posttoday

มหาดไทย 4.0

28 กุมภาพันธ์ 2560

สุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

โดย...สุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้โมเดลประเทศไทย 4.0 นำความท้าทายมาสู่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐว่าจะตีโจทย์ที่ได้รับและนำไปขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เป็น “ส่วนราชการ 4.0” ไปในทิศทางใด สำหรับกระทรวงมหาดไทยก็ด้วยเช่นกันว่าจะสามารถสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนทั่วทุกพื้นที่ ตามอุดมการณ์ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ได้อย่างไร ท่ามกลางภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

หากจะลองตีความโจทย์ในชั้นต้น “มหาดไทย 4.0” คือการปรับเปลี่ยนกลไกการขับเคลื่อนการบริหารราชการเพื่อรองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นภาพใหญ่ โดยการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างจากเดิมที่เน้นระบบราชการ เช่น การใช้กลไกผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน ไปสู่การจัดการและบริหารสาธารณะที่เน้นความเชื่อมโยงกับทุกฝ่าย มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความสามารถในการปรับตัวและความริเริ่มสร้างสรรค์ กล่าวโดยสรุปคือ การเป็นส่วนราชการที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมอันเป็นปัจจัยเกื้อหนุน (Incentive) ให้ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมสามารถพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไปได้โดยประสบอุปสรรคปัญหาน้อยที่สุด

ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยเองมีความพยายามพัฒนาระบบการบริหารราชการให้มีประสิทธิภาพมาโดยตลอด จากการเรียนรู้ประสบการณ์ที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการบริหารราชการจังหวัดและอำเภอ สิ่งที่ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของตัวเองในที่นี้คือการบริหารโครงการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดซึ่งมีที่มาของแหล่งงบประมาณที่แตกต่างกัน ได้แก่ งบจังหวัด/กลุ่มจังหวัด งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบกระทรวง กรมที่อนุมัติโดยตรงให้หน่วยงานในพื้นที่มาดำเนินการโดยไม่ผ่านจังหวัด มักจะประสบปัญหาการบริหารงบประมาณ การแยกส่วนและความไม่เชื่อมโยงกับเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนปัญหาเรื่องการติดตามและประเมินผลโครงการ

ประเด็นอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะบริหารงานในภาวะจำกัดเช่นนี้ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมอย่างสมบูรณ์ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีการริเริ่มนำระบบไอทีมาช่วยเสริมศักยภาพในการบริหารการพัฒนา โดยพัฒนาเครื่องมือสำหรับใช้บริหารจัดการโครงการทุกประเภทจากทุกแหล่งงบประมาณที่ดำเนินการในพื้นที่ ทั้งการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ให้ข้อเสนอแนะ รายงานผล ประเมินผล รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานได้เบ็ดเสร็จ นอกจากจะช่วยให้การบริหารแผนงาน/โครงการบรรลุเป้าหมาย เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ข้อมูลที่ผ่านการประเมินผลอย่างเป็นระบบ ยังสามารถนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาในปีถัดไปให้มีคุณภาพอีกด้วย

ระบบติดตามประเมินผลแผนงาน โครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด (PADME : Provincial Administration Development & Promotion Monitoring & Evaluation) เป็นนวัตกรรมที่กระทรวงมหาดไทยเริ่มพัฒนาอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2554 โดยมีความมุ่งหมายให้เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานของจังหวัด/กลุ่มจังหวัดได้อย่างสมบูรณ์ สามารถรายงานผลได้ใน 3 มิติ คือ (1) จังหวัด/กลุ่มจังหวัด (Area-Base) (2) กระทรวง/กรม (Function-Base) และ (3) ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล (Agenda-Base) เช่น การดูภาพรวมผลการดำเนินโครงการได้ทั้งในแบบภาพรวมของหน่วยงาน จังหวัด/กลุ่มจังหวัด กรม กระทรวง รวมถึงระดับประเทศ การดูการกระจายตัวของโครงการในพื้นที่ถึงระดับอำเภอด้วยระบบแผนที่

การดูสถานะการดำเนินงานและการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งในลักษณะของข้อความบรรยายและการแสดงผลในรูปแบบหน้าปัดเข็มไมล์ที่แสดงผลการดำเนินงานเป็นร้อยละ กราฟและสัญญาณไฟไล่ตามระดับสีของความสำเร็จในรูปแบบ Management Cockpit การดูรายงานผลการประเมินโครงการที่แสดงให้เห็นว่าโครงการที่ดำเนินการไปแล้วส่งผลอย่างไร เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการหรือไม่ ประชาชนพึงพอใจหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ ควรขยายหรือยกเลิก บทเรียน จุดเด่น จุดด้อยของโครงการอยู่ที่ไหน จะบริหารโครงการให้ยั่งยืนได้อย่างไร การแจ้งปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ รวมถึงการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาและตอบข้อชี้แจงผ่านโปรแกรมในลักษณะเรียลไทม์ ตลอดถึงการติดตามผลการดำเนินงาน การส่งภาพถ่ายผลงานและการตรวจราชการในพื้นที่ด้วยแอพพลิเคชั่นที่ติดตั้งในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งรองรับทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และไอโอเอส

ปัจจุบัน PADME เป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานระดับนโยบาย ได้แก่ สำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และด้วยความพร้อมของระบบ PADME ทั้ง (1) ด้านเครื่องมือซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ใช้งานอยู่แล้ว สามารถประหยัดงบประมาณเมื่อเปรียบเทียบกับการพัฒนาเครื่องมือในลักษณะเดียวกัน และทุกฝ่ายเข้าถึงได้ทั้งผู้ปฏิบัติงาน ผู้บริหาร และประชาชน (2) ด้านบุคลากร โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดและสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดมีความเข้าใจสามารถเป็นพี่เลี้ยงหน่วยงานอื่นในพื้นที่เพื่อนำข้อมูลเข้าระบบได้ และ (3) ด้านระบบปฏิบัติการซึ่งสามารถเชื่อมโยงข้อมูล BB-EvMIS ของสำนักงบประมาณ ระบบ e-plan ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ PMOC ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ด้วยเหตุดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยขอเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้ใช้ระบบ PADME เป็นเครื่องมือกลางในการติดตามและประเมินผลงบประมาณโครงการตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) และเชื่อมโยงระบบเข้ากับกลไกการกำกับติดตามและการประเมินผลอื่นๆ อาทิ คณะกรรมการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค (กกภ.) คณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) และคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) เป็นต้น

การพัฒนา PADME จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของ “มหาดไทย 4.0” ที่พยายามนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอันทันสมัยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการ มุ่งเน้นการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบข้อมูลสารสนเทศให้สามารถรองรับการใช้งานของทุกภาคส่วนภายใต้มาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการพัฒนาต่อยอดให้เป็นโปรแกรมสำหรับรายงานผลการดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีเพียงระบบเดียว (One Report) ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ข้อมูลมีความเป็นเอกภาพ ลดภาระของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและประหยัดงบประมาณแผ่นดิน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน (Government to Government, Business and People) อันจะนำไปสู่การจัดการโครงการและบริหารสาธารณะในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ

การผลักดันองค์กรไปสู่ “มหาดไทย 4.0” ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังรวมถึงความพยายามในการสร้างความเป็นรัฐที่เปิดกว้างไร้รอยต่อด้วยการสร้างฐานข้อมูลสารสนเทศภาครัฐขนาดใหญ่ (Big Government Data) ที่เป็นเอกภาพ บูรณาการ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลผ่านบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ ระบบฐานข้อมูลทะเบียนที่ดิน เป็นต้น ที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อให้บริการสาธารณะ ตลอดจนการให้บริการข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับประชาชน ซึ่งจะได้นำมาขยายความในโอกาสต่อไป