posttoday

จับตา...'Blockchain' นวัตกรรมเปลี่ยนโลก

28 มีนาคม 2560

โดย...ไพรัช วรปาณิ กรรมการอัยการ

โดย...ไพรัช วรปาณิ  กรรมการอัยการ

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนได้รับเชิญจากท่านเลขาธิการ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ แห่งสำนักงาน กสทช. มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนารับรู้วิทยาการสมัยใหม่ ด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)  ซึ่งเน้นบรรยายในหัวข้อ "เทคโนโลยีบล็อกเชนกับรัฐบาลดิจิทัล : กรณีศึกษารัฐบาลเอสโตเนีย" อันมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน และความปลอดภัยทางไซเบอร์  จากสาธารณรัฐเอสโตเนีย บินมาบรรยาย เพื่อให้ได้รับความรู้ในเรื่องนวัตกรรมสมัยใหม่สำหรับชาวไทย

อีกทั้งเป็นโอกาสอันดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเอสโตเนีย อันเป็นประเทศที่มีการนำเทคโนโลยี ดังกล่าวมาใช้งานทั้งประเทศ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการใช้บริการและสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ต่อยอดได้ในอนาคต...

ด้วย "วิชั่น" อันกว้างไกลของท่านประธาน กสทช. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี พร้อมด้วย รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. และท่านฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. จึงได้ดำเนินการผลักดันให้มีการจัดสัมมนาขึ้น ณ โรงแรมอนันตรา กรุงเทพฯ โดยเน้นในประเด็นการนำเอา... "บทเรียนความสำเร็จจากกรณีศึกษารัฐบาลเอสโตเนีย" (Blockchain Technology and Real World Application : Estonia case study) มาเป็นบทเรียน วิเคราะห์ ศึกษา เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล

ในการสัมมนาครั้งนี้ปรากฏว่า ผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐเอสโตเนีย ชื่อดัง อันมี Mr.Jaan priisalu (The Former General Director of the Estonian Information System's Authority) Mr.Anna Piperal (Manager Director of E- Estonia Showroom at Enterprise Estonia) และ Mr.Martin Ruubel (Vice Chairman, European Cyber Security Organization) ดำเนินการบรรยายอย่างเข้มข้น ด้วยสาระเนื้อหาอันเต็มไปด้วยความรู้ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาโดยทั่วหน้า

ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่าน ได้เน้นให้เห็นว่า ในปัจจุบัน "สาธารณรัฐเอสโตเนีย" ได้ก้าวข้ามไปสู่รัฐบาลดิจิทัลและสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งไกลไปถึงขั้นใช้เทคโนโลยี "บล็อกเชน" เพื่อการยกระดับการทำธุรกรรมของรัฐบาลได้อย่างสมาร์ท ผ่านแนวคิดสร้างชาติที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคน ด้วยการเป็นรัฐบาลดิจิทัล ทั้งการสร้างระบบการปกครองและการทำงานของรัฐขึ้นมาใหม่ทั้งหมด จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศชั้นนำด้านรัฐบาลดิจิทัลที่ดีที่สุดในโลก

หนังสือ "Blockchain เปลี่ยนโลก" โดย Don Tapscott และ Alex Tapscott ได้กล่าวถึงเครือข่ายที่มีการรักษาความปลอดภัยและกระจายศูนย์ โดยมีเป้าหมายคือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในอนาคต ซึ่งประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้ทางออนไลน์ ใช้การระบุตัวตนแบบดิจิทัลดำเนินธุรกิจและปรับปรุงข้อมูลภาครัฐให้ทันสมัย จนเป็นที่ยอมรับของประชาชนในเรื่องการเข้าถึงบริการของรัฐและทำให้รัฐบาลโปร่งใส ลดการ ทุจริตคอร์รัปชั่น และยังช่วยให้ประหยัดงบประมาณ สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ๆ และการเข้าถึงบริการของรัฐได้รวดเร็ว ปลอดภัยอีกด้วย

ที่ผ่านมา รัฐบาลเอสโตเนียได้จับมือกับบริษัท บิตเนชั่น ในการนำบล็อกเชนมาใช้พัฒนาโครงการ E-Resi dency เปิดให้ทุกคนในโลกสมัครเป็น "พลเมืองดิจิทัล" ของสาธราณรัฐเอสโตเนีย โดยไม่ต้องอยู่ในเอสโตเนีย และสามารถลงนามในเอกสารด้วยลายเซ็นดิจิทัล ซึ่งมีผลผูกพันตามกฎหมาย สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสัญชาติเอสโตเนียได้จากพื้นที่ออนไลน์ 100% อย่างสะดวกรวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำ พลเมืองเสมือนของเอสโตเนีย จึงสามารถใช้บริการนี้ในการรับรองสัญญาธุรกิจ ใบสูติบัตร ใบสมรสและเอกสารอื่นทางกฎหมายได้นานัปการต่อข้อห่วงใยในเรื่องของความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์นั้น ผู้บรรยายชี้ให้เห็นว่า เอสโตเนียได้สร้างระบบขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานการลงนามที่ไม่ใช้กุญแจหรือเคเอสไอโดยใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์ของบล็อกเชนมาช่วยยืนยันกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ไม่ต้องมีกุญแจเข้ารหัสหรือทีมงานภาครัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด ทำให้เกิดความโปร่งใส ความรับผิดชอบ โดยผู้มีส่วนได้เสียทุกคนสามารถมองเห็นว่าใครเข้าไปดูข้อมูลใด เมื่อไร และทำอะไรกับข้อมูลนั้นๆ

ในการนี้สิ่งที่ภาครัฐได้ตามมาก็คือ...รัฐบาลสามารถบันทึกและติดตามความน่าเชื่อถือเหล่านั้นและการทำตามกฎระเบียบ ประชาชนแต่ละคนก็สามารถเข้ามาตรวจสอบความน่า เชื่อถือของข้อมูลของตัวเองได้โดย ไม่ต้องมีบุคคลที่สามารถเข้ามาช่วยรับรอง ยังผลทำให้ต้นทุนลดต่ำลงมากในที่สุด

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าศูนย์กลางของการเป็นรัฐบาลดิจิทัล อยู่ที่การระบุ ตัวตนแบบดิจิทัล ซึ่งปรากฏว่าในปี 2555 ประชากร 90% ได้รับเลขประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเข้าถึงบริการของรัฐรวมถึงการใช้เดินทางท่องเที่ยวยุโรปด้วย "ชิป" ที่ฝังอยู่ในบัตร จะเก็บข้อมูลพื้นฐานของผู้ถือบัตรเอาไว้เพื่อใช้รับรองสองประการ ประการแรกคือ การยืนยันตัวตนและการลงนามอิเล็กทรอนิกส์ และอีกประการหนึ่งคือเลขประจำตัวดิจิทัลนี้ สามารถยื่นเสียภาษีแบบออนไลน์และบริการประกันสังคมได้อย่างสะดวก หรือแม้แต่การบริการของธนาคาร และการเดินทางสาธารณะ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีบัตรธนาคารหรือบัตรโดยสารใดๆ เลย

จากผลพวงการนำเอาระบบ "Blockchain" มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของรัฐบาลเอสโตเนีย และจากความร่วมมือของประชาชน ในประเทศ ปรากฏว่า ปี 2556

พลเมืองเอสโตเนียหันมาชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ถึง 95% และทำธุรกรรมทางธนาคารผ่านระบบออนไลน์ถึง 98% เพิ่มรายได้ให้แก่รัฐโดยทางอ้อม อย่างน่าทึ่ง!! ต่อประเด็น...ความสำคัญของเทคโนโลยี "บล็อกเชนเปลี่ยนโลก" ที่กำลังเป็นสิ่งแปลกใหม่ อันจะทำประโยชน์ให้ทั้งภาครัฐ ประชาชนอย่างกว้างขวางในทุกวงการ จึงนับว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี 4.0 ให้ทันสมัย เพื่อสร้างความสะดวกสบายและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนในสังคม ตามเจตนารมณ์และ "วิชั่น" ของ กสทช.อย่างน่าสนใจยิ่ง

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. ได้อรรถาธิบายว่า..."เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นหัวใจของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สี่ ในยุคดิจิทัลบนพื้นฐานของความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว ผมเชื่อว่า บล็อกเชนมีศักยภาพเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเงินและรัฐบาลได้ ในเรื่องนี้ กสทช.พร้อมสนับสนุนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมดิจิทัล ผมเชื่อว่า การให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ บล็อกเชนเป็นเรื่องใหม่ของโลก ซึ่งเราต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถหลีกหนีเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ที่กำลังเปลี่ยนองค์กร ประเทศและโลกใบนี้ได้ ในทางกลับกันนี้จะเป็นการจุดประกายความคิดและการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคนในประเทศของเราสามารถนำไปประยุกต์ใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองและธุรกิจ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศแห่งดิจิทัล ตามนโยบายของรัฐบาล"

ดังนั้น หลังจากได้ซึมซับความรู้จากการสัมมนาดังกล่าวในครั้งนี้ผู้เขียนจึงเกิดความคิดเห็นว่า...ผู้นำรัฐบาลที่มี "วิชั่น" พึงจับตากับ "บล็อกเชน" นวัตกรรมเปลี่ยนโลก..อย่างใกล้ชิด อย่ากะพริบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน ตามประกาย "พุ" ของประธาน กสทช.และคณะฯ ...ว่าไหม?!