posttoday

เรือดำน้ำ รถไฟฟ้า และนโยบายออฟเซต กรณีศึกษาที่รัฐบาลไทยควรพิจารณา

02 พฤษภาคม 2560

ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เเละ เรือเอกบดินทร์ สันทัด นักวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ

โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / เรือเอกบดินทร์ สันทัด นักวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ กลุ่มบริการทางวิชาการและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนทั้ง 2 คนได้มีโอกาสเผยแพร่แนวความคิดผ่านสื่อในหลายรูปแบบเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ในการกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อ (เน้นว่าเป็นการจัดซื้อของภาครัฐ) เพื่อเอื้อให้เกิดกระบวนการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ แทนที่จะเพียงทำโครงการจัดซื้อขนาดใหญ่อย่างโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของกระทรวงคมนาคม หรือแม้แต่โครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ซึ่งที่ผ่านมาจะจบลงด้วยการได้สินค้าเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศ ซึ่งมักมีราคาแพง ต้องการทักษะการดูแลบำรุงรักษาสูง ต้องการชิ้นส่วนเพื่อการซ่อมบำรุงซึ่งมักไม่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ หรือแม้แต่ต้องมีการส่งชิ้นงานกลับไปซ่อมแซมในต่างประเทศเนื่องจากไม่มีเครื่องมือในประเทศไทย ในต่างประเทศที่ผู้นำประเทศมียุทธศาสตร์ว่าด้วยการส่งเสริมให้ความต้องการใช้สินค้าเหล่านั้นของประเทศนำไปสู่โอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีจึงมักมีความพยายามในการเจรจากับประเทศผู้ผลิตสินค้า กำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อที่จะเอื้อให้เกิดกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมช่างและวิศวกรให้ได้สัมผัสกระบวนการออกแบบ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตชิ้นส่วน การประกอบ การพัฒนาความสามารถด้านการซ่อมบำรุง (MRO, maintenance, repair, overhaul) ตลอดจนขีดความสามารถที่จะต่อยอดเป็นงานวิจัยและพัฒนาจนสามารถมีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เพื่อความยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด เรื่องราวทำนองนี้ผู้เขียนยอมรับว่ายากในการสื่อสารให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจได้ เนื่องจากนอกจากจะมีประเด็นทางการเมืองให้โต้แย้งถกเถียงกันจนสับสนได้ง่ายๆ แล้ว ก็ยังมีประเด็นทางเทคนิคที่อาจจะค่อนข้างซับซ้อนในการทำความเข้าใจ แต่เนื่องจากในขณะนี้ประเด็นข้อโต้แย้งในเรื่องความจำเป็นของการจัดซื้อของภาครัฐที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะกรณีเรือดำน้ำของกองทัพเรือ รถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายสีต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม กำลังได้รับความสนใจ ผู้เขียนทั้งสองซึ่งมีโอกาสทำกิจกรรมทางวิชาการร่วมกันหลายครั้งจึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีในการให้ข้อมูลเชิงวิชาการแก่สังคม เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป โดยจะขอยกตัวอย่างกระบวนการจัดซื้อสินค้าทำนองนี้ในต่างประเทศเพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย

ยกระดับขีดความสามารถของประเทศด้วยนโยบายออฟเซต

เพื่อทำให้การยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศผ่านกระบวนการจัดซื้อของรัฐเป็นรูปธรรม ในหลายประเทศใช้ “การชดเชย” หรือ “ออฟเซต (offset)” เป็นเครื่องมือ โดยมักเริ่มต้นจากอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีต่ำต้องซื้อจากประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีสูงกว่า สินค้าจำพวกนี้มีราคาแพง มีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและซ่อมบำรุงสูง ไม่ได้ซื้อเพราะอยากใช้งานแต่จำเป็นต้องซื้อ (เราคงไม่ได้อยากซื้อเรือดำน้ำเพราะอยากทำสงคราม ถูกไหมครับ?) สินค้าพวกนี้เมื่อหมดอายุใช้งานก็ต้องปลดประจำการ กลายเป็นซากเทคโนโลยี ทำให้ผู้ซื้อเริ่มวิตกกังวลว่าเงินที่จ่ายไปเพื่อจัดหาสินค้าเหล่านี้จะไม่คุ้มค่าการลงทุน จึงก่อให้เกิดแนวความคิดเรื่องการชดเชยหรือออฟเซต กล่าวคือ ผู้ซื้อจะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ขายต้องมีการชดเชยเพื่อทำผู้ซื้อได้รับ “อะไรบางอย่าง” ที่มีคุณค่าต่อประเทศ เช่น ซื้อเครื่องบินรบ พร้อมเงื่อนไขออฟเซตว่าผู้ขายจะกำหนดให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศของผู้ซื้อไม่ต่ำกว่า 20% จะมีการตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วน หรือมีโรงงานประกอบในประเทศผู้ซื้อ (เพื่อทำให้มีการจ้างงานในประเทศ มีการพัฒนาบุคลากรในประเทศ)

“นโยบายออฟเซต” เป็นองค์ความรู้ที่มีรากฐานมาจากการศึกษาด้าน “เศรษฐศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศ (Defense Economics)”  ที่หลายประเทศในโลกนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างการต่อรองทางเศรษฐกิจกับบริษัทหรือประเทศผู้ขายยุทโธปกรณ์ กล่าวคือ เมื่อจะทำการจัดหายุทโธปกรณ์ครั้งใดจะต้องมีการชดเชยไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเพิ่มมาด้วย เพื่อชดเชยมูลค่าการจัดหานั้น นับเป็นการสร้างเงื่อนไขเฉพาะทางกฎหมายที่นอกเหนือไปจากยุทโธปกรณ์ที่จัดหามาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดสะพานที่เชื่อมต่อไปสู่การพัฒนาระดับเทคโนโลยีภาคพลเรือนและเศรษฐกิจที่ล้ำหน้า ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การลงทุนร่วมกับรัฐหรือภาคเอกชนของประเทศผู้ซื้อ การเปิดสายการผลิตชิ้นส่วน การร่วมมือวิจัยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีป้องกันประเทศขั้นสูง จนเกิดการจ้างงานด้วยแรงงานที่มีทักษะภายในประเทศขนานใหญ่ที่จะยกระดับเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เกิดผลประโยชน์ส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพองค์วัตถุ องค์บุคคลให้อยู่ในระดับสูงขึ้น ทั้งยังรองรับการพึ่งพาตนเอง ลดการขาดดุลจากการนำเข้าจากต่างประเทศ และพัฒนาไปสู่การส่งออกสินค้าที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างยั่งยืน

 

เรือดำน้ำ รถไฟฟ้า และนโยบายออฟเซต กรณีศึกษาที่รัฐบาลไทยควรพิจารณา

 

“นโยบายการชดเชย” คือ นโยบายที่ประเทศผู้ซื้อยุทโธปกรณ์ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมจากการซื้อหรือนำเข้ายุทโธปกรณ์ตามปกติ เพื่อให้ผู้ขายต้องชดเชยผลประโยชน์กลับมายังประเทศผู้ซื้อในรูปแบบต่าง ๆ โดยจะต้องมีมูลค่าเป็นสัดส่วนขั้นต่ำตามที่กำหนด เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าสัญญาการซื้อขายนั้น โดยนโยบายการชดเชย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การชดเชยโดยตรง (Direct Offset) และการชดเชยโดยอ้อม (Indirect Offset)

“การชดเชยโดยตรง” คือ การชดเชยที่เกี่ยวข้องกับยุทโธปกรณ์โดยตรงในสัญญานั้นๆ เช่น การเข้ามาลงทุนเพื่อเปิดสายการผลิตยุทโธปกรณ์หรือชิ้นส่วนของยุทโธปกรณ์ การผลิตร่วมกันหรือผลิตตามใบอนุญาต การอนุญาตขายสิทธิบัตรหรือใบอนุญาต การถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น “ส่วนการชดเชยโดยอ้อม” คือ การชดเชยที่ไม่เกี่ยวข้องกับยุทโธปกรณ์นั้นๆ แต่เป็นการช่วยเหลือส่งเสริมด้านอื่นๆ เช่น การให้คำปรึกษา การวิจัยร่วม การให้งบประมาณช่วยเหลือด้านการศึกษา อบรม ดูงาน การฝึกใช้งานและการซ่อมบำรุง เป็นต้น ทั้งนี้ การชดเชยทางตรงและการชดเชยทางอ้อมไม่ได้แยกจากกันโดยเด็ดขาด ยังมีส่วนซ้อนทับกันอยู่บ้าง และการชดเชยในครั้งหนึ่ง ๆ อาจมีทั้งสองอย่างอยู่ในสัญญาด้วยก็ได้ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางทหารและพลเรือนไปพร้อม ๆ กัน

ประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับเอานโยบายชดเชยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศมาใช้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีลักษณะทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีบางประการใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว หรือเรียกในทางเศรษฐศาสตร์ว่า “เป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคยุโรป เช่น ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนีนับเป็นประเทศที่ใช้นโยบายนี้ทั้งสองด้าน คือ เป็นทั้งผู้ให้และรับการชดเชยในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมี อิตาลี กรีซ โปแลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และตุรกีด้วย สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และซาอุดิอาระเบีย ส่วนในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งได้แก่ อเมริกาใต้ หรือออสเตรเลีย นั้นจะตระหนักในเรื่องรักษาช่องทางการเปิดรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งทางทหารและพลเรือนภายในประเทศ   

เรือดำน้ำ รถไฟฟ้า และนโยบายออฟเซต กรณีศึกษาที่รัฐบาลไทยควรพิจารณา ภาพเจ้าหน้าที่ของ DSME และทหารเรือเกาหลีใต้ ในงานพิธีปล่อยเรือดำน้ำลงน้ำ เป็นเรือดำน้ำลำที่สองที่ต่อให้กับกองทัพเรืออินโดนีเซีย ที่มาของภาพ: http://www.koreatimes.co.kr/www/news/biz/2016/10/123_216676.html

ประเทศเพื่อนบ้านของเราจัดหาเรือดำน้ำกันอย่างไร?

เพื่อให้กระชับและทำให้ผู้อ่านเห็นภาพการประยุกต์ใช้นโยบายออฟเซต ผู้อ่านควรทราบว่านโยบายออฟเซตเป็นนโยบายที่กว่า 130 ประเทศทั่วโลกใช้ในการจัดซื้อจัดหาของภาครัฐ (ไม่ว่าจะเป็นยุทโธปกรณ์ หรือรถไฟ) วิธีการจัดหาเรือดำน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อินเดีย เกาหลีใต้ มีลักษณะของโครงการร่วมกันคือ ทุกประเทศผ่านกระบวนการจัดหาแบบออฟเซตทั้งสิ้น โดยจะมีรูปแบบของออฟเซตแตกต่างกันออกไปบ้าง ทั้งนี้ กระบวนการจัดหาด้วยนโยบายออฟเซตเคยเกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ประเทศในภูมิภาคยุโรปและสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอเชียตะวันออก ได้กระทำมาตลอดระยะเวลา 70 ปีจนถึงปัจจุบัน แต่ในวงวิชาการหรือสาธารณชนของไทยไม่ค่อยมีผู้ใดนำเสนอหรือให้ความสนใจนัก นโยบายออฟเซตกำลังเป็นแนวโน้มหลักของการจัดหายุทโธปกรณ์แห่งอนาคตของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุทโธปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีระดับสูง มีมูลค่าสูง และโครงการขนาดใหญ่ โดยประเทศผู้ซื้อมีความต้องการกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมมากกว่าการจัดซื้อยุทโธปกรณ์โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น การถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมทุน การผลิตตามสิทธิบัตรและการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน

1.มาเลเซีย จัดซื้อเรือดำน้ำโจมตีพลังงานดีเซลชั้น Scorpène-class จากฝรั่งเศส โดยมีการจัดตั้งการร่วมทุนระหว่าง DCNS ที่เป็นบริษัทผู้ผลิต และ Atlas Electronik ที่เชี่ยวชาญด้านโซนาร์จากเยอรมนี กับบริษัท Boustead Heavy Industry ของมาเลเซีย เป็นบริษัทร่วมทุนชื่อ Boustead DCNS Naval Corporation เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและการผลิตอะไหล่ของเรือ ระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้สนับสนุนการใช้งานเรือดำน้ำทั้งสองลำ ตามวงรอบการใช้งาน โดยมีการเยี่ยมเยือนของผู้นำมาเลเซียและฝรั่งเศสเพื่อกระชับความสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวด้วย

2.สิงคโปร์ จัดซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนี โดยวางแผนล่วงหน้าให้ ThyssenKrupp Marine Systems (TKMS) ของเยอรมนีร่วมมือกับบริษัท ST Electronics ในเครือ ST Engineering อันเป็นอุตสาหกรรมอาวุธหลักของสิงคโปร์ และ Atlas Electronik ของเยอรมนี ในการร่วมพัฒนาระบบอำนวยการในสนามรบแบบที่ออกแบบเฉพาะมาเพื่อกองทัพเรือสิงคโปร์ (tailor-made combat management system) ของเรือดำน้ำที่กำลังจะส่งมอบ และปรับคุณลักษณะเฉพาะอื่นๆ ให้เป็นไปตามความต้องการเฉพาะของกองทัพเรือสิงคโปร์

3.อินโดนีเซีย จัดซื้อเรือดำน้ำจากสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในปี ค.ศ.2011 จาก Daewoo Shipbuilding and Marine Engineering เป็นเรือดำน้ำ Type 209 ที่ได้รับใบอนุญาตการต่อเรือมาจากเยอรมนีอีกทีหนึ่ง สัญญาการจัดหานี้ เรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ แบ่งเป็น 2 ลำแรก ต่อเรือดำน้ำในเกาหลีใต้ โดยวิศวกรและช่างชาวเกาหลีใต้ทั้งหมด และมีวิศวกรและช่างของอินโดนีเซียกว่า 200 ชีวิตที่ถูกส่งไปประจำการที่เกาหลีใต้ ได้รับการฝึกสอนการต่อเรือในขณะเดียวกันไปด้วย ทั้งทางด้านการบริหารโครงการ เทคโนโลยีเรือดำน้ำ เทคนิคการสร้าง การควบคุมคุณภาพ และวัสดุที่ใช้สร้าง เมื่อ 2 ลำแรกต่อเสร็จ ลำที่ 3 จะถูกต่อโดยรัฐวิสาหกิจด้านการต่อเรือ PT PAL ของอินโดนีเซีย โดยช่างและวิศวกรชาวอินโดนีเซียทั้งหมด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป นอกจากนั้น DNCS (ที่เพิ่งร่วมทุนกับมาเลเซียไปเร็วๆ นี้) ยังเข้าร่วมโครงการด้วย และคาดว่าจะมียุทธศาสตร์ความร่วมมือในแบบเดียวกับมาเลเซีย คือ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ Minimum Essential Force ของประเทศ ที่ต้องมีเรือดำน้ำอย่างน้อย 10-12 ลำ ครอบคลุมทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศ ในอนาคตอันใกล้นี้

4.อินเดีย จัดซื้อเรือดำน้ำจากรัสเซียจำนวน 9 ลำเท่านั้น ในกฎหมาย Defence Procurement Procedure (DPP) ของอินเดีย มีข้อกำหนดให้เมื่อรัฐบาลทำการจัดหายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ สัญญาการจัดหานั้นจะต้องมีความร่วมมือที่กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์จะต้องทำการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือการจัดหาวัสดุการผลิตยุทโธปกรณ์ภายในอินเดีย ให้กับบริษัทที่ทำการผลิตภายในอินเดีย โดยจะมีมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจที่มากกว่าร้อยละ 30 ของสัญญาการจัดหาในแต่ละครั้ง ข้อกำหนดนี้สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของ Anatoly Isaikin ประธานกรรมการบริหารของ Rosoboronexport ที่เป็นหน่วยงานส่งออกยุทโธปกรณ์ของรัสเซีย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาเรือดำน้ำของอินเดียว่า อินเดียนั้นเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ด้านความร่วมมืออุตสาหกรรมทางทหาร ทาง Rosoboronexport ได้มีความมั่นใจและพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นล่าสุด เพื่อให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอินเดียพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิม โรงเรียนฝึกเรือดำน้ำขั้นสูงของรัสเซียมีชื่อเสียงระดับโลก สำนักงานออกแบบเรือ Rubin มีมากว่า 110 ปี ผลิตเรือดำน้ำโจมตีมากว่า 900 ลำ เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์กว่า 100 ลำด้วย นับเป็นสิ่งที่อินเดียประสบความสำเร็จในการเจรจากิจกรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี หลังจากที่อินเดียเป็นลูกค้าของรัสเซียมาเป็นเวลานานตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน

5.เกาหลีใต้ จัดซื้อเรือดำน้ำจากเยอรมนี โดยโครงการเรือดำน้ำของเกาหลีใต้เป็นโครงการขนาดใหญ่แบ่งเป็น 3 เฟสย่อย เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1992 เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตามสิทธิบัตร (licensed production) จากเรือดำน้ำเยอรมนี แบบ 209-1200 เริ่มตั้งแต่ KSS-1 สัญญาการจัดหานี้จำนวน 9 ลำ โดยต่อเรือดำน้ำลำแรกที่ Howaldtswerke Deutsche Werft (HDW) ของเยอรมนี โดยมีวิศวกรและช่างของเกาหลีใต้ “สังเกตการณ์” และ 8 ลำที่เหลือ HDW ส่งออกมาเกาหลีใต้มาเป็นชุด kit แล้วต่อโดยอู่ต่อเรือ Daewoo Heavy Shipbuilding & Heavy Machinery (DSME) ในเกาหลีใต้ และเข้าประจำการตามลำดับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993-2001 กิจกรรมเหล่านี้ ทำให้เกาหลีใต้เพิ่มขีดความสามารถที่สามารถต่อโครงเรือโดยต้นแบบเดิมของเยอรมนีด้วย ส่วนโครงการ KSS-2 ในปี ค.ศ. 1999 เป็นโครงการจัดหาเรือ Type 214 พร้อมระบบ AIP จำนวน 9 ลำ โดย 3 ลำแรก ต่อที่ Hyundai Heavy Industries และ DSME ร่วมผลิตบางส่วน ในขณะนี้ต่อภายในประเทศแล้วเสร็จเกือบครบทุกลำแล้ว ในเฟสต่อไปจะเข้าสู่ KSS-3 ที่จะใช้เทคโนโลยีภายในประเทศล้วน เป็นความพยายามสูงสุดในการพึ่งพาตนเองของประเทศที่ลำใหญ่ที่สุด โดยมีระวางขับน้ำถึง 3,000 ตัน มีขีดความสามารถในการปล่อยอาวุธนำวิถีจากใต้น้ำ ระยะยิงกว่า 310 ไมล์ทะเลและบรรจุหัวรบขนาด 910 กิโลกรัมได้ สามารถโจมตีเกาหลีเหนือได้ทุกอาณาบริเวณ การต่อเรือดำน้ำในโครงการ KSS-3 ไม่ได้ผ่านการผลิตตามใบอนุญาตแบบ KSS-1 และ KSS-2 และมุ่งเป้าในการต่อเรือให้ครบ 9 ลำ ในปี 2022

อย่างไรก็ดี เกาหลีใต้เองยังไม่ถึงขั้นการพึ่งพาตนเองได้ 100% เพราะในเรือดำน้ำยังมีระบบภายในหรือ sub-systems อื่นๆ เกือบทั้งหมด โดย DAPA จัดหาจากบริษัทต่างๆ ของเยอรมนีเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีระดับเสียงปฏิบัติงานระดับต่ำ เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า MTU แบบ 12V 396 SE 4 เครื่อง มอเตอร์ไฟฟ้าของ Siemens ระบบขับเคลื่อนความเร็วสูงสุด 22 นอต ระยะปฏิบัติการ 595 กม. ติดตั้งระบบบริหารจัดการสนามรบที่ทันสมัยด้วยแผงควบคุมการนำเรืออเนกประสงค์ทั้งโซนาร์ ระบบนำเรือแบบเฉื่อย Sigma 40 XP (โดย Sagem) ที่ใช้ไยโรแบบเลเซอร์และระบบอาวุธอยู่ด้วยกัน เซนเซอร์ใต้น้ำของ Atlas Electronik เพื่อการวิเคราะห์ภาพการรบและตอบสนองอย่างรวดเร็ว ระบบอาวุธติดตั้งตอปิโดขนาด 533 มม. จำนวน 8 ท่อยิง หัวรบขนาด 260 กก. ที่ยิงเป้าผิวน้ำและใต้น้ำได้ระยะสูงสุด 28 กม. ทุ่นระเบิด 28 ทุ่น จรวดฮาร์พูนแบบ UGM-84

เกาหลีใต้จัดหายุทโธปกรณ์อย่างมีกลยุทธมุ่งเป้าไปในการพึ่งพาตนเอง ยุทโธปกรณ์ที่เกาหลีใต้สามารถผลิตเพื่อเข้าประจำการในกองทัพและส่งออกได้นั้น ผ่านวิธีการผลิตตามสิทธิบัตรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบิน T-50 เครื่องบิน F-16 รถถัง K-1 เรือดำน้ำ Type 209 รถสะเทินน้ำสะเทินบก หรือ AAV เป็นต้น ด้วยวิธีดังกล่าวทำให้เกาหลีใต้ส่งออกเรือดำน้ำมายังอินโดนีเซีย จำนวน 8 ลำ พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยแบ่งเป็นเฟสๆ แบบเดียวกับที่เยอรมนีถ่ายทอดให้

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่าจากกรณีศึกษาการจัดซื้อเรือดำน้ำของทั้ง 5 ประเทศ หากพิจารณาแบบผิวเผินก็คือกระบวนการจัดซื้อเรือดำน้ำธรรมดา แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ประเทศเหล่านั้นจัดซื้อเรือดำน้ำโดยแสวงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีจากการจัดหาต่อ อย่างมียุทธศาสตร์และความร่วมมือแบบ “หุ้นส่วนระยะยาว (long-term partnership)” ซึ่งว่ากันตามจริงก็เป็นเรื่องที่ทางบริษัทผู้ขายเองก็ไม่ยินดีเท่าใดนัก เพราะส่งมอบสินค้าแล้วได้รับเงินไปเลยเป็นกระบวนการที่ง่ายกว่า แต่ประเทศผู้ซื้อเหล่านี้ทุกประเทศ ได้ตราตัวบทกฎหมายด้านการชดเชย หรือ “offset law” ขึ้นมาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมว่าบริษัทผู้ขายต้องชดเชยให้ตามที่กำหนดนี้ มิเช่นนั้นการซื้อขายก็จะไม่เกิดขึ้น

สำหรับกรณีออฟเซตในสินค้าหมวดอื่น อย่างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ผู้เขียนเคยอธิบายไว้แล้วในบทความเก่า สามารถค้นคว้าศึกษาดูได้ครับ “นโยบายออฟเซต” ทั้งสำหรับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ หรือแม้แต่รถไฟฟ้าความเร็วสูง จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยควรนำมาพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในระยะยาวครับ