posttoday

ธรรมกาย-ปรองดองเกิดได้ต้องเริ่มที่นิติรัฐ

27 กุมภาพันธ์ 2560

วัดพระธรรมกายเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งสร้างความขัดแย้งทางความคิดให้กับสังคมไทยมีการแบ่งข้างแตกความคิด

โดย...ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

ท่ามกลางประเทศกำลังเข้าสู่โหมดปรองดอง มีการเชิญพรรคการเมืองและกลุ่มคนซึ่งมีความเห็นทางการเมืองต่างกันจนไม่สามารถประนีประนอมกันได้ ในอดีตมีการแบ่งกลุ่มแบ่งข้างถึงขั้นจลาจลเป็นสงครามการเมือง ผู้คนบาดเจ็บล้มตายนับเป็นพันคน กระทบเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศอยู่เกือบ 10 ปี จนบ้านเมืองตกร่องเดินไปไหนไม่ได้ จนที่สุดได้นายกฯ ลุงตู่เข้ามาห้ามทัพแต่ก็ยังฮึ่มๆ ทำท่าไม่จบ จนมีการตั้งกรรมการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งชื่อยาวกว่านี้มากแต่เรียกง่ายๆ ว่า “ป.ย.ป.” เข้ามาแก้ปัญหา

ประเด็นปรองดองกลายเป็นปัญหาระดับชาติเพราะเป็นมะเร็งร้ายกัดกินประเทศ หากจะเดินหน้าประเทศไทยต้องก้าวผ่านเรื่องนี้ให้ได้ กลุ่มขัดแย้งมีทั้งกลุ่มที่ประกาศตัวชัดเจนและกลุ่มพลังเงียบ มีตั้งแต่ชาวบ้าน ผู้นำมวลชน นักการเมือง พรรคการเมือง นักวิชาการ รวมทั้งสื่อมวลชน แบ่งข้างไม่ฟังเหตุผล

ช่วงเปิดการเจรจาขอความคิดเห็นมีหลากหลายความคิด แต่ส่วนใหญ่จะไปในทางเดียวกันว่าหากจะปรองดองก็ต่อเมื่อกลุ่มของตนได้ประโยชน์หรือได้เปรียบ บางพรรคการเมืองเห็นว่าคุมคะแนนเสียงได้ก็เร่งให้เลือกตั้งเร็วๆ ปรองดองไว้ทีหลัง

ส่วนบางพรรคการเมืองหากเห็นว่าไม่ได้เปรียบจากการเลือกตั้ง ก็อยากให้มีการปรองดองก่อนเพื่อสร้างเงื่อนไขทำให้กลุ่มของตนสามารถต่อรองเรื่องต่างๆ ได้ ขณะที่ผู้บริหารประเทศต้องการปรองดองแบบ 100% เพื่อสร้างกติกาที่จะคุมการเลือกตั้งให้ได้นักการเมืองซึ่งเชื่อฟัง-สอนง่าย-ไม่เช็ก บิลย้อนหลัง จึงไม่อยากคาดหวังว่า ผลจะเป็นอย่างไรแต่ก็ยังดีกว่าการที่ไม่ได้ทำอะไรเลย

สำหรับเหตุการณ์ซึ่งทุกคนในประเทศกำลังให้ความสนใจและเกี่ยวข้องกับความปรองดองในด้านความศรัทราและความเชื่อ คือกรณี “ธรรมกาย” ซึ่งยืดเยื้อข้ามปีจากความล้มเหลวในการเข้าค้นวัด เพื่อตามหาอดีตเจ้าอาวาสพระธัมมชโยถึง 2 ครั้งแต่ล้มเหลว เพราะศิษยานุศิษย์ระดมกำลังเรือนหมื่นขัดขวาง จนที่สุดต้องใช้มาตรา 44 ประกาศเป็นเขตควบคุมพิเศษ งานนี้ทำท่าเอาจริง เพราะใช้กำลังตำรวจสนธิทหารรวมกันเกือบครึ่งหมื่นนาย ต่างใช้สรรพกำลังกลยุทธ์ดึงมวลชนเป็นพวก

