posttoday

เข้าสู่ยุค "ถ่านถดถอย"

05 กุมภาพันธ์ 2560

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดย...ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และฝ่ายที่คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้คือ การใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินและอนาคตของโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศ

ทางฝ่ายเครือข่ายผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้โพสต์และแชร์ข้อมูลเรื่อง การยกเลิกโรงไฟฟ้าและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าถ่านหินและโรงไฟฟ้ากำลังเป็นเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีที่ล้าสมัย

ล่าสุด กฟผ.ได้ทำข้อมูลตอบโต้ว่า ทาง NGO (ทาง กฟผ.หมายถึงฝ่ายคัดค้าน) ให้ข้อมูลไม่หมด เพราะถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมี “บทบาทสำคัญ” ในการผลิตไฟฟ้าของโลกใบนี้

กฟผ.ได้ยกตัวอย่างประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ว่าก็ยังใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในปัจจุบันเช่นกัน

บทความนี้จึงช่วยขยายความรายละเอียดของข้อถกเถียงดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันมากขึ้น โดยเจาะลึกลงไปถึงแนวโน้มของการใช้ถ่านหินในประเทศทั่วโลก แนวโน้มการใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา

ภาพรวมการใช้ถ่านหินทั่วโลก

ข้อมูลจาก BP Statistical Review of World Energy (June 2016) แสดงให้เห็นว่า ในปี 2558 ปริมาณการใช้ถ่านหินทั่วโลกลดลงไป 1.8% ถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ทาง BP บันทึกมา โดยการใช้ถ่านหินในสหรัฐอเมริกาลดลงมากที่สุดถึง 12.7% ส่วนจีนลดลง 1.5% ไต้หวัน 3.1%

การลดลงของการใช้ถ่านหิน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตถ่านหินทั่วโลกลดลงถึง 4% ในปี 2015 โดยการผลิตในอินโดนีเซีย (ที่มีนักลงทุนไทยเข้าไปซื้อเหมืองถ่านหินไว้) ลดลงไป 14.4% ในสหรัฐอเมริกาลดลงไป 10.4% และในจีนลดลงไป 2%

การใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า

ข้อมูล International Energy Agency (IEA) รายงานว่า Coal Mid-term Market Report 2016 ระบุว่า ปริมาณการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกลดลง ตามนโยบายกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศต่างๆ

โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา การใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าลดลงเป็นอย่างมาก ล่าสุดมีอัตราลดลงถึง 15% ต่อปี อันเนื่องมาจากการลดลงของราคาก๊าซ และการปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินตามมาตรฐานการลดสารปรอทและมลพิษทางอากาศที่เข้มงวดขึ้น

วิธีการหนึ่งที่ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น คือ การพิจารณาแนวโน้มของสัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด กล่าวคือ หากถ่านหินยังเป็นที่นิยม สัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น แต่หากสัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าลดลง แปลว่าถ่านหินเริ่มไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป

เมื่อพิจารณาโดยใช้สัดส่วนนี้จากฐานข้อมูลของธนาคารโลกจะเห็นว่า ถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้า โดยสัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2556 มีสัดส่วนอยู่ที่ 41.1% แต่สัดส่วนนี้มีแนวโน้มลดลงช้า จากที่เคยมีสัดส่วน 41.2% ในปี 2550

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาแยกแยะตามกลุ่มประเทศจะเห็นว่า สัดส่วนการใช้ถ่านหินในประเทศที่พัฒนาแล้ว (หรือกลุ่มประเทศ OECD) ลดลงจาก 36.9% ในปี 2550 เหลือ 29.1% ในปี 2558

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา สัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าในประเทศลดลงจาก 49.9% ในปี 2550 เหลือ 39.9% ในปี 2556

ในกรณีของสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) สัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าในสหภาพยุโรปลดลงจาก 29.9% ในปี 2550 เหลือ 27.5% ในปี 2556

หรือในกรณีประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่รายหนึ่งของโลก มีสัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าลดลงจาก 77.1% ในปี 2550 เหลือ 64.7% ในปี 2556

ในขณะที่ถ่านหินกำลังไม่เป็นที่นิยมอีกแล้วในประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางกลับมีการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นจาก 41.1% ในปี 2550 มาเป็น 49.6% ในปี 2556

ทั้งนี้ ยกเว้นในกรณีของประเทศจีน ที่สัดส่วนการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าลดลงจาก 80.9% ในปี 2550 เหลือ 75.4% ในปี 2556

เมื่อมองไปในอนาคต IEA สรุปว่า จุดสูงสุดของการใช้ถ่านหินในส่วนผสมการใช้พลังงานของโลก ได้เลยจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2554 หลังจากนี้ IEA คาดการณ์ว่า สัดส่วนการใช้ถ่านหินจะลดลงจากร้อยละ 41 ในปี 2556 เหลือเพียงร้อยละ 36 ในปี 2564

สรุป

กล่าวโดยสรุป ถ่านหินยังเป็นแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโลกและของหลายประเทศอยู่จริง ดังเช่นที่ กฟผ.กล่าวไว้ และการลด ละ เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายประเทศและในภาพรวมของทั้งโลกก็เกิดขึ้นจริง ดังเช่นที่ผู้คัดค้านกล่าวไว้เช่นกัน

และผลลัพธ์ของข้อเท็จจริงทั้งสองข้อนี้ก็คือ การใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกกำลังถดถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว ได้ก้าวเข้าสู่ยุค “ถ่านถดถอย” อย่างแท้จริง

ล่าสุด IEA สรุปไว้ใน Renewable Mid-term Market Report 2016 ว่า ในปัจจุบันโลกจะหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2558 เป็นปีแรกที่พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนมากกว่า 50% ในการเพิ่มของโรงไฟฟ้าใหม่ (หรือมากกว่าโรงไฟฟ้าจากฟอสซิลนั่นเอง) และถือเป็นปีแรกที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกมีกำลังการผลิตสะสมมากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกอีกด้วย

ก็คงถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าหรือจะถดถอย