posttoday

กฎหมายโค้ดมิลค์ช่วยเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง

05 เมษายน 2560

ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

โดย...ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร เลขาธิการคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

ในวันอังคารที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีการพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ...” (ร่าง พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ Code milk) ดังที่ทราบกันดีว่านมแม่นั้นเป็นแหล่งโภชนาการที่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็ก ร่าง พ.ร.บ.นี้จะเข้ามาช่วยกำกับดูแลการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งทำกันอย่างแพร่หลายและนำไปสู่การเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนนมแม่ เช่น นมผง

นี่นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประเทศไทย เพราะเป็นโอกาสแรกที่จะผ่านกฎหมายที่จะช่วยให้ประเทศไทยปฏิบัติได้อย่างสอดคล้องกับข้อแนะนำในระดับนานาชาติ และมีความทัดเทียมกับนานาประเทศในกลุ่มอาเซียนในการออกกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการตลาดของอาหารทดแทนนมแม่นี้

แต่เพราะเหตุใดร่าง พ.ร.บ.นี้ถึงได้สำคัญนัก? คำตอบนั้นง่ายมาก : มีผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมการตลาดของนมผงนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของครอบครัวในการเลือกให้อาหารทารกและเด็กเล็ก ซึ่งนั่นคือปัญหา เพราะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการช่วยให้ทารกและเด็กเล็กสามารถอยู่รอด แข็งแรง และเจริญเติบโต

จากหลักฐานที่ปรากฏชัดทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการให้อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกและเด็กเล็กว่า ควรเริ่มให้นมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ทารกควรได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก และกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุสองปีหรือนานกว่านั้น โดยร่วมกับการให้อาหารตามวัยที่ปลอดภัย เหมาะสม และเพียงพอ

ในปีที่ผ่านมา วารสารทางการแพทย์นานาชาติ เดอะแลนเซ็ท ได้รวบรวมหลักฐานล่าสุดจากทั่วโลกและพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสมสามารถป้องกันการเสียชีวิตของทารกมากกว่าแปดแสนคนในแต่ละปี นอกจากนั้นยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาระดับเชาวน์ปัญญา หรือไอคิว (โดยเฉลี่ย 3 จุด) ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีรายได้สูงขึ้น

ในประเทศไทย เราต่างตระหนักถึงความเสียหายอันเกิดจากการที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างดี งานวิจัยโดย Alive & Thrive และยูนิเซฟ ได้วิเคราะห์ “ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย” ซึ่งมีต่อชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจในประเทศ

ผลการวิเคราะห์ชี้ว่า ประเทศไทยจะสามารถประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขได้มากถึงกว่า 263 ล้านบาท/ปี จากการกำจัดโรคท้องร่วงและปอดบวม อันเกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ไม่เพียงพอ นอกจากนี้พัฒนาการด้านสติปัญญาที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในอัตราที่มากขึ้น สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นมากกว่า 6,600 ล้านบาท และสำหรับครอบครัวต่างๆ ก็สามารถลดรายจ่ายครอบครัวลงได้อย่างมาก เพราะค่าใช้จ่ายประมาณร้อยละ25 ของรายได้เฉลี่ย จะถูกนำไปซื้อนมผง

อย่างไรก็ตาม ยังมีพ่อแม่อีกจำนวนมากที่มีอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2558-2559 พบว่า มีทารกในประเทศไทยเพียงร้อยละ 40 ที่ได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด และมีทารกอายุต่ำกว่าหกเดือนเพียงร้อยละ 23 ที่ได้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรก ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาค และมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องจนถึงอายุสองปี

ผลที่ตามมาก็คือ ลูกหลานของพวกเราต้องเสี่ยงกับผลกระทบของโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ต่อการเติบโต พัฒนาการ และผลิตภาพเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อย่างไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ ซึ่งเป็นเพียงเพราะพวกเขาไม่ได้กินนมแม่ในช่วงแรกของชีวิต

พวกเรามีหน้าที่ที่จะต้องทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นทางเลือกที่ถูกต้องและสามารถทำได้โดยง่าย แต่เมื่ออาหารทดแทนนมแม่ถูกโฆษณาว่ามีคุณค่าทางโภชนาการเทียบเท่าหรือมากกว่านมแม่ ครอบครัวก็ย่อมได้รับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและทำให้ไขว้เขว และเมื่อบริษัทนมผงเข้ามาใช้สถานพยาบาลเป็นพื้นที่ในการส่งเสริมการตลาด ก็ย่อมขัดขวางบทบาทของผู้ให้บริการสาธารณสุขที่สนับสนุนแม่ด้วยข้อมูลที่เป็นจริง นี่จึงเป็นเหตุผลให้ที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกเรียกร้องให้ทุกประเทศยุติพฤติกรรมที่อุตสาหกรรมอาหารทารกและเด็กเล็กให้การสนับสนุนสมาคมทางการแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะสามารถให้คำแนะนำที่สอดคล้องกับข้อแนะนำสากล และไม่ได้รับอิทธิพลของอุตสาหกรรม

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมอาหารทารกและเด็กเล็กจะคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินี้ มีการคาดการณ์ว่ายอดขายของอาหารทดแทนนมแม่ทั่วโลกจะมีมูลค่าสูงขึ้นจาก 1.55 ล้านล้านบาท เป็น 2.44 ล้านล้านบาท ภายใน พ.ศ. 2562 ซึ่งยอดขายในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 2 ของตลาดใน พ.ศ. 2557 หรือประมาณ 26,353 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะโตขึ้นเป็น 3.2 หมื่นล้านบาท ภายใน พ.ศ. 2562

และเมื่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น รายรับของอุตสาหกรรมอาหารทารกและเด็กเล็กก็จะลดลง ผลิตภัณฑ์เหล่านี้สร้างผลกำไรมหาศาลแก่บริษัทต่างๆ ซึ่งคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงได้โหมทำการตลาดอย่างหนักหน่วง เพื่อบอกว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะช่วยให้เด็กสูงขึ้น ฉลาดขึ้น และมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

มีเพียงบริษัทต่างๆ เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์จากการส่งเสริมการตลาดนี้ ไม่ใช่ตัวเด็ก ไม่ใช่ครอบครัว และไม่ใช่ประเทศของเรา พวกเราควรเลือกนมแม่ ซึ่งเป็นทางที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อประเทศ ได้แก่ผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้น รายได้และรายได้มวลรวมประชาชาติที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ทางที่จะให้ผลประโยชน์ต่อบริษัท

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคนี้ที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวต่ำที่สุด และเรายังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลง

เพื่อปกป้องแม่และครอบครัว และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย เราจะต้องมีนโยบายและกฎหมายที่สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งรวมถึงการห้ามการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์นมสำหรับทารกและเด็กเล็กจนถึงอายุ 36 เดือน (3 ปี)

การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายของประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของเด็กๆ เป็นหลัก จะช่วยให้เราและประเทศของเรามีสุขภาพที่แข็งแรง เข้มแข็ง ต่อไปในอนาคต