posttoday

"การขาดดุลงบประมาณ" ปัญหาน่าเป็นห่วงของรัฐบาล

07 กุมภาพันธ์ 2560

เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala

เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala

เรื่องปัญหาเงินคงคลัง มี 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณาแยกกัน ดังนี้

1 มุมที่แสดงปัญหาต่อความยั่งยืนทางการคลัง มุมที่หนึ่ง "เงินคงคลังที่ลดลง เป็นการแสดงว่ารัฐบาลถังแตกหรือไม่"

ผมตอบว่าเงินคงคลังเป็นยอดบริหารเงินสดในมือ การที่มียอดลงลง ในตัวของมันเอง ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลถังแตก และในการบริหารเงินสดที่เหลือนั้น ถ้าเห็นว่ามีน้อยไป รัฐบาลก็สามารถกู้เข้ามาตุนไว้ในมือได้ ประชาชนจึงไม่ควรจำเป็นต้องกังวลในจุดนี้มากเกินไป

2 มุมที่แสดงปัญหาต่อความยั่งยืนทางการคลัง มุมที่สอง "การเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่"

วิธีวิจารณ์แง่มุมนี้ ต้องติดตามตัวเลขอย่างละเอียด ว่าการเก็บรายได้ต่อ จีดีพี เป็นไปตามงบประมาณที่ตั้งไว้หรือไม่ ถ้าเป็น ความเสี่ยงต่อการยั่งยืนทางการคลัง ก็อยู่ในกรอบที่ตั้งเป้าหมายไว้
ผมเองไม่ได้ติดตามการเก็บรายได้ แต่คาดว่าอาจจะไม่ได้หลุดไปจากเป้ามากนัก

3 มุมที่แสดงปัญหาต่อความยั่งยืนทางการคลัง มุมที่สาม คือ "ตัวเลขขาดดุลงบประมาณ"
รัฐบาลใดที่ดำเนินการขาดดุลงบประมาณมากๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับครอบครัวที่มีเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท แต่ใช้จ่ายเดือนละ 30,000 บาท

ยิ่งขาดดุลงบประมาณมาก ก็ยิ่งต้องกู้เงิน ยิ่งต้องเป็นหนี้ เป็นการสร้างภาระทิ้งไว้ให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลาน

ตัวเลขขาดดุลงบประมาณในรัฐบาล คสช. ปรากฏว่าบานตะไทออกไปแล้ว

อ.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า

"ในช่วงปีงบประมาณ 2550-2556 ซึ่งเรามีอยู่ด้วยกัน 5 นายกรัฐมนตรี ในช่วงนั้น เราขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยปีละ 289,703 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 12.6 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในแต่ละปี (พูดง่ายมีเงิน 100 แต่จ่าย 112 บาท)

แต่ในช่วงรัฐบาลของท่าน (ปีงบประมาณ 2558 และ 2559) ท่านขาดดุลงบประมาณเฉลี่ยปีละ 395,145 ล้านบาท (หรือขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดิมปีละเกือบหนึ่งแสนล้านบาท) ซึ่งเทียบเป็นร้อยละ 17.1 ของเงินรายได้ของรัฐบาลในแต่ละปี

เพียงแค่ช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 นี้ ท่านขาดดุลงบประมาณไป 418,282 ล้านบาท มากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 111,346 ล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งในประเด็นการขาดดุลงบประมาณนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ชี้แจงใดๆ ส่วนท่านนายกรัฐมนตรีก็ตอบนักข่าวด้วยฉุนเฉียวว่า มีคนขอให้รัฐบาลช่วยเยอะ รัฐบาลจึงตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องดังกล่าว"

