posttoday

"โรงไฟฟ้าถ่านหิน" ความเป็นมาและประเด็นขัดแย้ง

19 กุมภาพันธ์ 2560

เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat

หลายคนกำลังพูดเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมจึงอยากเสนอข้อคิดบางประการ ไม่ใช่สนับสนุนหรือคัดค้าน เพียงแต่อยากชี้ว่ามีจุดไหนบ้างที่น่าสนใจและทำไมเป็นเช่นนั้น

บทความนี้ยาวมาก แต่ถ้าเราจะตัดสินใจหนุนหรือค้าน มันก็ต้องมีเหตุมีผลครับ

เหตุผลในที่นี้ ผมไม่ขอกล่าวถึงประเภทรัฐบาลเอาใจนายทุน ไอ้พวกเอ็นจีโอค้านประจำ ฯลฯ

สำหรับผมแล้ว การไปต่อว่าคนใดคนหนึ่งว่าเขาไม่ดีมีลูกเล่น มันก็เจ๊งตั้งแต่แรกแล้วครับ

โลกกำลังเลิกใช้ถ่านหิน ?

ฝ่ายคัดค้านยกประเด็นนี้ขึ้นมาหลายครั้ง ซึ่งบางทีมันก็ใช่ในอนาคต แต่บางทีก็ไม่ใช่ในยุคนี้

เพราะฝ่ายสนับสนุนก็รีบยกข้อมูลมาโต้กลับ เมืองไทยใช้ถ่านหินไม่ถึง 1 ใน 4 ของสัดส่วนพลังงานทั้งประเทศ หลายประเทศในโลกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าในสัดส่วนมากกว่าเรานะ

ไม่เชื่อ ! ฝ่ายค้านก็บอกเช่นนี้ แต่ฝ่ายสนับสนุนก็ทำแผนภูมิขึ้นมาให้ดู ซึ่งข้อมูลพวกนี้มันพิสูจน์ได้
หลายประเทศมีหน่วยงานด้านข้อมูลการพลังงานไฟฟ้าที่เข้าไปโหลดดูได้ หรือแค่เสิร์ช electricity sector in ประเทศนั้นๆ ก็ได้ข้อมูลแล้วครับ

ฝรั่งเศสใช้ถ่านหินนิดเดียว ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าใช่สิ เพราะเขาใช้พลังงานนิวเคลียร์ 77 เปอร์เซ็นต์
จีนเริ่มเลิกโรงงานถ่านหิน ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่า จีนเลิกบางส่วนได้เพราะไฟฟ้ากว่าครึ่งมาจากถ่านหิน ของไทยมีแค่หน่อยเดียว ต่อให้จีนยกเลิกไปครึ่งประเทศ ไฟฟ้าในจีนก็ผลิตจากถ่านหินในสัดส่วนมากกว่าในไทยอยู่ดี (ผมใช้คำว่า “สัดส่วน” ไม่ใช่ปริมาณนะครับ)

พอยกประเทศโน้นนี้ขึ้นมาอ้าง ก็จะมีข้อมูลโต้กลับไปทีละประเทศ ยกเว้นบางประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านพลังงานหมุนเวียนจริงจัง เช่น เดนมาร์ก

แต่พอถามว่าทำไมไม่ทำแบบเดนมาร์ก ผลิตพลังงานลมได้มากๆ ฝ่ายสนับสนุนก็จะบอกว่าแล้วเรายินดีจ่ายค่าไฟเท่าคนเดนมาร์กไหม (ค่าไฟเดนมาร์กแพงที่สุดชาติหนึ่งในยุโรป)

ต่อให้คนในบ้านจ่ายได้ แล้วภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะเป็นยังไง ไฟฟ้าไม่ได้ใช้เฉพาะในบ้านนี่นะ

คำถามที่โยนกันไปมาเช่นนี้ มันจึงไม่มีคำตอบสักที

ในความคิดผม เทรนด์โลกกำลังเปลี่ยน พลังงานหมุนเวียนมาแน่ เพียงแต่ว่าเทรนด์โลกไม่ได้เปลี่ยนเร็วระดับ 1-2 ปี แต่อาจใช้เวลา 10-20 ปีหรือกว่านั้น เพราะปัจจัยสำคัญคือราคาค่าไฟ

ประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้ว เน้นนวัตกรรม คุณภาพคนสูง สามารถผลิตอะไรที่ขายได้แพง เขาไม่ต้องเดือดร้อนกับค่าไฟมากนัก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีปัญญาจ่าย เพราะเน้นผลิตของคุณภาพมากกว่าปริมาณ

แต่ประเทศที่เน้นการผลิต แม้บางประเทศมีนวัตกรรมสูงแต่มีพลเมืองมาก ก็ยังต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมดำรงอยู่ได้ พวกนี้ทำค่าไฟฟ้าสูงมากไม่ได้ครับ มันจะซวยเอาเพราะนักลงทุนหนีหมด

ประเทศไทยเจอสองเด้ง ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่เราเน้นปริมาณ เนื่องจากคุณภาพการผลิตของเรายังไม่ถึงขั้นนั้น เรายังเจอภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้ไฟฟ้าอีกเยอะ

ประเทศอื่นเขากำลังเปลี่ยนเทรนด์ทีละนิดละหน่อยได้ เนื่องจากเขามีสัดส่วนถ่านหินค่อนข้างสูงตั้งแต่ต้น เวลาจะลดก็ลดลงมาเรื่อยๆ เพื่อปรับเป็นพลังงานหมุนเวียน
ประเทศไทยมีสัดส่วนถ่านหินน้อย เมื่อจะขยับตามเทรนด์ เราเลยทำได้ลำบาก แทนที่จะต้องลดไฟฟ้าจากถ่านหิน กลับเป็นต้องเพิ่ม ขณะที่เรากำลังปรับไปใช้ไฟฟ้าหมุนเวียนตามเทรนด์โลก

แล้วทำไมเรามีสัดส่วนถ่านหินน้อยล่ะ ?

คำตอบอยู่ที่เราพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเยอะมาก และตอนนี้เรากำลังเดือดร้อนเพราะก๊าซเริ่มใกล้หมดอ่าว

หมดจริงหรือ ? นั่นเป็นอีกประเด็นที่ต้องพูดกันอีกยาว แต่ถ้าดูปริมาณก๊าซสำรองที่พิสูจน์ได้ (เน้นย้ำคำว่าพิสูจน์ได้ เป็นข้อมูลที่ภาครัฐใช้ในการตัดสินใจ) ต้องบอกว่าก๊าซในอ่าวจะมีน้อยลงเรื่อย

แล้วเรานำเข้ามาไม่ได้หรือ ? ฝ่ายสนับสนุนจะบอกให้ไปดูราคาก๊าซเองสิจ๊ะ หากไล่ตามลำดับราคาจากน้อยไปมาก ก๊าซของไทย –ก๊าซของพม่า-ก๊าซนำเข้า ราคามันต่างกันเห็นๆ

หากนำเข้ามาก ค่าไฟก็จะพุ่ง ถ่านหินจึงเป็นพลังงานฟอสซิลทางเลือกเดียวที่ฝ่ายสนับสนุนบอก (ไม่นับนิวเคลียร์คงเป็นไปได้ยากในช่วงนี้)

แต่ถ้าผมเป็นฝ่ายคัดค้าน ผมจะลองถามคำถามแปลกๆ เช่น ก็รู้อยู่แล้วนี่ว่าก๊าซกำลังจะหมด รู้ล่วงหน้ามาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี แล้วทำไมเราไม่ปรับสัดส่วนไฟฟ้าจากถ่านหินตั้งแต่ตอนโน้น ทำไมรอให้ก๊าซจะหมดค่อยมาเร่งรีบ ?

ทำไมสัดส่วนที่มาของไฟฟ้าในไทยถึงต่างจากประเทศอื่น ทำให้เราไม่สามารถค่อยๆ ปรับลดถ่านหิน แต่ต้องมาติดกับดักเพิ่มไฟฟ้าจากถ่านหิน ทั้งที่ประเทศอื่นเขาสามารถลดได้ ?

ฝ่ายสนับสนุนก็คงตอบนั่นนี่มากมาย ซึ่งอันนั้นก็ต้องว่ากันไป

นอกจากนั้นยังมีคำถามแบบไล่ไปเรื่อย ผมจะยกตัวอย่างให้ดู

ทำไมเมืองไทยถึงมีไฟฟ้าสำรองสูงนัก ?

หากถามฝ่ายสนับสนุน เขาจะบอกคณะกรรมการฯ คิดตาม GDP ของสภาพัฒน์ ใส่สูตรคำนวณแล้วออกมาได้อย่างนี้ หากมันเกินไป ก็ต้องไปถามสภาพัฒน์ว่าทำไมคำนวณ GDP ผิดพลาด

สภาพัฒน์ก็ตอบว่า แค่คำนวณปีต่อปียังผิดเลย โลกยุคนี้มันยุ่งเหยิงนัก จะให้คำนวณล่วงหน้านานทีละหลายปีแล้วแม่นเป๊ะ ไปทำเองสิจ๊ะ (ซึ่งทำเองไม่ได้ฮะ ต้องใช้ของสภาพัฒน์เท่านั้นฮะ)

ฝ่ายสนับสนุนจะบอกอีกว่า แล้วรู้ไหมว่าปริมาณไฟฟ้าสำรอง รวมปริมาณไฟฟ้าที่เราประหยัดได้เข้าไปด้วย โดยเราตั้งตัวเลขไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำได้ตามเป้านะจ๊ะ (แล้วตั้งตัวเลขค่าประหยัดไฟฟ้าไว้สูงทำไมเล่า ? ฮิๆ)

สุดท้ายฝ่ายสนับสนุนก็จะตบด้วยคำถามว่า ต่อให้ไฟฟ้าสำรองทั้งประเทศมีสูง แต่ภาคใต้ก็ยังปริ่ม ผิดกับภาคอื่นที่เกินพอเหลือเฟือ เราถึงไม่สร้างภาคอื่น ต้องมาสร้างที่ภาคใต้ไงจ๊ะ

แล้วทำไมไฟฟ้าภาคใต้ถึงขาด ?

ฝ่ายคัดค้านก็บอกว่าคนใต้อยู่สบายๆ เราไม่ต้องการอุตสาหกรรมหนัก

ฝ่ายสนับสนุนก็ตอบกลับว่า อุตสาหกรรมที่ไหนจ๊ะ ? เขาลงแผนพัฒนาที่ภาคตะวันออก อุตสาหกรรมจะเกิดได้ต้องมีคนเพียงพอ ภาคใต้ขาดแรงงานด้านนี้

ไฟฟ้าขาดเพราะการท่องเที่ยว ยิ่งเมืองไทยเน้นการท่องเที่ยวเท่าไหร่ ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากขึ้นเท่านั้น แล้วภาคใต้นั่นแหละคือพื้นที่การท่องเที่ยวหลัก เฉพาะภูเก็ตก็มีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปกว่าร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ

ปีนี้เราคาดว่ามีนักท่องเที่ยวมาไทย 34 ล้านคน ลองคิดเองว่ามีกี่คนไปภาคใต้

เวลาฝ่ายคัดค้านยกประเด็นนี้ขึ้นมา ก็จะเจอคำตอบแบบนี้อยู่ร่ำไปฮะ และการท่องเที่ยวไทยทำรายได้สูงสุด เป็นสัดส่วนเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP รัฐบาลไหนก็ไม่กล้าไปยุ่งกับการท่องเที่ยวมากมาย เพราะผลกระทบมันแรงนัก

แล้วทำไมเราไม่ส่งไฟฟ้าจากภาคอื่นไปให้ ?

นั่นแหละคือสิ่งที่เราเข้าใจไม่ตรงกัน ฝ่ายสนับสนุนโดยเฉพาะคนไฟฟ้า เขาเรียนมาว่าแหล่งผลิตไฟฟ้าอยู่ใกล้แหล่งใช้เท่าไหร่ ยิ่งประหยัดและปลอดภัยในแง่การส่งไฟฟ้า

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านบอกว่า เพื่อสิ่งแวดล้อม เราสมควรลงทุนนะ

ฝ่ายสนับสนุนก็จะบอกกลับว่า รู้ไหมว่าเราสูญเสียไฟฟ้าไปจากการส่งระยะทางไกลๆ เท่าไหร่ ? หลายสิบเปอร์เซนต์นะจ๊ะ แล้วค่าไฟฟ้าที่เสียไปใครจ่าย ก็ต้องใส่เข้าไปในค่าไฟที่ประชาชนจ่าย

ฝ่ายค้านยังมีประเด็นว่าเรานำเข้าไฟฟ้าจากมาเลย์ก็ได้นะ

ฝ่ายสนับสนุนก็บอกกลับว่า แล้วรู้เปล่าว่ามาเลย์ขายเรายูนิตละเท่าไหร่ แพงกว่าค่าไฟที่เราขายให้ประชาชนตั้งเยอะ ถ้าเป็นอย่างนั้น ประชาชนทุกคนก็ต้องรับภาระค่าไฟส่วนต่างอีกนั่นแหละ

ผมยกตัวอย่างให้เห็นว่า เรายืนอยู่คนละจุด มองคนละมุมมาตลอด ฝ่ายสนับสนุนเน้นว่าค่าไฟต้องยอมรับได้เป็นหลัก (ความมั่นคงทางพลังงาน)

ฝ่ายค้านคิดว่าเราต้องดูสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ เป็นหลักด้วยนะ แต่ฝ่ายสนับสนุนก็บอกกลับมา ถ้าค่าไฟฟ้าแพงแล้วใครโดนด่า ฝายค้านโดนด่าเรอะ ?

การมองต่างมุมทำให้เกิดความขัดแย้ง แม้แต่ในพื้นที่

ฝ่ายหนึ่งอาจอยากได้โรงไฟฟ้า เพราะเขาชั่งใจแล้วว่ามันคุ้มกับสิ่งที่เขาได้ (ลองอ่านเรื่องกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จะเข้าใจความหมายว่าชุมชนที่อยู่รอบจะได้อะไร)

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านชั่งใจแล้วว่าไม่คุ้ม อาจเป็นเพราะบางส่วนไม่ได้อยู่ในรัศมีที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า (เรื่องนี้ผมเคยเล่ามาแล้ว ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมกำหนดรัศมีเป็นตัวเลขเป๊ะๆ ทำไมไม่ดูตามผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าไปถึงไหนบ้าง)

หมู่บ้าน A ที่อยู่ในรัศมี ได้ประโยชน์จากกองทุน หมู่บ้าน B ที่ห่างไปนิดเดียว เกินแนวกรอบ ไม่ได้อะไรเลย ทั้งที่อาจซวยเหมือนกัน ถ้าผมอยู่ในหมู่บ้าน B ผมก็คงโวยเหมือนกันครับ

หรือบางส่วนอยู่ในรัศมี แต่คิดแล้วเห็นว่ากองทุนให้ไม่พอหรือให้ไปไหนก็ไม่รู้ ไม่เห็นตรงเป้า อย่างนั้นก็เป็นเรื่องของบุคคล

ทำไมคนในพื้นที่ไม่หนุนทั้งหมดหรือค้านทั้งหมด ? คำตอบบางส่วนมันอยู่ตรงนี้แหละครับ

ยังมีอีกหลายเรื่องราว แต่ที่ผมเห็นว่าต้องระวังให้มาก คือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทะเล

จริงอยู่ที่ฝ่ายสนับสนุนจะบอกว่า ตรงนี้ก็เคยมีโรงไฟฟ้านะ แต่ผมก็จะบอกว่า โรงไฟฟ้าเดิมทีใช้ถ่านหินจากแหล่งตรงนั้น ไม่ใช่นำเข้ามาทางทะเล

หรือถ้าจะบอกว่านำน้ำมันเตาเข้ามาใช้อยู่ตอนนี้ มันก็ไม่เหมือนกัน เพราะปริมาณมันผิดกันมหาศาล

ผมเป็นห่วงอุบัติเหตุทางทะเล เพราะทราบดีว่าเขาไม่ได้ขุดร่องน้ำที่สันดอน เนื่องจากกลัวรบกวนระบบนิเวศรอบด้าน นั่นเป็นเรื่องดี
แต่การใช้เรือเล็กขนส่งถ่านหินมา แล้วต้องรอเวลาเพื่อข้ามสันดอน มันมีโอกาสในฤดูมรสุมที่คลื่นแรงๆ แล้วเรือมันจะล่ม

การเร่งรัดทำ EIA อาจเป็นเพราะว่ามันควรจะเสร็จสักที แต่สิ่งที่สมควรมีและเป็นห่วงคือระบบบริหารความเสี่ยงและจัดการอุบัติเหตุทางทะเล (หากเกิด)

