posttoday

เศรษฐกิจไทย ปัญหามันอยู่ที่ไหนกันแน่ ?

20 เมษายน 2560

เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich

เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich

เศรษฐกิจไทย ปัญหามันอยู่ที่ไหนกันแน่?..,..16เมย.60

วันนี้ โพสต์ทูเดย์ พาดหัวหน้าหนึ่งว่า "จีดีพีไตรมาสแรกพุ่ง" ในเนื้อข่าว ท่านเลขาสภาพัฒน์บอกว่าเราโตเกิน3% แน่ และพูดเสมือนว่าเมฆหมอกทั้งหลายคลี่คลายแล้ว เราจะฟื้นตัวเป็นปกติ ขอให้สบายใจได้ ที่ยังหนืดๆอยู่ มันเพราะหนืดมานานจนชักเสียนิสัย เดี๋ยวก็ดีเอง

วันเดียวกัน The New York Times ลงข่าวว่า เศรษฐกิจจีนโตได้ 6.9% ในไตรมาสแรก เป็นอัตราที่สูงกว่าปีที่แล้ว(ซึ่งโตต่ำที่สุดในสามทศวรรษ)อยู่เล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะดูstableดี แต่ก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องปรับต้องแก้อีกเยอะแยะ

นี่ทำให้ผมนึกย้อนไป 38 ปี เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ให้เป็นระบบตลาด ลดรัฐเพิ่มเอกชน เปิดรับต่างชาติ ในปี 1980 นั้น จีนมีรายได้ต่อหัวต่อปีเฉลี่ยแค่ $195 ขณะที่ไทยซึ่งอยู่ในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 4 มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ $683 ต่อคนในปีเดียวกันนั้น มากกว่ากันถึงสามเท่าครึ่งทีเดียว

ถ้าจะย้อนไปก่อนหน้านั้นอีกสักยี่สิบปี ในปี 1960 จีนมีGDP ต่อหัว$90 ขณะที่ไทยมี$101 เรียกได้ว่ายากจนพอกัน แสดงว่าช่วงยี่สิบปีนั้น ประเทศไทย(ใต้ระบบเผด็จการที่ตามตูดทุนนิยมเสียส่วนใหญ่)โตได้ถึง 6.8 เท่าตัว หรือเฉลี่ย 10%ต่อปีเลยทีเดียว(nominal rate นะครับ) ขณะที่จีนซึ่งเป็นเผด็จการเหมือนกันแต่ใช้สังคมนิยมค่อนข้างแป้ก โตได้แค่ 2เท่า ในอัตราไม่ถึง4%

แต่พอหลังเปิดประเทศ จีนก็พัฒนาเติบโตได้ไม่หยุดยั้ง ขณะที่ไทย 1980-1996 ก็ดูเหมือนดี จะเป็นเสือตัวที่ห้า แต่พอเจอ"ต้มยำกุ้ง"ปี1997 เข้าไป หลังจากนั้นก็แป้ก อัตราหดลงเรื่อยๆ ได้ฉายาว่าคนป่วยของเอเชีย ติดกับดัก โตได้หนืดๆแถมบางทีก็สะดุดมีหยุดติดลบเป็นครั้งคราว จนพี่จีนเค้าแซงไปฉลุยเมื่อปี 2011 และก็คงจะไม่เหลียวหลังมารออีกเลย เพราะตอนนี้เค้ามี$8,028 แล้ว ขณะที่เราต้วมเตี้ยมอยู่แค่$5,815 ...แถมคุณพี่สี จิ้นผิง ออกมาประกาศว่า"คนจีนต้องอดทนกันหน่อยนะเพราะอัตราเติบโตเราจะได้แค่ 6.5%ไม่พรวดพราดได้เหมือนก่อน ต้องปรับตัวปรับโครงสร้าง ทุกคนต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพกันนะ" ...ขณะที่ของเราเหมือนจะบอกว่า "สบายใจกันได้แล้ว เราจะโตได้เกิน3%แน่นอน ขอให้มั่นใจในรัฐบาล ในทีมเศรษฐกิจที่จะเนรมิตความรุ่งเรืองมาให้"

ความจริงเศรษฐกิจไทยไม่ได้เพิ่งจะแป้กหลังเกิดความแตกแยกหรอกครับ ตั้งแต่หลังวิกฤติที่เราตั้งหลักได้แล้วพุ่งแรงมาเพราะการส่งออก หลังลดค่าเงินไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว เราก็ไม่เคยที่จะปรับโครงสร้างอะไรจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว ไม่เคยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพประสิทธิผล เพิ่มผลิตภาพ ไม่เคยคิดถึงปัญหาด้านสถาบัน ทำแค่ปะผุไปวันๆ กับอัดฉีดทรัพยากรภาครัฐลงไปโดยที่ไม่ค่อยจะมีประสิทธิภาพ เอาเงินลูกหลานในอนาคตมาซื้อเวลาไปวันๆ

ที่ผมวิจารณ์นี่ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะรัฐบาลนี้นะครับ เราทำกันมาอย่างนี้ตั้งแต่ทีม ชวน-ธารินทร์ ทักษิณ-สมคิด สุรยุทธ-ปรีดิยาธร-โฆสิต อภิสิทธิ์-กรณ์ ยิ่งลักษณ์-กิตติรัตน์ มาจนถึง ประยุทธ์-ปรีดิยาธร-สมคิด ก็ยังทำหลักๆเหมือนเดิมมาตลอด ...ที่ผมว่าน่ะไม่ได้จะประนามใครเลยนะครับ เพียงแต่จะบอกว่า ภายใต้ลักษณะโครงสร้างของสังคมและเศรษฐกิจ ภายใต้ระบบสถาบันต่างๆที่เป็นอยู่ ภายใต้วัฒนธรรมที่คุ้นชิน ภายใต้ความคาดหวังของประชาชนอย่างนี้ ใครเข้ามาก็ต้องทำอย่างนี้แหละครับ เปิดตำราแล้วก็อัดการลงทุนรัฐเพิ่มค่าใช้จ่ายรัฐลงไป กระตุ้นให้บริโภค ให้เอกชนลงทุน ...ยากที่จะมีใครคิดและกล้าที่จะปฏิรูปอะไรอย่างจริงจัง เพราะนอกจากทำยาก ต้องขัดกับกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากระบบและโครงสร้างปัจจุบันแล้ว ประชาชนยังไม่เข้าใจไม่เห็นคุณ ไม่ตรงกับความคาดหวังในระยะสั้นที่ต้องการให้มีอัศวินจุตติมาแก้ปัญหาให้ตามแบบสังคมอุปถัมภ์(Patronage)ที่คุ้นชิน

วันก่อนนี้ Lawrence Summers อดีตProfessor Harvard อดีตChief EconomistของWorld Bank อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐสมัย Bill Clinton ออกมาพูดท้วงติงว่า Trumpกำลังจะเปลี่ยนวิธีบริหารเศรษฐกิจจาก Rule&Law Base Capitalismซึ่งเป็นหลักใหญ่ที่ทุกประเทศที่พัฒนาได้ดียึดถือ มาเป็นDeal Base Capitalismที่ในระยะยาวจะนำความเสื่อมถอยมาให้ แล้วเขาก็ยกตัวอย่างประเทศอาร์เจนติน่าที่ใช้Deal Base มาตลอด กว่าจะรู้ตัวก็สะสมปัญหามาหลายสิบปีจนฉิบหายโดยที่แทบจะแก้อะไรไม่ได้แล้ว ที่น่าสนใจมาก Summersพูดถึงไทยด้วย นัยว่าน่าจะเป็นประเทศที่ย่ำแย่ต่อไป ...เรื่องนี้ผมว่าน่าสนใจมาก น่าที่นักวิชาการไทยน่าจะมานั่งถกกันลึกๆสักทีว่ามันมีมูลมีเค้าไหม ...ผมว่า"แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี"ที่ทำๆกันอยู่นี่เป็นแนว Deal Base Capitalism อย่างค่อนข้างชัดนะครับ

วันนี้แค่เริ่มมาอ่านข่าวแล้วสะกิดใจ อยากชวนให้ผู้รู้ทั้งหลายมานั่งคิด นั่งวิจัยกันให้ลึกๆสิครับ ว่าไทยเรามีปัญหาด้านโครงสร้าง ด้านสถาบันไหม ควรจะปรับจะแก้กันอย่างไร แผนยุทธศาสตร์ชาติที่ท่านผู้นำหวังอย่างมากว่ามันจะเป็นคำตอบ นำความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนมาให้อย่างถาวรนั้น มันเป็นแนวทางที่ถูกต้องไหม ความเสี่ยงคืออะไร

แล้วจะมาชวนถกกันเรื่อยๆนะครับ