posttoday

“ออสโล” แห่งนอร์เวย์ “คนเดินเท้าต้องมาก่อนพวกรถส่วนตัว”

15 พฤษภาคม 2560

คอลัมน์ Big city เรื่อง : วรรณโชค ไชยสะอาด

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ปัญหาหนักใจของคนเดินทางด้วยระบบสาธารณะในบ้านเราคือ การรอคอยอย่างไร้วี่แวว ไม่มีความแน่นอนเรื่องเวลา สภาพรถเมล์ทรุดโทรม สภาพทางเท้าเละเทะ ตลอดจนการจราจรอันแสนติดขัด

คนหนุ่มอย่างผมแต่ละวันใช้เวลาอยู่บนท้องถนนถึง 4 ชั่วโมง เดินทางไปกลับจากบ้านย่านปทุมธานีสู่ออฟฟิศที่คลองเตย ด้วยรถสาธารณะแทบครบทุกชนิด ไล่ตั้งแต่ รถเมล์ รถตู้  รถไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
เสียค่าใช้จ่ายราวๆ 20% ของเงินเดือน

น่าเบื่อและสิ้นเปลืองมาก...แต่ชีวิตก็ต้องดิ้นรน

ขณะที่เราเผชิญหน้ากับความย่ำแย่ “กรุงออสโล” เมืองหลวงของนอร์เวย์ กำลังเดินหน้าไปสู่คุณภาพชีวิตอันน่าอิจฉาเมื่อพวกเขาประกาศเป้าหมายอันท้าทายในการพัฒนาว่าจะขอเป็นเมืองปลอดรถยนต์ภายในปี 2019 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า (เริ่มประกาศเมื่อปี 2015) โดยนายกเทศมนตรี นักวางผังเมืองไปจนถึงประชาชนคนเดินเท้าได้แสดงให้เห็นว่า ตัวเองมีความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงและยินดีมากหากทางการจะสร้างเมืองที่ปลอดรถยนต์

ออสโล พัฒนาเมืองภายใต้แนวคิด “คนเดินเท้าต้องมาก่อนเป็นอันดับ 1” ทำการปรับเลนถนนให้แคบลง เพิ่มพื้นที่แก่คนเดินเท้าและทางจักรยาน โดยสิ้นปี 2017 ออสโลจะมีทางจักรยานถึง 60 กิโลเมตรและไม่เหลือพื้นที่สำหรับจอดรถริมถนนอีกต่อไป

“คนเดินเท้ามาก่อนเสมอ เมืองแห่งนี้เป็นมิตรกับคนเดินเท้าและจักรยาน” นั่นคือสิ่งที่พวกเขาเข้าใจตรงกัน

หน่วยงานจักรยานของออสโลตัดสินใจออกแบบให้การขับรถในเมืองเป็นเรื่องยากลำบากขึ้น แม้ว่าออสโลจะไม่ได้มีชื่อเสียงในฐานะของเมืองจักรยานอย่างที่อื่นๆในยุโรป แต่จักรยานก็ได้รับความนิยมและกำลังถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงหากใครไม่มีเป็นของตัวเองก็สามารถใช้จักรยานที่ทางการจัดเตรียมไว้ให้ได้ด้วย

กุญแจสำคัญอีกดอกที่พาออสโลไปสู่เมืองปลอดรถยนต์ก็คือระบบขนส่งสาธารณะ พวกเขาคำนึงเรื่องความตรงต่อเวลาและรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ รถเมล์มีประตูเข้าออกถึง 4 ประตู เพื่อเอื้อให้การเข้าออกนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและยังย่นระยะเวลาการจอดแต่ละป้ายรถเมล์ด้วย พวกเขาเห็นว่าการหยุดแต่ละป้ายหากใช้เวลานาน จะส่งผลให้การเดินทางด้วยรถเมล์นั้นนานไปด้วย และในที่สุดผู้คนก็จะเลือกใช้รถยนต์แทน

ดูความคิดของเขาสิครับ จะไม่ให้อิจฉาได้อย่างไร...เห็นส่วนร่วมมากกว่าส่วนตัว

 

“ออสโล” แห่งนอร์เวย์ “คนเดินเท้าต้องมาก่อนพวกรถส่วนตัว”

 

จริงๆ ว่าไปแล้ว การสร้างและออกแบบทางเท้าให้ดีนั้นทำให้สังคมและประเทศชาติพัฒนาได้อย่างมาก

ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบและพัฒนาผังเมือง (UddC) เคยบอกให้ฟังว่า การออกแบบพื้นที่ให้สามารถเดินไปไหนได้อย่างสะดวก จะทำให้คนในเมืองลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ถึง 10% จากกิจกรรมทางกายภาพสูง เผาผลาญแคลลอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่สอง ในมุมเศรษฐกิจ เมืองที่ลงทุนพัฒนาทางเท้า ทางจักรยาน สามารถดึงดูดให้ผู้คนจับจ่ายใช้สอย ผลประโยชน์ตกอยู่กับร้านค้าเล็กๆ หรือโชห่วย เพราะคนเดิน คนขี่จักรยานมีโอกาสและความถี่สูงในการจับจ่ายมากกว่าพวกคนที่นั่งอยู่บนรถ

ประการที่สาม เป็นมุมมองด้านสังคม เมืองที่สามารถเดินได้อย่างสบาย คนในพื้นที่มีแนวโน้มที่จะรู้จักย่านของตัวเอง โดยเฉพาะรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ดี และทำให้มีความห่วงใยในสภาพแวดล้อมที่ตัวเองอาศัย รวมไปถึงได้สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน

ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อไปเนื่องให้ชุมชนมีความปลอดภัย เข้มแข็งและน่าอยู่มากขึ้น

หากมองให้ลึกกว่านั้น เมืองที่มีคนเดินเยอะ พบปะเจอกันบ่อย มีแนวโน้มจะมีจิตสำนึกของความเท่าเทียมกันสูง จากความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างกับคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งนั่นยังเป็นรากฐานของความเป็นประชาธิปไตยด้วย

เมืองที่เราฝันไว้ว่าคนเดินเท้าจะเป็นใหญ่ ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ แต่ต้องหวังพึ่งวิสัยทัศน์และการวางแผนของผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตามหากมองจากประวัติศาสตร์และภาพในปัจจุบัน ดูแล้วเป็นไปได้ยากและคงอีกนานสำหรับกรุงเทพฯ

เมืองแห่งนี้ให้ความสำคัญกับรถยนต์มากกว่าคนเดินเท้า จากผลการศึกษาของโครงการเมืองเดินได้เมืองเดินดี พบว่า คนกรุงบางคนใน 1 ปี ใช้เวลาอยู่บนรถมากถึง 800 ชั่วโมงหรือ 1 เดือนกับ 3 วัน แถมยังมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงมากหากเทียบกับคนในเมืองหลวงของภูมิภาคอาเซียน โดย 1 ใน 5 ของรายจ่ายถูกแบ่งเป็นค่ารถและค่าน้ำมัน

กรุงเทพฯ ขาดความร่วมมืออย่างจริงๆ จังๆ จากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง... ฝันร้ายเลยตกอยู่กับพี่น้องประชาชนอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ลองชมคลิปวิดีโอจาก Street Films  แล้วจะรู้ว่าพวกเขาจริงจังแค่ไหนในการพัฒนาเมืองของตัวเองบนพื้นฐานของความเป็นส่วนร่วมมากกว่าส่วนตัว 

Oslo: The Journey to Car-free from STREETFILMS on Vimeo.