posttoday

การแก้คอร์รัปชั่น ต้องยอมรับว่าปัญหามีจริง

16 มีนาคม 2560

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรระดับประเทศ “พีดับบลิวซี (PwC)” ซึ่งเป็นองค์กรระดับนานาชาติเปิดเผยผลการสำรวจการทุจริต-คอร์รัปชั่นของกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิก ปรากฏว่าไทยติดโพลเป็นประเทศคอร์รัปชั่นทั้งรับและจ่ายสินบนเป็นอันดับ 3 จาก 16 ประเทศ โดยแชมเปี้ยนด้านคอร์รัปชั่นอันดับ 1 คือ ประเทศอินเดีย ตามมาด้วยเวียดนามและประเทศไทย ที่น่าสนใจคือประเทศกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งดูว่าล้าหลังกว่าไทยกลับมีคะแนนหรืออันดับดีกว่า สำหรับประเทศไทยจากผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 28 ของภาคธุรกิจเคยจ่ายสินบนเพราะหากไม่ทำคู่แข่งก็ทำ อาจทำให้เสียโอกาสและเสียเปรียบด้านธุรกิจ

คำถามที่ไม่รู้คำตอบว่า อะไรคือสาเหตุ เพราะที่ผ่านมาทุกรัฐบาลชูเรื่องแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องต้นๆ ขณะเดียวกันไทยมีกฎหมายลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่รุนแรงโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต มีองค์กรตามกฎหมายหลายหน่วยงานนับเป็น 10 หน่วย มีหน้าที่ดูแล ตรวจสอบ ปราบปรามการรับสินบนทั้งข้าราชการ และนักการเมือง

องค์กรที่รับผิดชอบเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นของไทยที่ทุกคนรู้จัก เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นองค์กรอิสระชี้ขาดสูงสุดด้านวินัย-งบประมาณ-การคลัง, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินที่มิชอบขึ้นตรงต่อรัฐสภา อีกทั้งยังมีศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีคอร์รัปชั่นโดยตรง เช่น ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในสมัยรัฐบาลบิ๊กตู่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลซึ่ง คสช.เข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ ในปี 2557 มีการจัดตั้งศูนย์อํานวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรียุติธรรม แต่ไม่ค่อยเห็นข่าวว่าทำอะไรไปบ้าง ประเด็นคือเมืองไทยมีทั้งกฎหมายดีๆ มีศาลดูแลเรื่องคอร์รัปชั่นโดยตรง มีหน่วยงานรับผิดชอบ ทั้งตรวจสอบ ป้องกัน ปราบปราม แต่ปัญหาคอร์รัปชั่นหรือการทุจริตรับสินบน ถ้าพูดเอาใจก็บอกว่าลดลง แต่ปัญหาจริงๆ ผู้รับผิดชอบก็รู้ดีอยู่แก่ใจ เพียงแต่ไม่กล้ารับความจริงเท่านั้น

กรณีเช่นนี้คงต้องไปดูประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ผลสำรวจประชาชนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาลสูงถึงร้อยละ 86 ขณะที่สวนดุสิตโพล ล่าสุดเดือน ก.พ. พบว่า ประชาชนไทยร้อยละ 85 หนักใจเรื่องการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมากกว่าความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคำตอบจึงเป็นเช่นนั้น แต่ผู้เกี่ยวข้องคงอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องเร่งไปหาคำตอบเอาเอง

การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น อันที่จริงเป็นวาระแห่งชาติมานานแล้ว แต่ที่ไม่ค่อยได้ผลเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักไม่ยอมรับว่าหน่วยงานตนเองมีการคอร์รัปชั่น เพราะหากบอกว่า 99.99 เปอร์เซ็นต์ คนของตนเองเป็นคนดีหมดออกมาพูดอย่างนี้ทุกอย่างก็จบไม่ต้องไปแก้ไขหรือปราบปรามอะไร คอร์รัปชั่นต้องเปิดใจเป็นปัญหาสะสมมีมานานไม่ใช่พึ่งเกิด และไม่ใช่ความผิดของใครแต่จะผิดจริงก็เมื่อท่านซึ่งเป็นคนรับผิดชอบในหน่วยงานนั้นๆ ไม่ยอมรับและไม่เข้าไปแก้ปัญหา

ปัญหาเรื่องการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น เป็นเรื่องที่แก้ยากแต่ก็ต้องทำเพราะกลายเป็นประเด็นเกี่ยวกับขีดความสามารถในการแข่งขัน ผู้ที่เขาจะมาลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยต่างเห็นว่าเราเป็นประเทศมีคอร์รัปชั่นสูง เห็นได้จากการจัดลำดับความน่าเชื่อถือและขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก เช่น องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตปี 2016 ไทยอยู่ในประเทศที่มีคอร์รัปชั่นในลำดับที่ 76 จาก 168 ประเทศ นอกจากนี้องค์กรอย่าง WEF (World Economic Forum) ได้สำรวจมุมมองของนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย พบว่า ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคคือคอร์รัปชั่นโดยให้น้ำหนักมากกว่าการเมือง การปฏิวัติและระบบราชการ

การรับสินบนในเมืองไทยฝังลึกเป็นวัฒนธรรมเคยชินกลายเป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่เข้าเริ่มเรียนหากอยากได้โรงเรียนรัฐบาลดังๆ ก็ต้องวิ่งเต้นไม่จ่ายเป็นตัวเงินก็ต้องจ่ายเป็นของ เรียนจบหากอยากได้งานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่งก็ต้องมีพรรคพวก พอทำงานแล้วอยากเลื่อนตำแหน่งหรือย้ายงานไปในหน่วยดีๆ ก็ต้องมีเส้นมีสาย บางหน่วยงานถึงขั้นต้องซื้อตำแหน่งจะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความสำคัญของตำแหน่งว่าจะให้คุณให้โทษมากน้อยเพียงใดหรือจะมีผลประโยชน์เป็นตัวเงินเท่าใด

เรื่องเหล่านี้ระบาดไปจนถึงวงการพระสงฆ์ แม้แต่ตำแหน่งเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด บางที่ บางรูป ต้องใช้เงินใช้ทองกัน ผมไม่ได้เหมาไปหมดว่าทุกหน่วยงานของรัฐหรือวงการพระสงฆ์องค์เจ้าจะเป็นไปหมด เพราะสังคมไทยคนดีมีคุณธรรมย่อมมีอยู่มากกว่าเพียงแต่ว่าคนไม่ดีพวกนี้จะปราบปรามกันอย่างไรเท่านั้น

หากจะเดินหน้าประเทศไทยคงต้องมาคุยกันว่า อะไรคือรากเหง้า นำหลายฝ่าย เช่น เอกชน ราชการ เจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะนักการเมืองเข้ามาหาทางแก้ไข ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาโลกแตกอย่ามองว่า “หากไม่มีคนให้ ก็ไม่มีคนรับ” การแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นที่การเปิดใจว่าปัญหามีอยู่จริง ที่ใกล้ตัว เช่น สินบนโรลส์-รอยซ์ สินบนโรงไฟฟ้า หากฝรั่งไม่โวยจะแก้ไหม หรือภาษีซื้อขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่นของอดีตนายกฯ 1.6 หมื่นล้านบาท ทำไมคนดูแลปล่อยให้คดีเกือบจะหมดอายุความจนกรมสรรพากรต้องตั้งกรรมการสอบความผิดปกติของเจ้าหน้าที่

คอร์รัปชั่นเป็นภัยร้ายแรงทางด้านเศรษฐกิจหยั่งรากกินลึกกลายเป็นวัฒนธรรมและประเพณี ทั้งหมดแสดงถึงความล้มเหลวของการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องของประเทศด้อยพัฒนา...แล้วเราจะไปถึงไทยแลนด์ 4.0 เหมือนที่ฝันกันได้อย่างไรครับ