posttoday

บีอาร์ทีอเมริกา คนน้อยแต่ไม่ยกเลิก

17 กุมภาพันธ์ 2560

เฟซบุ๊ก...ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

เฟซบุ๊ก...ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์


บีอาร์ทีอเมริกา คนน้อยแต่ไม่ยกเลิก
กทม.เร่งทำโพลล์รายงานนายกฯ หลังถูกเบรก

รถประจำทางด่วนพิเศษ (Bus Rapid Transit หรือ บีอาร์ที) มีใช้ในหลายประเทศทั้งในทวีปเอเชีย อเมริกา ยุโรป และแอฟริกา วันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2560) ผมขอพูดถึงบีอาร์ทีในอเมริกา โดยเปรียบเทียบกับบีอาร์ทีในกรุงเทพฯ ของเรา เพื่อชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้บีอาร์ทีในหลายเมืองของอเมริกามีผู้โดยสารน้อยกว่าบีอาร์ทีของเรา แต่เขาก็ไม่ยกเลิกการให้บริการ

บีอาร์ทีในอเมริกาที่นำมาเปรียบเทียบประกอบด้วยบีอาร์ทีในลอสแอนเจลิส พิตต์สเบิร์ก ลาสเวกัส และคลีฟแลนด์ โดยมีข้อมูลปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน ค่าก่อสร้างเฉลี่ยต่อกิโลเมตร และจำนวนปีที่เปิดให้บริการ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีข้อมูลผลการประกอบการ ข้อมูลเหล่านี้มีที่มาจากรายงานชื่อ “More Development for Your Transit Dollar” โดย Walter Hook และคณะ ซึ่งเป็นรายงานที่เขียนขึ้นในปี พ.ศ.2558 อนึ่ง ค่าก่อสร้างต่อกิโลเมตรนั้น ได้รวมค่าจัดซื้อรถและระบบตั๋วไว้ด้วยแล้ว


ผมขอพูดถึงบีอาร์ทีในแต่ละเมืองในอเมริกา เรียงลำดับตามจำนวนผู้โดยสารจากมากไปหาน้อย ดังนี้

เริ่มด้วยบีอาร์ทีในลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นสายสีส้ม เปิดให้บริการมา 12 ปี แล้ว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 33,000 คนต่อวัน และใช้ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 470 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
ตามด้วยบีอาร์ทีสายตะวันออกในพิตต์สเบิร์ก เปิดใช้มานานถึง 34 ปี แล้ว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 24,000 คนต่อวัน และเงินลงทุนก่อสร้างเฉลี่ย 560 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
ถัดมาเป็นบีอาร์ทีในลาสเวกัส ซึ่งเปิดให้บริการมาเป็นเวลา 7 ปี แล้ว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 16,789 คนต่อวัน และใช้เงินก่อสร้างเฉลี่ย 190 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
ส่วนบีอาร์ทีที่คลีฟแลนด์นั้น เปิดใช้งานมา 9 ปี แล้ว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 15,800 คนต่อวัน และค่าก่อสร้างเฉลี่ย 200 ล้านบาทต่อกิโลเมตร
ท้ายสุด กลับมาดูบีอาร์ทีที่พิตต์สเบิร์กอีกครั้ง ซึ่งเป็นบีอาร์ทีสายใต้ เปิดให้บริการมานานมากถึง 40 ปี แล้ว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 9,262 คนต่อวัน และใช้ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 370 ล้านบาทต่อกิโลเมตร


หากเปรียบเทียบบีอาร์ทีทั้ง 5 สาย ในอเมริกาดังกล่าวข้างต้นกับบีอาร์ทีในกรุงเทพฯ ซึ่งเปิดใช้งานมาเกือบ 7 ปี แล้ว มีผู้โดยสารเฉลี่ย 23,427 คนต่อวัน และค่าก่อสร้างเฉลี่ย 120 ล้านบาทต่อกิโลเมตร จะเห็นได้ว่า บีอาร์ทีในกรุงเทพฯ ของเราเปิดใช้งานมาน้อยกว่าบีอาร์ทีในอเมริกาทุกเมือง ยกเว้นลาสเวกัสซึ่งเปิดใช้งานมา 7 ปี เท่ากัน อีกทั้ง ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าบีอาร์ทีในอเมริกาทุกเมือง ในขณะที่บีอาร์ทีของเรามีผู้โดยสารมากกว่าบีอาร์ทีในลาสเวกัส คลีฟแลนด์ พิตต์สเบิร์ก (สายใต้) และมีผู้โดยสารใกล้เคียงกับบีอาร์ทีสายตะวันออกในพิตต์สเบิร์ก มีเพียงเมืองเดียวเท่านั้นที่บีอาร์ทีของเรามีผู้โดยสารน้อยกว่า นั่นคือลอสแอนเจลิส ซึ่งหากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่คิดจะยกเลิก แล้วมุ่งมั่นปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการอย่างจริงจัง ผมมั่นใจว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และจะลดการขาดทุนลงได้แน่นอน


อนึ่ง ผมทราบมาว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สอบถามมายังกทม.ด้วยวาจาว่า ยกเลิกบีอาร์ทีเพราะเหตุใด ขอให้กทม.ทำหนังสือชี้แจงสตง.ด้วย
ที่สำคัญ ผมได้รับข้อมูลมาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ว่ากทม.กำลังจะว่าจ้างสถาบันการศึกษาให้ทำการสำรวจความคิดเห็นหรือโพลล์ของประชาชนที่มีส่วนได้เสียกับบีอาร์ที โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,000 ราย แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย (1) ผู้โดยสารบีอาร์ที (2) ผู้ขับขี่ยานพาหนะทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะในแนวเส้นทางบีอาร์ที (3) ตำรวจจราจรในแนวเส้นทางบีอาร์ที (4) ผู้ประกอบการพาณิชย์ในแนวเส้นทางบีอาร์ที และพื้นที่ใกล้เคียง (5) ประชาชนที่พักอาศัยหรือทำงานในเขตสาทร บางคอแหลม บางรัก และธนบุรี และ (6) ประชาชนที่พักอาศัยหรือทำงานในพื้นที่โดยรอบเขตที่ระบุไว้ในข้อ 5 ทั้งนี้ เพื่อนำผลโพลล์รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งที่กทม.ได้ประกาศยกเลิกบีอาร์ทีก่อนที่จะทำโพลล์ และยังยืนยันอย่างแข็งขันว่าจะไม่ทบทวนการตัดสินใจหรือจะไม่เปลี่ยนใจอย่างแน่นอน จะอย่างไรก็ตาม กทม.จะยกเลิกบีอาร์ทีให้ได้ แต่อาจเป็นเพราะถูกสั่งให้ทบทวน จึงต้องรีบทำโพลล์อย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ผลโพลล์และข้อมูลเปรียบเทียบบีอาร์ทีในเมืองดังกล่าวข้างต้น คงทำให้กทม. สามารถทำรายงานเสนอต่อท่านนายกฯ ซึ่งจะเป็นรายงานที่สนับสนุนคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวานนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2560) ว่า ยังไม่มีการยกเลิกบีอาร์ที
ถึงเวลานี้ ผู้โดยสารบีอาร์ทีคงเตรียมเฮได้แล้ว

ที่มา https://www.facebook.com/samart.ratchapolsitte/posts/10208408534636088