posttoday

ทำไมรถไฟฟ้าสายสีม่วง ยังคงเงียบเหงา

06 กุมภาพันธ์ 2560

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์

6 เดือน ผ่านไป
ทำไมรถไฟฟ้าสายสีม่วง
ยังคงเงียบเหงา

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน มาตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2559 จนถึงวันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2560) นับเวลาได้ 6 เดือนแล้ว ถือว่าเป็นเวลามากพอที่ประชาชนผู้สนใจจะใช้บริการสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางให้สอดรับกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงได้ แต่กระนั้นก็ตาม ปริมาณผู้โดยสารยังน้อยมากแม้เวลาได้ผ่านมาพอสมควรแล้ว ตอนเปิดให้บริการใหม่ๆ ผู้เกี่ยวข้องหลายคนให้สัมภาษณ์ว่าจะต้องรอเวลาให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง หลังจากนั้นจะมีผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแน่ แต่ผ่านมาแล้ว 6 เดือน ผู้โดยสารก็ยังน้อยมาก น้อยเสียจนผู้โดยสารในยามค่ำคืนกลัวผีจะหลอก เพราะหลายสถานีช่างเงียบวังเวงยิ่งนัก โดยเฉพาะสถานีที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (ข้ามสะพานพระนั่งเกล้าไปทางบางใหญ่) เงียบจริงๆ

หากมีการจัดลำดับสถานีรถไฟฟ้าที่เงียบเหงาที่สุดในโลก ผมมั่นใจว่าหลายสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะได้ครองแชมป์โลกแน่

ผมได้ติดตามการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วงมาโดยตลอด พบว่าจนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560หรือเป็นเวลา 6 เดือนแล้ว มีผู้โดยสารเฉลี่ยในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้

6 สิงหาคม 2559 – 31 สิงหาคม 2559 (เป็นช่วงเวลาก่อนลดค่าโดยสาร) ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 19,946 คนต่อวัน

1 กันยายน 2559 – 30 กันยายน 2559 (เริ่มลดค่าโดยสารตั้งแต่ 1 กันยายน 2559 เป็นต้นมา) ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 20,999 คนต่อวัน

1 ตุลาคม 2559 – 31 ตุลาคม 2559 ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 20,993 คนต่อวัน

1 พฤศจิกายน 2559 – 30 พฤศจิกายน 2559 ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 21,576 คนต่อวัน

1 ธันวาคม 2559 – 31 ธันวาคม 2559 ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 19,084 คนต่อวัน

1 มกราคม 2560 – 31 มกราคม 2560 ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 20,150 คนต่อวัน

1 กุมภาพันธ์ 2560 – 5 กุมภาพันธ์ 2560 ปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 21,888 คนต่อวัน

หากใช้ปริมาณผู้โดยสารในเดือนกันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาที่ลดค่าโดยสารแล้วเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบกับปริมาณผู้โดยสารในเดือนต่อๆ มา (ไม่รวมเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งยังไม่ครบเดือน) จะเห็นว่าปริมาณผู้โดยสารลดลงทุกเดือน ยกเว้นเดือนพฤศจิกายน 2559 เท่านั้นที่มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย พูดได้ว่า ยิ่งนานวัน ผู้โดยสารกลับน้อยลงหรือไม่เพิ่มขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่ให้ห่วงได้อย่างไร

ในขณะที่มีผู้โดยสารน้อย รายได้จากค่าโดยสารก็น้อยตามด้วยเช่นกัน ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีรายได้เฉลี่ย 484,300 บาทต่อวัน ในขณะที่มีรายจ่ายประมาณ 4 ล้านบาทต่อวัน กล่าวคือ รฟม.ต้องเสียค่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม ให้บริหารจัดการเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าประมาณ 3.6 ล้านบาทต่อวัน ต้องจ้างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้ขนผู้โดยสารระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อประมาณ 2 แสนบาทต่อวัน และต้องจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้ขนผู้โดยสารระหว่างสถานีบางซ่อนกับสถานีบางซื่อประมาณ 2 แสนบาทต่อวัน ทำให้รฟม.ต้องขาดทุนเฉลี่ยประมาณ 3.5 ล้านบาทต่อวัน จากวันที่ 6 สิงหาคม 2559 จนถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 รวมเวลาได้ 184 วัน ดังนั้น รฟม.ขาดทุนมาแล้วถึงประมาณ 644 ล้านบาท

รฟม.จะต้องแบกภาระการขาดทุนไปอีกยาวนาน หากยังคงปล่อยให้การบริการเป็นไปตามยถากรรมเช่นนี้ ถามว่า..

นานพอแล้วหรือยังที่ต้องรอให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง?

นานพอแล้วหรือยังที่ปล่อยให้สถานีเงียบเหงาอย่างนี้?

นานพอแล้วหรือยังที่ปล่อยให้พนักงานที่สถานีนั่งตบยุง?

หลายคนคงตอบว่านานพอแล้ว หากโครงการนี้เป็นของเอกชน ผมมั่นใจว่าเขาไม่ปล่อยให้เป็นเช่นนี้แน่ เขาจะต้องต่อสู้ทุกวิถีทางที่จะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นให้ได้ ดังตัวอย่างที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาขน) หรือบีทีเอส ได้ต่อสู้จนประสบผลสำเร็จมาแล้ว

อย่าหวังลมๆ แล้งๆ ว่า หลังจากมีการเชื่อมต่อสถานีเตาปูนกันสถานีบางซื่อแล้วจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก ผมไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น

ถึงเวลานี้ ผู้เกี่ยวข้องในกระทรวงคมนาคมจะเงียบเฉยอยู่ไย โดยเฉพาะสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเป็นผู้จัดทำแผนแม่บทโครงข่ายรถไฟฟ้าทุกสาย และจัดลำดับการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ที่สำคัญ จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ในอนาคตได้อย่างไร

รีบออกมาพูดเถอะครับ ออกมาช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกันบ้าง อย่าปล่อยให้ท่านต้องโดดเดี่ยวเดียวดายเหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วงเลยครับ

ที่มา https://www.facebook.com/samart.ratchapolsitte/posts/10208323748316483