posttoday

Early Auction สำคัญอย่างไร?

13 มีนาคม 2560

ภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร ดีแทค

โดย...ภารไดย ธีระธาดา  รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค

ประเทศไทยไม่เคยมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุด

ระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทาน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายตามมามากมายแก่ทุกฝ่าย กล่าวคือ ภาคประชาชนก็เกิดความกังวลว่าจะ
ไม่สามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่องได้ และไม่ได้รับประโยชน์จากผู้ประกอบการรายใหม่ในทันทีอย่างที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ ยังทำให้ผลประโยชน์ของชาติเสียหาย เพราะหากจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทาน รัฐก็จะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่เร็วขึ้น ซึ่งก็หมายถึงดอกผลจำนวนมหาศาลที่รัฐจะได้รับจากเงินดังกล่าว รวมทั้งรัฐวิสาหกิจเจ้าของทรัพย์สินและอุปกรณ์ในโครงข่ายเสียหายเพราะไม่สามารถกระทำการใดๆ กับโครงข่ายสัมปทานได้ เกิดการฟ้องร้องกับผู้ประกอบการรายเดิมที่ยังคงใช้โครงข่ายอยู่ต่อไป

ในส่วนของผู้ประกอบการรายเดิมก็จะเกิดความเสียหาย เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนเนื่องจากเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานก็ต้องโอนย้ายลูกค้าออกไป รายได้ลดรายจ่ายเพิ่ม อาจส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องให้รัฐ (กสทช.) ชดเชยหากถูกรัฐวิสาหกิจเจ้าของโครงข่ายฟ้องให้ชำระค่าโครงข่าย (จากการใช้โครงข่ายต่อตามมาตรการเยียวยา)

ด้านผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลก็เกิดความเสียหายเช่นกัน เพราะไม่สามารถใช้คลื่นได้ทันที อีกทั้งการใช้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์การนำส่งรายได้เข้ารัฐด้วย อันจะเห็นได้จากที่ปัจจุบัน กสทช.กำลังดำเนินการฟ้องร้องให้ทรูมูฟและดีพีซีชำระรายได้เข้ารัฐตามจำนวนที่ กสทช.ประเมิน แต่ทางผู้ประกอบการทั้งสองรายก็มองว่ารายได้ที่ กสทช.กำหนดนั้นเป็นค่าใช้จ่ายไม่สะท้อนความจริง

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการไม่มี Early Auction ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทุกฝ่ายตามมามากมาย

แล้วหากไม่มี Early Auctionจะเกิดอะไรขึ้น?

หากไม่มีการ Early Auction ความเสียหาย การฟ้องร้อง ก็จะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิมไปเรื่อยๆ จึงถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยจะออกมาตรการแบบ Proactive ป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมอีกต่อไป มิใช่ปล่อยให้เกิดความเสียหายแล้วจึงมาแก้ไขในภายหลัง ทั้งๆ ที่การออกมาตรการเยียวยาแก้ไขก็ไม่เคยเกิดประโยชน์แก่ฝ่ายใดเลย

การไม่มี Early Auction ยังทำให้ประเทศไทยสูญเสียปัจจัยในการสนับสนุนต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในวงกว้างเพราะแน่นอนว่าธรรมชาติของผู้ประกอบการย่อมไม่ลงทุนหากยังไม่มีความแน่นอน แต่หากมี Early Auction ความแน่นอนก็จะเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบกิจการที่ชนะการประมูลก็จะสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าควรจะต้องลงทุนเมื่อใด จำนวนเท่าใดควรลงทุนให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใด และสามารถเตรียมเม็ดเงินเพื่อรองกับการลงทุนดังกล่าวได้

ขณะเดียวกัน แม้แต่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมก็สามารถวางแผนธุรกิจ และเตรียมการลงทุน เพื่อระบบและสร้างโครงข่ายไว้ล่วงหน้าได้หากผู้ประกอบการรายใหม่ดังกล่าวเป็นผู้ชนะการประมูล และเมื่อระยะเวลาใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดลงผู้ประกอบการรายใหม่ก็สามารถให้บริการได้ทันที และไม่ต้องเสียโอกาสทางธุรกิจ

การลงทุนดังกล่าวก็จะก่อให้เกิดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ส่งผลดีต่อผู้รับเหมาติดตั้งและขยายโครงข่าย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม รวมถึงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่นผู้ผลิตและจำหน่ายสมาร์ทโฟน การค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมผ่านมือถือรวมถึงการให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง และยังทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากข้อมูลของ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ในระยะยาวการลงทุนโครงข่ายนั้นจะเปลี่ยนแปลงหน้าตาของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจโทรคมนาคมไทยไปในเชิงบวก ตัวอย่างเช่น ภายหลังการประมูลคลื่นความถี่ 2100 MHz เพียงไม่ถึง 2 ปี ประเทศมีระดับการเข้าถึงสมาร์ทโฟนอย่างรวดเร็วปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40% ทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านบาทในปี 2014 และยังช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นและคอนเทนต์บนสมาร์ทโฟน

ข้อมูลดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่าการมี Early Auction ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนโครงข่ายตามที่กล่าวมานั้นจะทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การลงทุน รวมถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนสนับสนุนความพยายามในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลให้เป็นจริงอีกด้วย

ตัวอย่างของ Early Auctionที่เกิดขึ้นในนานาอารยประเทศ เช่นในสหภาพยุโรป ประเทศนอร์เวย์ ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศเนเธอร์แลนด์ ล้วนแล้วแต่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายให้มีการประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตอย่างน้อย 1-2 ปีทั้งสิ้น และในบางประเทศ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพิ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการจัดประมูลล่วงหน้าอย่างน้อย 2-4 ปีด้วยซ้ำ เนื่องจากเห็นว่าระยะเวลา 1-2 ปี ตามกฎหมายเดิมไม่เพียงพอสำหรับเอกชนในการวางแผนการลงทุน

นอกจากนี้ แม้แต่ในประเทศไทยเอง การประกอบธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งถือเป็นของรัฐ เพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม และมีการให้สัมปทาน หรือออกใบอนุญาต ก็ได้มีการกำหนดเรื่องการต่ออายุ (ซึ่งก็คือหลักการเดียวกันกับการ Early Auction) ก่อนสิ้นสุดระยะตามสัมปทาน หรือใบอนุญาตไว้ในกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 กำหนดให้ผู้รับสัมปทานยื่นคำขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมก่อนสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือใน พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 กำหนดให้ผู้ถือประทานบัตรยื่นคำขอต่ออายุก่อนครบกำหนดไม่น้อยกว่า 180 วันต่อเจ้าพนักงานฯ เป็นต้น

ตัวอย่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ากฎหมายไทยได้วางกฎเกณฑ์ให้มีการต่ออายุใบอนุญาตก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาตทั้งสิ้น แล้วเหตุใดกิจการโทรคมนาคมที่มีผลประโยชน์ต่อประเทศจำนวนมหาศาลและกำลังจะเป็นอนาคตของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจึงไม่เคยมีการจัดการกับคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

บริษัทขอเสนอให้กำหนดใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ให้จัดให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากหลังจากได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว ผู้ประกอบการที่ชนะการประมูลหากเป็นผู้ลงทุนรายใหม่จะต้องใช้เวลาพอสมควรก่อนที่จะเริ่มต้นให้บริการได้

สำหรับในกรณีที่เป็นการเปลี่ยนมือผู้ประกอบการซึ่งมีโครงข่ายอยู่แล้วก็จะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่านโครงข่ายและวางแผนการลงทุนเพื่อรองรับคลื่นความถี่ใหม่ที่จะได้รับ

ในกิจการอื่นๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น กิจการปิโตรเลียม กิจการเหมืองแร่ซึ่งเป็นเพียงการต่ออายุให้กับผู้ได้รับอนุญาตรายเดิมที่ไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนใหม่แต่อย่างใด กฎหมายยังกำหนดให้ต่ออายุล่วงหน้าอย่างน้อย6 เดือน ดังนั้น ระยะเวลา 1 ปี กับกิจการโทรคมนาคมที่ต้องมีการลงทุนใหม่หรือเปลี่ยนผ่านโครงข่ายจึงไม่เป็นระยะเวลาที่ยาวนานแต่อย่างใด (ระยะเวลาดังกล่าวยังสามารถศึกษาได้จากบทเรียนของต่างประเทศอีกด้วย)

12 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทาน ดังนั้น หากไม่กำหนดไว้ในกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของ กสทช. Early Auction คงจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากบุคคลทุกคนเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ กสทช. เพราะเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติแต่กลับไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

ที่ผ่านมามีเพียงมาตรา 27(1) กำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่จัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แต่ไม่ได้บัญญัติว่าแผนดังกล่าวนั้นต้องมีเนื้อหาอย่างไร ครอบคลุมถึงประเด็นใดบ้าง เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่จะต้องปฏิบัติก็คงเป็นการยากที่ กสทช.จะดำเนินการเพราะเกรงจะถูกฟ้องร้องได้

ดังนั้น จึงควรกำหนดให้ชัดเจนในกฎหมายว่า Early Auctionเป็นหน้าที่ที่ กสทช.จะต้องปฏิบัติเพื่อเป็นการให้ความมั่นใจแก่ กสทช.ในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวด้วย