วัดพระธรรมกายเป็นอีกกรณีหนึ่ง ซึ่งสร้างความขัดแย้งทางความคิดให้กับสังคมไทยมีการแบ่งข้างแตกความคิด พวกหนึ่งเชียร์ให้เร่งตามจับตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดีความผิดข้อหาฟอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และสารพัดคดีอีกมากกว่า 300 คดี บางคนปฏิเสธลัทธิธรรมกาย เพราะขัดกับคำสอนของพุทธศาสนา ขณะที่กลุ่มซึ่งศรัทธาหลวงพ่อไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายพิเศษและใช้กำลังเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุเหมือนกับไปรังแกคนที่เลื่อมใสในวัดพระธรรมกาย ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกับลูกศิษย์และพระสงฆ์องค์เจ้า

ปัญหาการปรองดอง จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ขยายวงไปถึงเรื่องความเชื่อและความศรัทธา ประเด็นธรรมกายต้องแยกให้ชัด ความเชื่อในหลักคำสอนของพุทธศาสนากับหลักคำสอนของวัดพระธรรมกาย ซึ่งคงไม่เถียงว่าต่างก็ต้องการให้เป็นคนดีด้วยกันทั้งนั้น แต่วิธีการได้มาซึ่งบุญกับความดีมีความแตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดเพราะศาสนาพุทธหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแค่ร้อยกว่าปี ก็แยกออกเป็น 2 นิกาย คือมหายานและหินยานหรือเถรวาท ขณะเดียวกันเรายอมรับและไหว้พระทั้งพระจีน พระทิเบต
พระญี่ปุ่น พระญวน พระอินเดีย ล้วนเป็นพระในพระพุทธศาสนา แต่คำสอนและวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าถึงบุญถึงธรรมต่างกัน

ถ้ายอมรับความแตกต่างตรงนี้ได้ ปัญหาต่างๆ คงน้อยลง เป็นเรื่องที่ต้องเห็นใจทุกฝ่ายและทำความเข้าใจ ประเด็นที่อยากจะกล่าวถึงคือต้องแยกให้ออกระหว่างความเชื่อและศรัทธาของธรรมกายกับกรณีของตัวบุคคลที่ได้รับเงินบริจาคกว่า 800 ล้านบาท เป็นเงินซึ่งผู้บริจาคยักยอกมาจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ถึงแม้จะคืนไปแล้วแต่ความผิดตามกฎหมายยังคงอยู่ หากทางวัดไม่รู้หรือไม่มีส่วนร่วมใดๆ ก็ต้องเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนในประเทศต้องยอมรับ ไม่ใช่มาขัดขืนและปนเปกับเรื่องความศรัทธาทางศาสนาและคำสอนของธรรมกาย

กรณีนี้บานปลายเป็นเรื่องไม่จบง่ายๆ เพราะรัฐบาลงัดมาตรา 44 โดดมาเล่นเต็มตัว ส่วนทางวัดกำลังต่อสู้กับกฎหมายของบ้านเมือง ประชาชนทั้งประเทศกำลังเฝ้าดูว่า รัฐบาลจะรักษาอธิปไตยความเป็นนิติรัฐได้หรือไม่งานนี้เดิมพันสูงทุกฝ่ายจึงถอยไม่ได้ กลายเป็นความเห็นที่แตกแยกเกี่ยวข้องกับความเชื่อ ซึ่งยึดโยงกับตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง ก็เหมือนกับกรณีปัญหาความขัดแย้งด้านการเมืองซึ่งก็ยึดโยงตัวบุคคลมากกว่าการใช้หลักเหตุผลและปัญญากลายเป็นเรื่องอัตตา

การแก้ปัญหาความปรองดองเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แค่บอกว่ามาคุยกันหรือเป็นเรื่องของคนไม่มีการศึกษาคำตอบคงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจและความศรัทธาในตัวบุคคลมากกว่าศรัทธาในตัวองค์กร ขนาดผู้ที่มีความรู้ทั้งสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกวัน หรือเป็นถึงพระสงฆ์องค์เจ้า แทนที่จะมาสอนให้คนเดินให้ถูกต้องตามหลักธรรมะกลับเป็นเสียเอง การแก้ปัญหาปรองดองต้องมีผู้เสียสละ-ยอมถอย-ยอมเสียบ้าง ต้องเริ่มต้นที่ปฏิบัติตามกติกาของบ้านเมือง คือกฎหมายซึ่งเป็นหลักนิติรัฐ หากไม่มี “รัฐ” ก็อยู่ไม่ได้...เขียนง่ายๆ แต่ทำจริงยากครับ

**********************

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)