posttoday

แนะ "กทม." หลังล้มประมูล "บีอาร์ที"

09 พฤษภาคม 2560

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

เฟซบุ๊ก  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

แนะ 'กทม.' หลังล้มประมูล 'บีอาร์ที'

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 ผมได้โพสต์บทความเรื่อง "จับตาประมูลบีอาร์ที" ซึ่งมีใจความโดยสรุปได้ว่า ผมเห็นด้วยที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตัดสินใจให้บริการรถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือบีอาร์ที) ต่อไป โดยมอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ซึ่งเป็นบริษัทของกทม.เป็นผู้จัดหาผู้เดินรถ เคทีได้เปิดประมูลให้บริษัทที่สนใจจะเป็นผู้เดินรถเข้าแข่งขัน ซึ่งผมเห็นด้วยแต่ได้ท้วงติงว่าข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference หรือทีโออาร์) ที่เคทีเขียนขึ้นมานั้นไม่เป็นธรรม เนื่องจากเคทีได้ระบุไว้ในทีโออาร์ ข้อ 9.6 ว่า

“ผู้รับสิทธิจะต้องจัดให้มีรถโดยสารอย่างน้อย 25 คัน” โดยรถโดยสารจะต้องมีคุณสมบัติเหมือนบีอาร์ทีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ามีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นคือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสผู้เดินรถบีอาร์ทีในปัจจุบันที่มีรถบีอาร์ทีจำนวน 25 คัน อยู่ในมือพร้อมแล้ว ส่วนบริษัทอื่นอีก 3 บริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลไม่มีรถบีอาร์ทีอยู่ในมือเลย ด้วยเหตุนี้ การเขียนทีโออาร์เช่นนี้จะทำให้กทม. และเคทีถูกกล่าวหาได้ว่าล็อกสเปกให้บีทีเอส

จะเป็นเพราะบทความดังกล่าวของผมหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับข้อมูลมาว่าเคทีได้ตัดสินใจยกเลิกการประมูลแล้ว โดยเคทีได้มีหนังสือลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2560 เรื่อง ขอยกเลิกการยื่นข้อเสนอรับสิทธิเป็นผู้เดินรถ โครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ถึงทุกบริษัทที่สนใจเข้าร่วมประมูลความว่า

"เนื่องจากบริษัท (เคที) มีเหตุต้องแก้ไขข้อกำหนดให้สิทธิเดินรถ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นบริษัทจึงขอยกเลิกการยื่นข้อเสนอรับสิทธิเป็นผู้เดินรถในวันดังกล่าว (12 พฤษภาคม 2560) ทั้งนี้ หากบริษัทได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว บริษัทจะมีหนังสือเชิญให้ท่านยื่นข้อเสนอใหม่ต่อไป”

ผมคาดว่าคงเป็นเพราะการสั่งการจากท่านผู้ว่าฯ กทม. (พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง) จึงทำให้เคทียกเลิกการประมูล และเคทีจะปรับแก้ทีโออาร์ให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป ทั้งนี้ เพื่อทำให้มีการแข่งขันทั้งด้านราคาและคุณภาพอย่างแท้จริง ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้โดยสาร และจะลดภาระการขาดทุนของกทม.

ผมขอชื่นชมท่านผู้ว่าฯ กทม.ในการตัดสินใจครั้งนี้ และขอถือโอกาสนี้เสนอให้ท่านพิจารณาดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ให้บีทีเอสคืนกรรมสิทธิ์รถบีอาร์ทีทั้งหมดให้กทม. เพราะกทม.เป็นผู้ซื้อรถบีอาร์ทีในปี พ.ศ.2553 โดยใช้เงินของกทม. ดังนั้น กทม.จะต้องเป็นเจ้าของรถบีอาร์ที ไม่ใช่บีทีเอสดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กล่าวคือ กทม.ได้ผ่อนชำระค่ารถบีอาร์ทีจำนวน 25 คัน เป็นเวลา 7 ปี รวมเป็นเงิน 213,053,076 บาท หรือคิดเป็นคันละประมาณ 8.52 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่แพงมาก

ผมได้เปรียบเทียบราคารถบีอาร์ทีกับรถเมล์เอ็นจีวีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กำลังจัดซื้อและเป็นข่าวโด่งดังเมื่อไม่นานมานี้ รถทั้งสองประเภทนี้มีสเปกใกล้เคียงกันมาก ในขณะที่รถเมล์เอ็นจีวีมีราคากลางเท่ากับ 3.55 ล้านบาทต่อคัน รถบีอาร์ทีควรมีราคากลางในปี พ.ศ.2553 อยู่ที่ 4.15 ล้านบาทต่อคัน กรณีกทม.ต้องผ่อนชำระเป็นเวลา 7 ปี หากคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี จะทำให้ราคารถรวมดอกเบี้ยเป็น 6.18 ล้านบาทต่อคัน ซึ่งต่ำกว่าราคาที่กทม.ซื้อถึง 2.34 ล้านบาทต่อคัน (8.52-6.18)

น่าเจ็บใจมั้ยครับ ซื้อแพงแล้วแต่กลับไม่ได้เป็นเจ้าของรถอีก

2. เมื่อกทม.ได้เป็นเจ้าของรถบีอาร์ทีทั้งหมดแล้ว กทม.สามารถให้ผู้ได้รับสิทธิเดินรถเช่ารถไปใช้ให้บริการรับส่งผู้โดยสารได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องระบุไว้ในทีโออาร์ข้อ 9.6 ว่า “ผู้รับสิทธิจะต้องจัดให้มีรถโดยสารอย่างน้อย 25 คัน” ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย

ผมมั่นใจว่าการดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่เกินความสามารถของท่านผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะทำให้ช่วยลดภาระการขาดทุนของกทม.ได้ และที่สำคัญ จะทำให้ผู้โดยสารได้รับการบริการที่ดีเหมาะสมกับค่าโดยสาร