posttoday

ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก จัดฉลองใหญ่ได้หรือยัง ?

13 มีนาคม 2560

เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich

เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich

ไชโย...ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ควรจัดฉลองใหญ่ได้หรือยัง?....(11มีค.2560)

พลันที่สำนักข่าว Bloomberg ประกาศการจัดอันดับ Misery Index 2017 เมื่อต้นเดือนมีนาคม ก็มีเสียงขานรับกันหลายรูปแบบ เพราะปรากฎว่าประเทศไทยถูกจัดว่าเป็นประเทศที่มีความทุกข์ทรมาน(Misery)น้อยที่สุดในโลก อยู่ในอันดับที่ 65 จาก 65 ประเทศที่ถูกนำมาจัดอันดับ ซึ่งพอเขาว่าทุกข์ทรมานน้อยที่สุด เราก็เลยแปลกลับได้ว่า มีความสุขที่สุดนั่นเอง

พวกเหล่าเสื้อเหลืองเหล่าสลิ่มอาจจะพากันดีใจยกใหญ่ อยากให้ยืดอายุการพักยกประชาธิปไตยไปอีกนานๆ เพราะตั้งแต่มีปฏิวัติ เราก็ได้อันดับหนึ่งมาสามปีซ้อน (ซึ่งความจริงก่อนหน้านั้น เราก็อยู่อันดับดีต้นๆมาตลอด ...แม้แต่ตอนที่ประกาศตอนมีนา 2557 ซึ่งประเทศไทยกำลังแตกแยกกันเละ ผู้คนเต็มท้องถนน รัฐบาลง่อย ชาวนารอเงินขายข้าว แต่ดัชนีก็ยังบอกว่าไทยเป็นหนึ่งในสามประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก)

ส่วนพวกที่เป็นกลางๆก็อาจจะสงสัยหน่อยว่า เราจะสุขที่สุดได้ไง ในเมื่อปัญหาก็ยังเต็มเมืองทุกๆด้าน คนทุกข์ยากก็ยังเห็นเต็มไปหมด เทียบกับเมืองอื่นๆที่ไปเห็น น่าจะสู้เขาไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ อย่าว่าแต่เป็นแชมเปี้ยนเลย ให้ติดหนึ่งในยี่สิบยังไม่น่าจะมีทาง ...ยิ่งพวกคนส่วนใหญ่ที่ยังทุกข์ยาก ยังลำบากยิ่งคงงงเต๊ก ว่าดัชนีมันออกมายังงี้ได้ยังไง ก็พวกกูยังปากกัดตีนถีบ ชักหน้าไม่ถึงหลัง หนี้สินท่วมหัวอยู่เห็นๆ ใครจะมีความสุขไปได้ สงสัยมันไปถามแต่พวกไฮโซ 1%แรก ที่ยึดครองทรัพย์สิน58%ของประเทศ(ตามCredit Suisse Global Wealth Report) ซึ่งพวกนั้นยังไงๆมันก็ต้องมีความสุข ขนาดทำคนตายยังไม่ต้องรับโทษเลย

นี่ท่านโฆษกรัฐบาลก็รีบออกมาประกาศแสดงความชื่นชมยินดี แถมเมื่อวันศุกร์ท่านนายกฯก็พอใจและชมเชยหน่วยงานทั้งหลายของรัฐที่ทำให้เรามีความสุข โดยท่านบอกว่า"การวัดในลักษณะนี้ เป็นการมองความสุขในสายตาของต่างประเทศที่เห็นว่า ประเทศไทยของเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี มีธรรมาภิบาลมุ่งมั่นขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาใหญ่ ๆ โดยมีการเร่งรัดที่ประชาคมโลกให้ความสนใจ อาทิเช่น เรื่องการประมงผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (IUU) การบินพลเรือน (ICAO) ให้เป็นไปตามกติกาสากล และในเรื่องของการค้ามนุษย์ ซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลนี้ เหล่านี้เป็นต้น โดยการดำเนินการในทุก ๆ มิติ ทุก ๆ มาตรการของรัฐบาลและ คสช. ที่ทำอยู่ในช่วงเวลาเกือบ 3 ปี ที่ผ่านมา มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน และส่งผลให้เห็นผ่านตัวชี้วัดต่าง ๆ รวมทั้งในครั้งนี้ด้วย"

เรามาดูข้อเท็จจริงกันดีกว่านะครับ ว่าเรื่องของเรื่องมันเป็นยังไง.....

