นที่ อีสานมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของชาวอีสาน ที่สำคัญ อีสานเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่อีสานเป็นภาคที่ฝนฟ้าไม่อำนวย ทำให้อีสานของเราต้องประสบปัญหาภัยแล้งมาโดยตลอด

ที่ผ่านมา มีการพูดถึงการทำให้อีสานอุดมสมบูรณ์ มีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียง แต่จนถึงปัจจุบันนี้อีสานก็ยังคงแห้งแล้งเช่นเดิม

ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องช่วยกันทำให้อีสานมีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียง ไม่แห้งแล้งอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยให้การทำการเกษตรได้ผลเต็มที่ ผมดีใจที่ทราบว่าขณะนี้กรมชลประทานกำลังทำการศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ภาคอีสานทั้งภาครวมทั้งหมด 20 จังหวัด ไม่แห้งแล้งอีกต่อไป

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า การจะทำให้อีสานไม่แห้งแล้งนั้นจะต้องมีการดำเนินงานเป็นระยะๆ ใช้เวลารวมทั้งหมด 20 ปี และใช้งบประมาณถึง 1.8 ล้านล้านบาท โดยการดำเนินงานในระยะที่ 1 นั้นจะต้องใช้เวลา 9 ปี และวงเงินประมาณ 150,000 ล้านบาท มีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้

ระยะที่ 1 เป็นการขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 10-12 เมตร นับว่ามีขนาดใหญ่กว่าอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 5.7 เมตร และขุดคลองลำเลียงน้ำเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำโขงบริเวณปากแม่น้ำเลย อ.เชียงคาน จ.เลย ลงสู่พื้นที่ต่างๆ ใน 6 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น และชัยภูมิ รวมอุโมงค์ยาว 113 กิโลเมตร และคลองลำเลียงน้ำยาว 60 กิโลเมตร นอกจากนี้ จะต้องขุดคลองเพื่อกระจายน้ำจากคลองลำเลียงส่งไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำให้ทั่วถึงระยะทางยาวประมาณ 245 กิโลเมตร การทำเช่นนี้จะสามารถทำให้พื้นที่ใน 22 อำเภอ ของ 6 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ 1.7 ล้านไร่ มีน้ำใช้เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอที่จะไม่ทำให้พื้นที่ดังกล่าวแห้งแล้งอีกต่อไป วงเงินที่จะต้องใช้สำหรับระยะที่ 1 ประมาณ 150,000 ล้านบาท และใช้เวลา 9 ปี

ผมเห็นว่าโครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล เป็นโครงการที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ภาคอีสานพ้นจากความแห้งแล้งได้ ด้วยเหตุนี้ ผมใคร่ขอถือโอกาสนี้เรียนเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนี้

1. เร่งดำเนินงานให้โครงการบริหารจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล สำเร็จเป็นรูปธรรมอย่างเต็มระบบโดยเร็วแม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากก็ตาม เพื่อช่วยให้พี่น้องในภาคอีสานของเราทั้ง 20 จังหวัด รอดพ้นจากภัยแล้งเสียที ผมเห็นว่าตามแผนการดำเนินงานที่กรมชลประทานเสนอมาโดยใช้เวลา 20 ปีนั้นนานเกินไป

2. หากท่านนายกฯ เห็นว่า เป็นภาระหนักของรัฐบาลที่จะเร่งดำเนินงานทั้ง 20 จังหวัด ผมก็ขอเสนอให้ท่านนายกฯ เร่งดำเนินงานระยะที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นก่อนโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้พี่น้องชาวอีสานของเราใน 22 อำเภอ ของ 6 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น และชัยภูมิ ไม่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งอีกต่อไป แต่อย่าให้ต้องใช้เวลานานถึง 9 ปี ตามข้อเสนอของกรมชลประทานเลย

ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคอีสานได้เป็นอย่างดี ถึงเวลานั้นพี่น้องชาวอีสานของเราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน