posttoday

นโยบายออฟเซตเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศและ Thailand 4.0

24 เมษายน 2560

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความตอนที่แล้วผู้เขียนได้เกริ่นไว้ในช่วงท้ายว่าได้รับเกียรติจากกระทรวงการคลังของรัฐบาลมาเลเซียเชิญให้ไปร่วมการประชุมนานาชาติเรื่องออฟเซตและการค้าต่างตอบแทน GOCA-APAC 2017 (Global Offset and Countertrade Association Asia Pacific Conference 2017) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นการจัดการประชุมเรื่องทำนองนี้เป็นครั้งแรกในเอเชียแปซิฟิก โดยรัฐบาลมาเลเซียและ GOCA รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ผมทั้งหมด มีผู้แทนระดับสำคัญจากประเทศต่างๆ ไปร่วมประชุมมากกว่า 10 ประเทศ และหากประเมินด้วยสายตา ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมีผู้ให้ความสนใจจากประเทศต่างๆ ร่วมอยู่ในกิจกรรมที่ว่ามากกว่า 200-300 คน

มาเลเซียให้ความสำคัญกับนโยบายออฟเซตซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งในโปรแกรมความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม หรือ ICP (Industrial Collaboration Program) สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Strategic Industries) ของประเทศเป็นอย่างมาก โดยมีการริเริ่มแนวความคิดเรื่องออฟเซตกันตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1987 โดยท่านมหาเธร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เริ่มโครงการแรกในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (defense industry) ในปี ค.ศ.2005 และกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางจนตั้งหน่วยงานอย่าง TDA (Technology Depository Agency) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการคลังขึ้นมาดูแลได้ก็ล่วงมาถึงปี ค.ศ.2015 คือใช้เวลาพัฒนาความคิด ปรับรายละเอียดกันมาเกือบ 30 ปี ในพิธีเปิดการประชุม GOCA APAC 2017 ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีและได้กล่าวสนับสนุนนโยบายออฟเซตและโปรแกรม ICP อย่างแข็งขัน คือ “ท่านดาตุ๊กโจฮารี” (H.H. Datuk Seri Johari bin Abdul Ghani) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Finance Minister II คู่กับท่านนาจิบ ราซะก์ (Najib Razak) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศมาเลเซีย ในระหว่างการประชุมมีผู้เชียวชาญหลายสิบท่านผลัดกันขึ้นไปบนเวทีเพื่อเล่าประสบการณ์การทำนโนบายออฟเซตในประเทศของตน ทั้งในฐานะผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านนโยบายออฟเซต

ในการบรรยายตอนหนึ่งของมาเลเซีย “คุณไซลานิ ซาฟารี” (Zailani Safari) ซึ่งมีตำแหน่งเป็น CEO ของ TDA กล่าวว่าสำหรับมาเลเซียแล้ว “TDA คือประตูของการนำเข้าการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่สมัยใหม่จากต่างประเทศสู่มาเลเซีย” กล่าวคือ มาเลเซียมีนโยบายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ (ETP, Economic Transformation Program) เพื่อทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ.2020 โดยมีการผูกแผนการพัฒนา “อุตสาหกรรมเป้าหมาย” หรือ “อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์” (ซึ่งมีการปรับเป็นระยะ) เข้ากับการประเมินความต้องการในอนาคตของประเทศผ่านโปรแกรม MyForesight เช่น ผูกการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง เครื่องบิน เรือ และรถบรรทุกสินค้าสมรรถนะสูง เข้ากับการปฏิรูปการคมนาคม การพัฒนาโลจิสติกส์ ผูกการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตยุทธภัณฑ์เข้ากับกิจการกลาโหม ผูกการพัฒนาความมั่นคงด้านระบบสารสนเทศ (Cyber Security) และการพัฒนาอุตสาหกรรม IT เข้ากับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิตัล มีการสร้าง “Cyberjaya” ทางตอนใต้ของกัวลาลัมเปอร์ซึ่งเป็นเมืองสำหรับกิจกรรมวิจัยและพัฒนา มีมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง และสำนักงานของบริษัทด้าน IT จากประเทศต่างๆ เช่น CISCO และ HP เป็นต้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ดูผ่านๆ คิดตื้นๆ ก็ไม่น่าจะแตกต่างจากกิจกรรมในประเทศไทย รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ก็อาจกล่าวว่ากำลังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามพื้นที่ด่านชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือแม้แต่นโยบาย Thailand 4.0 ที่กำลังนำพาประเทศไทยไปพบกับอุตสาหกรรม “New S Curve” ตลอดจนนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมายอย่างที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยกำลังดำเนินการอยู่

ผู้อ่านที่อาจไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดเมื่อเห็นหัวเรื่องของนโยบายที่รัฐบาลกำลังทำก็อาจเข้าใจว่าเรากำลังมีหลายนโยบายที่กำลังจะประกอบร่างสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในประเทศ แต่หากท่านมีโอกาสผู้เขียนก็อยากให้ท่านพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในวงการอุตสาหกรรมดูเถิดว่าพวกเขาเหล่านั้นเข้าใจ เห็นรูปธรรมของ Thailand 4.0 หรือ Industry 4.0 อย่างไร มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่ถูกกำหนดให้มีการพัฒนาและได้รับสิทธิประโยชน์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีอุตสาหกรรมไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นมากแค่ไหน และโดยเฉพาะอุปสงค์หรือความต้องการ (demand) จากอุตสาหกรรม New S Curve ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นในรายอุตสาหกรรมมีมากและชัดเจนแค่ไหน

หลายวันก่อนมีผู้ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมแวะเวียนมาพูดคุยกับผู้เขียนและเล่าให้ฟังว่า ผู้บริหารนโยบายอุตสาหกรรมของไทยกำลังต้องการให้มีการพัฒนาแบบประเมินระดับความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมว่าอยู่ในระดับใด เพื่อใช้สำหรับพิจารณา “gap” ระหว่างระดับของพวกเขาเหล่านั้น กับระดับ 4.0 อันล้อออกมาตามคำสำคัญ “Industry 4.0”

ผู้เขียนฟังแล้วได้แต่นึกสะท้อนใจ เพราะนี่อาจจะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจและไม่น่าจะสร้างประโยชน์อันใดให้กับประเทศไทย ความน่าสนใจจากการมีโอกาสได้ศึกษา และได้ฟังยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศมาเลเซีย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย จึงไม่ใช่เพียงการส่งเสริมให้เจ้าของเทคโนโลยีจากประเทศต่างๆ เข้าไปลงทุนผ่านการชักจูงด้วยสิทธิประโยชน์ ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นไปที่ “Supply Side” จากฝั่งภาครัฐ แต่ต้องหันกลับมาพิจารณาความต้องการของประเทศในระดับยุทธศาสตร์ การวิเคราะห์ความสามารถของประเทศที่ต้องการ (ความสามารถของประชากรในอนาคต) ก่อนจะแปรรูปออกมาเป็นโครงการลงทุน เคาะตัวเลขปริมาณความต้องการใช้ เงื่อนไขที่จะทำให้อุตสาหกรรมเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และตามมาด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดนี้จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษา "Demand Side"

วันที่ 31 มีนาคม 2560 หลังจากการประชุมวิชาการนานาชาติ GOCA APAC 2017 ที่มาเลเซียเพียง 2 วัน ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสจัดเสวนาร่วมกับทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเชิญอาจารย์คูรี่ (Curie Maharani Savitri) จาก BINUS University ผู้มีประสบการณ์การทำนโยบายออฟเซตให้กับรัฐบาลของประเทศอินโดนีเซียมาบรรยายพิเศษเรื่องนโยบายออฟเซตของอินโดนีเซีย ในงานประชุมวิชาการประจำปีของ สวทช. NAC 2017 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

คุณคูรี่เล่าว่า ยุทธศาสตร์ออฟเซตของประเทศอินโดนีเซียเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1982 ก่อนประเทศมาเลเซียเสียด้วยซ้ำโดยท่าน “ฮาบีบี้” อดีตประธานาธิบดีผู้เลื่องชื่อของอินโดนีเซีย โดยเริ่มต้นกันที่อุตสาหกรรมการผลิตยุทธภัณฑ์จนทำให้ทุกวันนี้อินโดนีเซียสามารถผลิตอาวุธได้หลายรายการ ซึ่งรวมถึงเฮลิคอปเตอร์รุ่น CN 235-220 M ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทยซื้อจากโรงงานในบันดุงของอินโดนีเซียด้วย

คุณคูรี่แถมท้ายในวงอาหารด้วยการวิพากษ์กับผู้เขียนเรื่องการตั้งศูนย์กระจายสินค้าของอาลีบาบาจากประเทศจีนในมาเลเซียว่าจะเป็นประโยชน์กับมาเลเซียอย่างสูง แต่อาจไม่ดีนักหากมาตั้งอยู่ในไทย เนื่องจากโดยพื้นฐานมาเลเซียต้องนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการจากต่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายไปจับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจะสอดคล้องกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและขนาดประชากรซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน (ในขณะที่อินโดนีเซียมี 250 ล้านคน และไทยมี 65 ล้านคน) อาลีบาบาอาจจะช่วยให้มาเลเซียได้สินค้าราคาถูกโดยไม่กระทบกับอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งอาจจะตรงกันข้ามกับไทย เพราะอาจทำให้ SME หลายรายที่ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันต้องเดือดร้อน ยุทธศาสตร์ออฟเซตของอินโดนีเซียวางบนพื้นฐานที่ประชากรส่วนใหญ่ของอินโดนีเซียยังยากจน และอยู่ในภาคเกษตรกรรม องคาพยพที่ใหญ่อุ้ยอ้ายย่อมทำจุดโฟกัสของอินโดนีเซียต่างออกไป

ผู้เขียนฟังแล้วได้แต่ตาลุกวาว และมองเห็นอะไรอีกหลายอย่างได้กระจ่างมากขึ้น 

นโยบายออฟเซตเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศและ Thailand 4.0