ก่อนอื่นคงต้องมาทำความรู้จักเจ้า"ดัชนีความทุกข์ยาก"(Misery Index)กันสักหน่อย ว่ามันคืออะไร มีความหมายอย่างไร....

Misery Index ถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960s โดย Art Okun นักเศรษฐศาสตร์อเมริกัน เพื่อใช้วัดความเป็นอยู่เฉลี่ยของประชาชน โดยมีสมมุติฐานง่ายๆว่า อัตราเงินเฟ้อ(Inflation) กับ อัตราว่างงาน(Unemployment)เป็นสองปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้คนทุกข์ยาก Okunก็เลยจับสองตัวนี้ที่มีค่าเป็นเปอร์เซนต์มาบวกรวมกันเลย แล้วสรุปว่าถ้าตัวเลขมีค่าสูงก็แปลว่าประชาชนทุกข์ยากมากเพราะต้องผจญกับภาวะเงินเฟ้อสูงต้องซื้อของแพงขึ้น ขณะที่งานก็หายากแถมเสี่ยงที่จะตกงานเพราะอัตราว่างงานสูง ...ส่วนถ้าตัวเลขมีค่าต่ำประชาชนก็น่าจะมีความสุข เพราะเงินเฟ้อต่ำแถมมีงานทำกันเป็นส่วนใหญ่

ในช่วงสามสิบปีแรกที่คิดขึ้นมา Misery Index ถูกใช้เพื่อเปรียบเทียบสภาวะในช่วงต่างๆของสหรัฐเท่านั้น โดยเฉพาะภาวะความทุกข์ความสุขในแต่ละยุคของประธานาธิบดีแต่ละคน (น่าสังเกตว่าหลังสงครามโลก ยุคจอห์นสันจะเป็นยุคที่ประชาชนมีความสุขมากสุด ในขณะที่Okun เป็นประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดีจอห์นสัน) จนกระทั่งเมื่อไม่ถึงยี่สิบปีนี่เองจึงจะมีคนเอาไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆในโลก

มีการวิพากษ์กันมากว่าการใช้แค่ปัจจัยสองอย่างในนำ้หนักที่เท่าๆกันมาวัดความทุกข์ความสุขนั้น จะทำให้ไม่ครบถ้วนและอาจคลาดเคลื่อนสูงได้ มีการปรับปรุงกันหลายเวอร์ชั่น เช่น เพิ่มเอาตัวเลขอัตราดอกเบี้ยบวกเข้าไป และลบด้วยอัตราการเติบโต แต่ไม่ว่าจะวัดด้วยสูตรไหน ประเทศไทยก็จัดว่ามีความทุกข์น้อยในกลุ่มต้นๆทั้งสิ้น

แล้วเรามีความสุขกันจริงๆไหม......

ถ้าเอาประเทศไทยไปเปรียบเทียบกับประเทศที่มีค่า Misery Index สูงๆ 10 อันดับแรก อย่างเวเนซูเอล่าแชมป์ 3 ปีซ้อนที่ได้คะแนนปาเข้าไป 499.7(เงินเฟ้อ 492% ว่างงาน 8%) หรือ อาฟริกาใต้(32.2) อาร์เจนติน่า(30.9) กรีซ(23.2) ตุรกี(19.8) สเปน(19.6) ยูเครน(19) เซอร์เบีย(17.9) บราซิล(17.3) และอุรุกวัย(15.9) เราก็คงจะเห็นด้วยว่าประชาชนไทยน่าจะมีความสุขมากกว่า ...แต่ถ้าไปเปรียบกับพวกประเทศพัฒนาแล้วอย่างพวกในยุโรปเหนือ ในสแกนดินาเวีย สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ หรือในเอเชียอย่างสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เราก็อาจจะสงสัยว่าเรามีความสุขมากกว่าเขา มีความทุกข์น้อยกว่าเขาตามที่ดัชนีชี้บอกจริงหรือ

ตามอันดับในดัชนี มีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่มีดัชนีต่ำกว่า 3 คือมี2.6 และมีแค่อีก 4 ประเทศเท่านั้นที่ต่ำกว่า5 คือ สิงคโปร์(3.1) สวิสเซอร์แลนด์(3.6) ญี่ปุ่น(3.6) และไอซ์แลนด์(4.6) นอกนั้นล้วนมีความทุกข์(Misery)เกิน5ทั้งสิ้น ...ที่พี่ไทยมีความสุขชนะคนอื่นหลุดลุ่ยก็เพราะเรามีคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ 1.6% และมีคาดการณ์อัตราการว่างงานเพียง 1.0% เท่านั้น

การที่เรามีเงินเฟ้อต่ำนั้น จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย ...ถึงแม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกจะมีอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ประมาณปีละ 3% แต่การที่เรามีเงินเฟ้อ -0.9%ในปี 2015 และ 0.2%ในปี2016นั้น เป็นที่น่าเป็นห่วงว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ถึงแม้ว่าปี 2017 คาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มเป็น 1.6% แต่ก็ยังต่ำมากถ้าเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่คาดว่าจะเฟ้อ4.5% ...แน่นอนครับ เงินเฟ้อสูงมากๆย่อมนำความทุกข์ยากมาให้ประชาชน แต่เงินเฟ้อต่ำเกินไปก็ทำให้การพัฒนาหยุด การเติบโตชะงัก โดยเฉพาะประเทศอย่างเราที่มีคนจำนวนมากมีรายได้ขึ้นกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์(Commodity)ที่ราคาดันลดลง ย่อมทำให้คนกลุ่มนี้เดือดร้อน ซึ่งดันเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยเสียอีก

ส่วนเรื่องอัตราการว่างงาน ที่ประเทศไทยครองแชมป์ว่ามีคนว่างงานน้อยที่สุดในโลกต่อเนื่องมาหลายปี โดยเป็นหนึ่งในสองประเทศในโลกเท่านั้นที่มีอัตราการว่างงานต่ำกว่า1% (มีเพียงกาตาร์ที่มีพลเมืองแค่สองล้านเศษอีกประเทศเท่านั้น)

ประเทศนอกนั้นมีการว่างงานมากกว่า 2%ทั้งหมด โดยในภาวะปรกติที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี ประเทศพัฒนาแล้วจะมีอัตราว่างงาน 4-7% อย่างอเมริกาที่ตอนนี้ถือว่าดีจนจะต้องขึ้นดอกเบี้ยก็เพราะมีอัตราว่างงานแค่4%เศษ ...ที่ตัวเลขการว่างงานเราต่ำอย่างไม่น่าเชื่อเช่นนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเป็นห่วงว่าไม่ได้สะท้อนภาวะแท้จริง เพราะนิยามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติใช้ คนที่มีงานทำอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ถือว่ามีงานทำแล้ว ถ้าโรงงานปิดตกงานกลับบ้านนอก แค่ไปช่วยเก็บถั่วฝักยาวที่บ้านสักอาทิตย์ละครั้งก็ถือว่ามีงานทำแล้ว การจ้างงานไม่เต็มที่(Underemployment) ที่ประเทศไทยมีเยอะไม่ถูกนับใน Misery Index แถมเวลามีการสำรวจ คนว่างงานไทยไม่ค่อยจะชอบเปิดเผยตัว เพราะเปิดไปก็อายเปล่าๆไม่ได้อะไร ไม่มีสวัสดิการใดๆให้เหมือนประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายที่คนว่างงานเขารีบไปรายงานตัวรับเงินสวัสดิการ ...นอกจากนั้น ถ้าเราไม่มีคนว่างงานจริงๆ ยิ่งน่าเป็นห่วงใหญ่ว่าเศรษฐกิจชะงักงันติดกับอยู่อย่างนี้ แถมกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ "แก่ก่อนรวย" แล้วจะเอาคนจากไหนมาช่วยเพิ่มผลผลิต

สรุปว่า การที่เราได้แชมป์โลกสามปีซ้อน มีMisery Index(ที่เอาอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานมาบวกกันดื้อๆ) ต่ำที่สุดในโลกนั้น เป็นเรื่องควรดีใจควรฉลอง หรือควรกังวลควรทุ่มเททำงานให้หนักขึ้นนั้นยังน่าสงสัยนัก ถ้ามีหน่วยงานไหนควรได้รับคำชมเชยควรได้รางวัล ก็น่าจะมีแค่สำนักงานสถิติแห่งชาติแหละครับ ที่ช่วยนิยามช่วยสำรวจการว่างงานซะจนเราทิ้งห่างทุกประเทศแบบไม่เห็นฝุ่น

ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ ไม่ได้ตั้งใจจะขัดคอ หรือจะขัดขวางให้เสียบรรยากาศการฉลองข่าวดีใดๆเลยนะครับ เพียงแต่อยากให้ตระหนักถึงความจริง ไม่อยากให้มีความประมาทใดๆนะครับ เรายังมีงานต้องทำอีกเยอะ ก่อนที่ความทุกข์ยากของประชาชนทั้งหลายจะหมดไป

หมายเหตุ - นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) , กรรมการคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ , อดีตกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด

ที่มา https://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/658876804315622