posttoday

ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ ผู้สร้างเด็กไทยให้เป็นสากล

17 เมษายน 2560

“ปัญหาอย่างหนึ่งในระบบการศึกษาไทยก็คือ เด็กที่เรียนในโรงเรียนไทยจะอ่อนในเรื่องของภาษาอังกฤษ ขี้อาย

โดย...โยธิน อยู่จงดี

“ปัญหาอย่างหนึ่งในระบบการศึกษาไทยก็คือ เด็กที่เรียนในโรงเรียนไทยจะอ่อนในเรื่องของภาษาอังกฤษ ขี้อาย ขาดความคิดสร้างสรรค์ ส่วนปัญหาของเด็กในโรงเรียนนานาชาติ บุคลิกกระโดกกระเดก ไม่มีสัมมาคารวะ อ่อนภาษาไทย เด็กไทยที่เรียนโรงเรียนนานาชาติที่มีความเป็นต่างชาติอยู่ในวัฒนธรรมฝรั่ง เมื่อเติบโตขึ้นเวลาเขาไปอยู่ต่างประเทศ คนต่างชาติเขาก็ไม่ได้มองว่าเป็นคนฝรั่ง เขาจะมองว่าเป็นคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ พอเด็กกลุ่มนี้กลับมาอยู่เมืองไทย คนไทยก็บอกนี่ไม่ใช่คนไทยเพราะบุคลิก การพูดจา การไม่มีสัมมาคารวะ ไม่ใช่ลักษณะของคนไทย

“สรุปแล้วเด็กคนนั้นจะกลายเป็นคนประเทศอะไร ผมมีความรู้สึกว่าเราต้องการจะสร้างเด็กไทยแท้ๆ ให้มีความเป็นสากล แม้จะเรียนในโรงเรียนนานาชาติ แต่ก็ต้องรู้จักวัฒนธรรมไทย รู้ภาษาไทย เป็นเด็กไทยที่มีความเป็นสากลที่ชาวต่างชาติยอมรับและคนไทยก็ยอมรับด้วย” ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลเด่นหล้า เพชรเกษม และกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติ เด่นหล้า บริติช สกูล (Denla British School) เปรยถึงความท้าทายในระบบการจัดการบริหารการศึกษาหลังจากเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจของครอบครัวเมื่อ 15 ปีก่อน หลังจากเรียนจบปริญญาเอก สาขาการจัดการงานวิศวกรรม (Engineering Management) มหาวิทยาลัยพอร์ตแลนด์สเตต สหรัฐ

“ผมเรียนวิศวกร เพราะค่านิยมเวลานั้น ผมเรียนวิทยาศาสตร์ได้ คณิตศาสตร์ได้ ก็เลยเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ถ้าถามผมว่าเริ่มเข้ามาช่วยงานของโรงเรียนเด่นหล้าตั้งแต่เมื่อไหร่อันนี้ตอบได้ยาก เพราะโรงเรียนเปิดมา 38 ปีแล้วเป็นธุรกิจของครอบครัว สมาชิกในครอบครัวก็อยู่ในโรงเรียนตั้งแต่เด็กๆ อะไรพอช่วยได้เราก็ช่วยตามอายุ ตามความสามารถ ตามวัยที่เพิ่มขึ้น แต่เริ่มจริงๆ จังๆ มีตำแหน่งและความรับผิดชอบชัดเจนก็ประมาณปี 2547

“มีสิ่งหนึ่งที่ผมยึดเป็นหลักในการทำงานเสมอมาก็คือ ‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ทำปัจจุบันให้ดี อนาคตจะดี ผมยืมมาจากอาจารย์คนแรกของผมก็คือคุณพ่อ ผมเชื่อว่าทำวันนี้ให้เป็นเหตุปัจจัยที่ดีและผลที่ตามมาก็จะดีเอง ที่โต๊ะทำงานของผมจะมีตัวอักษรภาษาจีน ที่คุณพ่อผมให้มาอีกอันหนึ่ง คือ คำว่า ‘อดทน’ ตัวหนังสือภาษาจีนของคำว่าอดทนมีอักษรที่มีความหมายมาจากคำว่ามีดกับหัวใจ เหมือนมีดกำลังผ่าที่หัวใจ เพราะฉะนั้นผมเรียนรู้จากคุณพ่อว่า ‘ทำงานต้องอดทน’ แล้วเราจะพบกับความสำเร็จ แม้ว่าผมกับคุณพ่อเป็นคนละสไตล์กัน อาจารย์จะมีแนวทางของเขา มีจุดเด่นจุดแข็งที่ผมไม่มีวันมีเหมือนคุณพ่อได้ แต่ผมก็จะมีในสิ่งที่อาจารย์ไม่มี คือความเป็นคนรุ่นใหม่

“หลังจากเข้ามาบริหารโรงเรียนความท้าทายในความคิดของผมก็คือ เรากำลังจัดการกับการเรียนการสอนในอนาคต ลองนึกสภาพนักเรียนที่เริ่มเรียนหนังสือกับเราตอนอายุ 3 ขวบ แต่กว่าที่เขาจะใช้งานมันเป็นอีก 20 ปีข้างหน้า หลังเรียนจบปริญญาตรีออกมาทำงาน

“ผมถามคำถามต่อไปว่าที่เราจัดการเรียนการสอนตอนนี้แล้วรู้ได้ยังไงว่าในเมื่อตอนที่เขาอายุ 23 ปีมันเป็นสิ่งที่เขาต้องใช้ ผมว่าความท้าทายก็คือเรากำลังจัดการเรียนการสอนปัจจุบันเพื่อให้เด็กมีความพร้อมในอีก 20 ปี ดังนั้นเราจะจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์ว่าตอนนี้ต้องการอะไรเดี๋ยวเราจัดให้ไม่ได้ แต่เราต้องมองว่าอีก 20 ปีข้างหน้าสังคมต้องการอะไร ประเทศชาติต้องการอะไร องค์กรบริษัทห้างร้านต้องการอะไร ตรงนี้ต่างหากที่เราต้องตอบโจทย์ให้ได้

“ครอบครัวเล็กๆ ที่มีลูกอายุ 3 ขวบ เขาอยากให้ลูกของเขาทำอะไร อันนี้เป็นเรื่องของความท้าทายเป็นเรื่องที่ใหญ่ที่สุดในความรู้สึกของผม แล้วเราก็มีความรู้สึกว่าเราต้องมีความรับผิดชอบตรงนั้น เพราะว่าสิ่งที่เราเตรียมตัวให้กับเด็กตอนนี้ยังไงก็แล้วแต่วันหนึ่งเขาจะต้องได้ใช้ แล้วถ้าเกิดเราเตรียมสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ทำให้เขาสามารถใช้งานได้เราก็เป็นส่วนหนึ่งของความผิดพลาด ผิดเลือกการเรียนไม่ตรงให้กับเด็กหรือครอบครัวของเขา

“คราวนี้เราถามว่าเราจะจัดการกับความท้าทายตรงนี้อย่างไร เอาง่ายๆ แค่ถามว่าปีหน้าแฟชั่นที่จะมาแรงคืออะไร ยังตอบได้ยากมากเลย ไม่ต้องพูดถึงว่าอีก 20 ปีข้างหน้า เขาต้องการอะไรมันเกินความสามารถของเราที่จะจินตนาการ ว่าความรู้แบบไหนที่จะได้ใช้ ฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องทำในหน้าที่ของนักการศึกษาหรือผู้บริหารการศึกษา ก็คือมีการเตรียมความพร้อมกับนักเรียนให้เพียงพอ

“การจัดการเรียนการสอนที่ดีหรือว่าการเตรียมที่ดีมันควรจะมีรูปร่างเหมือนกับสามเหลี่ยม สามเหลี่ยมของผมในที่นี้ก็คือสามเหลี่ยมที่มีฐานกว้างและปลายยอดแคบเป็นสามเหลี่ยมพีระมิด อันนี้ความหมายก็คือในการศึกษาของวัยเด็กเล็ก เราควรจะจัดการเรียนการศึกษาให้กว้างและมีความหลากหลายให้มากที่สุด คือเปิดโอกาสให้เด็กๆ ของเรา มีโอกาสที่จะเลือกมากที่สุดในคุกในทางที่เขาชอบและเขาถนัด

ดร.ต่อยศ ปาลเดชพงศ์ ผู้สร้างเด็กไทยให้เป็นสากล

“เมื่อเขาสามารถเลือกในสิ่งที่เขาชอบเขาถนัดและทำได้ดีพอขยับขึ้นมาตอนกลางถึงปลาย ฐานจะค่อยๆ แคบลงนักเรียนก็จะเริ่มโฟกัสได้แล้วว่าจริงๆ แล้วฉันมีความถนัดวิทยาศาสตร์ อีกคนถนัดศิลปะ อีกคนถนัดดนตรี ดังนั้นภาพรวมก็คือความเห็นของผมในการจัดการเรียนการสอนในช่วงวัยต้นควรเน้นแนวกว้างไว้ก่อนให้เด็กได้ทดลองเรียนรู้

“แต่หลักๆ ที่ขาดไม่ได้ก็คือเรื่องขององค์ความรู้ และความสามารถทักษะต่างๆ ในตอนนี้และในอนาคตผมคิดว่าภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญ ด้วยเราอยู่ในยุคที่มีการติดต่อสื่อสารกันค่อนข้างมาก เด็กรุ่นใหม่ๆ ควรจะมีความหลากหลายทางด้านภาษา ถามว่าภาษาจะต้องเตรียมภาษาอะไรบ้าง อย่างแรกก็คือภาษาแม่ก็คือภาษาไทยของเราเอง จะต้องแน่นและชัดเจน เพราะว่าเราเป็นเด็กไทยเราก็ควรจะให้ความสำคัญกับภาษาไทยพูดได้อ่านออกเสียงเขียนได้ ใช้ภาษาอยากได้อย่างถูกต้อง ส่วนภาษาอื่นที่น่าสนใจก็อาจจะมีภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาสเปน ภาษาพวกนี้เป็นภาษาที่มีคนใช้เยอะ

“มาถึงเรื่องทักษะที่ควรจะมีก็คือควรมีความสามารถในการดูแลช่วยเหลือตัวเอง และทักษะการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหารวมทั้งทัศนคติในการแก้ปัญหา ผมว่างานทุกงานในอนาคตมันจะยากขึ้นและมีความซับซ้อนมากขึ้นไปเรื่อยๆ เราจึงต้องการเด็กรุ่นใหม่ที่มีความอดทนและมีความสามารถสังเคราะห์วิเคราะห์ปัญหาและสามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เหมาะสมด้วยทัศนคติที่ดี เป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้เด็กเติบโตไปในอนาคตได้ดี”

ส่วนยามว่างของต่อยศมักจะหนีไม่พ้นในเรื่องของการอ่านผู้บริหารหนุ่มเล่าว่า เขาชอบอ่านหนังสือโดยเฉพาะหนังสือประวัติศาสตร์ประเทศไทยรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 5 นิยายจีนกำลังภายใน เพราะชอบวีรบุรุษบู๊เฮี้ยบ ต่อสู้ มีคุณธรรม เป็นคนดีสมบูรณ์แบบ ยึดมั่นในคุณธรรม เรื่องการออกกำลังกายก็สำคัญเขาจะวิ่งตอนเช้าเป็นประจำ อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง และนั่งสมาธิทุกเช้า 20-30 นาที เหมือนเป็นการชาร์จพลัง เป็นการพักผ่อนภายใน ทำให้เกิดสมาธิและปัญญาในการทำงานและการใช้ชีวิต

“เวลาที่เราเหนื่อยมากๆ  เครียดมากๆ ก็บอกตัวเอง เหนื่อยมากก็นอน นอนแล้ววันรุ่งขึ้นก็หาย มันง่ายๆ อย่างนี้แหละ สมมติว่ามีความเครียดสักร้อยอย่าง หรือมีเรื่องผิดหวังมา ผมว่ามันเหมือนคนอกหัก อกหักแล้วหายไหม ไม่หาย แต่มันดีขึ้น แต่พอเจอครั้งหลังๆ มันจะเบาบาง ปัญหาคือเรื่องเล่าประโยคเดียว ถ้าเราทำใจไม่ได้ก็ทำร้ายตัวเอง งานเป็นสิ่งที่ต้องทำ ก็อยู่ที่เราเลือกว่าเราจะยอมรับมันและทำไป หรือทำร้ายตัวเอง

“มีอยู่คำหนึ่งที่ผมชอบก็คือคำว่าอินโนเวชั่น (Innovation) ไม่ใช่เพราะว่ามันใหม่ แต่เพราะการทำงานต้องมีการเรียนรู้ การปรับเปลี่ยน มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เราต้องใช้อินโนเวชั่นในการช่วยให้เรามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ยิ่งเวลาทำงานเราจะบริหารงานด้วยการลงมือทำด้วยตัวเองลงลึกไปในรายละเอียดปลีกย่อย เวลาจะทำอะไรสักอย่าง ผมจะจินตนาการ ลำดับขั้น ขั้น 2-4 เป็นอย่างไร ข้อดีข้อเสียเป็นแบบไหน ข้อดีของการเป็นผู้บริหารแบบนี้ก็คือทำงานด้วยง่ายสะดวก มีรายละเอียดชัดเจน แต่ข้อเสียบุคลากรไม่ค่อยได้แสดงความคิดความสร้างสรรค์มากนัก แต่ถ้าเชื่อมั่นใครว่าทำงานได้แน่ๆ เราก็จะปล่อยให้เขาได้มีโอกาสแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรมและความเมตตาเป็นหลักสำคัญ”