ผมไม่ได้ห่วงเพียงถ่านหินลงทะเล แต่ผมกลัวน้ำมันที่ใช้ในเรือขนถ่านหินลงทะเลด้วย เพราะน้ำมันมันโหดกว่าถ่านหินเยอะ

หากอยากสร้างความมั่นใจ ก็ควรอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่า เราเตรียมการป้องกันไว้อย่างไร ทุ่นกักเก็บน้ำมันมีมั้ย เก็บถ่านหินขึ้นจากทะเลได้ไหม ฯลฯ มีการซ้อมให้ดูด้วยยิ่งดีใหญ่

แล้วทางเลือกอื่นล่ะ ?

นี่เป็นคำถามที่ฝ่ายสนับสนุนยกมาใช้ประจำ อย่าค้านอย่างเดียวสิจ๊ะ

ฝ่ายค้านพยายามยกมา แต่แทบทุกทางมีคำตอบรออยู่แล้ว

ซื้อไฟจากลาว ส่งไฟฟ้าไปใต้ ? คำตอบคือลงทุนสูง สูญเสียไฟระหว่างทาง

นิวเคลียร์...ตกไป ทั้งสองฝ่ายรู้แก่ใจว่าคนคงไม่ยอมรับในตอนนี้

ก๊าซ...มันจะหมด (จากตัวเลขที่พิสูจน์ได้) นำเข้ามาก็แพง

น้ำมัน...ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ราคาน้ำมันผันผวน อีกทั้งมลพิษจะหนักกว่าถ่านหินด้วยซ้ำ

พลังงานหมุนเวียน นี่คือประเด็นที่ถกเถียงกันมากสุด ฝ่ายค้านก็บอกว่าแสงแดดฟรี ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าแล้วสร้างโซล่าร์ฟาร์มไม่ตัดต้นไม้ให้เกลี้ยงก่อนเหรอ

ไฟฟ้าบนหลังคา ผมสนับสนุนแนวนี้มาตลอด เอาแค่ใช้ไฟฟ้าในบ้าน ยังไม่ต้องถึงขั้นขายไฟให้การไฟฟ้า เพราะเขาไม่ค่อยอยากซื้อแล้ว เนื่องจากต้องซื้อมาแพงกว่าราคาขาย มันก็เข้าไปอยู่ในค่า FT ให้ประชาชนรับภาระอยู่นั่นเอง

ฝ่ายสนับสนุนบอกว่า คนไม่อยู่บ้านกลางวัน เพราะฉะนั้น ต้องมีแบตเก็บไฟ ฝ่ายค้านก็บอกว่าทำได้ ทำให้ดูก็ได้ ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าแล้วทำได้กี่หลัง มันจะมั่นคงบ้างไหม

พลังงานลม ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าไม่เสถียร บางช่วงลมไม่พัด ก็ต้องมีตัวเก็บไฟฟ้าเหมือนกัน แล้ววินด์มิลน่ะตัวละเท่าไหร่ เป็นร้อยล้านไม่รวมระบบสำรองไฟนะจ๊ะ

ขยะ...แฮ่ม เอาให้โรงไฟฟ้าขยะมูลค่ามหาศาลที่หาดใหญ่ให้เปิดทำงานต่อได้ก่อนนะครับ

อีกเรื่องที่อยากให้เข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่าถ่านหินเป็นของนายทุน พลังงานหมุนเวียนเป็นของชาวบ้าน

เพราะพลังงานหมุนเวียนที่เราใช้กันส่วนใหญ่ก็นำมาจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เคยมีการปั่นหุ้นพุ่งฉิวเท่าไหร่ แมงเม่าทั้งหลายคงทราบดี

มันจึงกลับมาคำตอบเดิม ทำไมประเทศอื่นค่อยๆ ลดถ่านหินและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนได้ แต่เราต้องเพิ่มถ่านหินไปด้วยและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนไปด้วย ก็เพราะสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของเรามันผิดจากประเทศอื่นไงครับ

ด้วยผลที่ผ่านมาเช่นนี้ เราจึงค่อนข้างจะจนตรอกกับทางเลือก หากเลือกพลังงานหมุนเวียน ค่าไฟก็จะเกินที่ตั้งเป็นมาตรฐานไว้ เขาจึงพยายามประคองให้ค่าไฟอยู่ในมาตรฐานด้วยการเพิ่มถ่านหินเข้าระบบไป ในระหว่างที่ยังไม่สามารถทำราคากับพลังงานทางเลือกให้เหมาะสม