ทั้งนี้ การเปรียบเทียบตัวเลขขาดดุลแต่ละรัฐบาล ยังมีตัวเลขที่ซ่อนอยู่และอาจจะเหลื่อมจากรัฐบาลหนึ่ง ไปอีกรัฐบาลหนึ่ง เช่น สมมุติอาจมีขาดทุนหนี้สูญในแบงก์รัฐ หรือขาดทุนโครงการจำนำข้าว ที่เกิดในรัฐบาล ก. และต้องมีชดเชยด้วยงบประมาณในรัฐบาล ข. เป็นต้น ซึ่งผมไม่มีตัวเลขนี้

นอกจากนั้น การขาดดุลที่เกิดจากงบลงทุน ก็ไม่น่าตกใจเท่ากับการขาดดุลจากงบประจำ เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะสร้างรายได้แก่ประเทศในอนาคต ทำให้รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้นต่อไป

แต่ที่น่าห่วงใยมากที่สุด คือการขาดดุล เพื่อโครงการประชานิยม ประเภทเพื่ออุ้มการอุปโภคบริโภค ประเภทแจกเงินคนจน ประเภทช้อบช่วยชาติ ฯลฯ เพราะใช้เงินแล้ว เงินหายต๋อมไปเลย
การขาดดุลเพื่อโครงการประชานิยม ไม่แตกต่างจากการกู้เงิน แบบ "เต้นกิน รำกิน" ที่เกิดขึ้นในประเทศลาตินอเมริกา

การที่นายกรัฐมนตรี ให้คำอธิบายว่า ต้องใช้จ่ายประชานิยมเพราะ "มีคนขอให้รัฐบาลช่วยเยอะ รัฐบาลจึงตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องดังกล่าว" นั้น ผมเห็นว่าไม่ใช่วิธีบริหารการคลังที่ดี

อ.เดชรัต วิจารณ์ว่า "รัฐบาล คสช.จึงควรมีการกำหนดกรอบการขาดดุลงบประมาณให้ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาล คสช.เอง เพราะการขาดดุลงบประมาณที่มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นการสร้างภาระให้กับรัฐบาลและประชาชนไทยในอนาคต

มิฉะนั้น บทแรกของยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต อาจต้องเริ่มต้นจากการยุทธศาสตร์การใช้หนี้ที่ก่อกันในวันนี้"

ผมเห็นด้วยอย่างมาก และเป็นข้อวิจารณ์ที่รัฐบาล คสช. ควรรับไปปรับปรุงด่วน และควรให้กระทรวงการคลังเสนอโครงการมองไปข้างหน้าว่า จะสามารถนำประเทศทะยอยกลับสู่การคลังสมดุลในส่วนของงบประจำได้อย่างไร เมื่อใด

ทั้งนี้ ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผมเคยเสนอแนวคิดว่า วิธีป้องปรามประชานิยมแบบโอเวอร์ ที่ทำได้ง่ายที่สุด ก็คือการห้ามรัฐบาลกู้เงิน เพื่อชดเชยขาดดุลงบประมาณจากรายจ่ายประจำ
คือให้กู้ได้เฉพาะสำหรับโครงการลงทุน ซึ่งจะปิดประตูประชานิยม ให้ทำได้เฉพาะที่ไม่เกินรายได้ของรัฐบาลเท่านั้น

แต่ผมส่งข้อเสนอนี้ไปให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลระดับรองนายกรัฐมนตรี และผู้ใหญ่ระดับอดีตนายกรัฐมนตรีเพื่อไปให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ แต่คาดไม่ถึงว่า จะมีการแหวกแนวคิดนี้อย่างหนักในรัฐบาล คสช.

การใช้จ่ายประชานิยมเพื่ออุปโภคบริโภค มีผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ตัวเลข จีดีพี สูงขึ้นก็จริง และทำให้รัฐบาลเป็นที่นิยมชมชอบของประชาขนก็จริง
แต่ไม่มีอะไรที่เป็นของฟรีในโลก

เพียงแค่ภาระการใช้หนี้ จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต่อไปเท่านั้น

หมายเหตุ - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และเป็นประธานกลุ่ม ก.ล.ต. อาเซียน (ACMF) 2 สมัย