มลพิษ ? เรื่องนั้นก็ต้องว่ากันไป แล้วแต่ใครจะยกอะไรมาอ้าง ฝ่ายสนับสนุนบอกว่าโรงงานไฟฟ้าถ่านหินใจกลางเมืองมีตั้งเยอะ ไปดูที่ญี่ปุ่นสิ ในยุโรปก็มี

ฝ่ายค้านก็บอกว่าแม่เมาะ ฝ่ายสนับสนุนก็บอกว่าตอนนี้ดีแล้วนะ แต่สมัยก่อนมันมีปัญหา กลายเป็นบาดแผลเรื้อรัง คนไฟฟ้าคงจำกันได้ว่าเหตุการณ์บายพาส ผมขอพูดแค่นี้

บางคนบอกว่า เทคโนโลยีดีมีอยู่แล้ว แต่ไม่เชื่อระบบทำงานแบบไทยๆ อันนี้ผมคงไม่พูดต่อ เพราะมันไม่ใช่เหตุผลที่สามารถอธิบายได้

เล่ามายาวยืด จนถึงบทสรุป แล้วอาจารย์คิดว่าควรทำอย่างไร ?

ผมไม่สามารถตอบได้ เพราะอะไรที่ตัวเองจะค้าน มันต้องมีชัดเจน แต่เหตุผลทั้งหมดที่ว่ามามันไม่ใช่เช่นนั้น ยกเว้นคำถามบางประการ เช่น

ทำไมคนไฟฟ้าถึงต้องไปซื้อเหมืองถ่านหินล่วงหน้า ?

(เพื่อความมั่นคง แต่ถ้าจะดูกลับกัน ถ่านหินมีเยอะแยะ ในตลาดโลกมีขายตลอด โรงงานไฟฟ้าหลายชาติในโลกก็ไม่ได้เป็นเจ้าของเหมือง เขายังไม่เห็นมีปัญหา คำถามนี้จึงอาจตอบยากสักนิด)

ทำไมต้องเป็นกระบี่ ทำไมเป็นนากุ้งร้างๆ เยอะแยะไปในภาคใต้ เอาที่ไม่ค่อยมีคน จะได้สบายใจ จากนั้นก็ต่อสายไฟเข้าระบบ ?

คำตอบประเภทก็โรงไฟฟ้ามีอยู่แล้วตรงนี้ คงไม่ใช่เหตุผลเท่าไหร่นัก เพราะไงๆ ถ่านหินตรงนี้ก็หมดแล้ว จะสร้างตรงไหนก็ต้องนำเข้ามา
หากไปซื้อที่นากุ้งร้างๆ ก็คงลงทุนไม่เท่าไหร่ ท่าเรือก็ต้องสร้างใหม่อยู่แล้ว เลือกจุดที่ไม่ค่อยรบกวนระบบนิเวศหรืออยู่ใจกลางแหล่งท่องเที่ยวก็ได้

เหตุผลสำคัญอาจเป็นเรื่องมวลชนในพื้นที่ คนไฟฟ้าไม่อยากไปเปิดพื้นที่ใหม่ เนื่องจากคุ้นเคยกับชุมชนโดยรอบอยู่แล้วมั้งฮะ ต้องถามเขาเอง

สรุปสุดท้ายคือบทความนี้ไม่ได้เขียนเพื่อฟันธงว่าควรเอาหรือไม่ควรเอา เป็นแค่การนำเสนอความคิดเห็น และผมไม่ได้มีหน้าที่ฟันธงหรือไปเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่องนี้ จึงไม่ขอตอบ

หวังว่าเพื่อนธรณ์ที่กำลังงง เกิดอะไรขึ้นเนี่ย ? จะพอเข้าใจความเป็นมาและประเด็นขัดแย้ง

หากให้ความคิดเห็น ขอความกรุณาหลีกเลี่ยงการต่อว่าแบบไม่มีเหตุผล อย่าใช้อารมณ์ในการตอบ มิฉะนั้นผมขออนุญาตลบ ขออภัยล่วงหน้าครับ

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

หมายเหตุ - ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat/posts/1642781749070355