posttoday

ต้องใช้"กฎเหล็ก"จัดระเบียบการยื้อคืนคลื่นความถี่

01 กุมภาพันธ์ 2560

โดย...ไพรัช วรปาณิ กรรมการอัยการ

โดย...ไพรัช วรปาณิ  กรรมการอัยการ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้อ่านพบข่าวพาดหัวใน "ไทยรัฐ" ทำนองว่า "อสมท วิ่งสู้ฟัดขอสิทธิใช้คลื่น 2600" ซึ่งมีเนื้อหาพอสรุปว่า บริษัท อสมท ได้ยื่นหนังสือต่อ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เพื่อขออนุญาตการนำเข้าเครื่องวิทยุ-อุปกรณ์ของบริษัท หัวเว่ยฯ เพื่อการใช้บริการในโครงการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) บนคลื่นความถี่ย่าน 2600 โดยอ้างตามสิทธิจากสัมปทาน (ที่หมดอายุ) ฮา...

ปรากฏว่าการประชุมบอร์ด กสทช. ได้พิจารณาให้ถอนวาระดังกล่าวไปก่อน เพื่อตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าการใช้สิทธิในคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของ อสมท นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? บอร์ด กสทช.จึงไม่ลงมติในประเด็นดังกล่าว และให้เลื่อนการประชุมลงมติประเด็นปัญหาการใช้สิทธิในคลื่นความถี่ที่กำลังโต้แย้งสิทธิกันอยู่นั้นไปก่อน เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการ "ความจำเป็นของการใช้คลื่นความถี่" ต่างมีความเห็นว่า อสมท ไม่มีสิทธิในการใช้คลื่นดังกล่าวอีกต่อไป เพราะสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดลงเมื่อปี 2557 แล้ว

ดังนั้น อสมท จึงมีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ ต้องส่งคลื่นความถี่ที่ถือครองไว้กลับคืนให้แก่ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรร-เปิดประมูลเพื่อสร้างรายได้ให้รัฐต่อไปถ่ายเดียว แต่ปรากฏว่า อสมท กลับเพิกเฉยเสียไม่ปฏิบัติ กลับยื่นหนังสือขอหารือกับ กสทช.อย่างมีเงื่อนไข คือจะคืนคลื่นความถี่ให้แก่กสทช.ก็ต่อเมื่อได้รับเงินชดเชย ซึ่งเรื่องนี้สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งกลับไปว่า ไม่มีอำนาจในการนี้ ต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ. 2553 ให้เสร็จก่อน

จึงเป็นเหตุทำให้เรื่องการคืนคลื่นไร้ข้อสรุป คาราคาซังเสียเวลามาจนทุกวันนี้ และกลายเป็นประเด็นปัญหาทางข้อกฎหมาย เพราะต่างอ้างความชอบธรรมในการถือครองคลื่นและยื้อการส่งคลื่นคืน ส่งผลทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสอันควรมีควรได้ไปอย่างน่าเสียดาย

ทั้งนี้ ถ้า อสมท ส่งคืนตามสัญญาสัปทานที่หมดอายุดังที่คณะอนุกรรมการตีความและสรุปความเห็นไว้ กสทช.ก็สามารถนำมาจัดสรร ประมูล สร้างรายได้ให้แก่แผ่นดิน เพื่อให้รัฐนำไปพัฒนาประเทศต่อไป เมื่อเกิดการ "ยื้อ" สิทธิดังปรากฏการณ์ ย่อมทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย ซึ่งเป็นผลจากการตรากฎหมายองค์กร กสทช. (พ.ร.บ.องค์กร กสทช.) ที่รวบรัดไม่รัดกุมในสมัยนั้น

เมื่อพิเคราะห์คำว่า "สัมปทาน" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยามไว้ว่า การที่รัฐอนุญาตให้เอกชน (หรือองค์กร) จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (คลื่นความถี่) ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานทำไม้ในป่าสัมปทาน ดังนี้แล้วถ้าสัญญาสัมปทานหมดเวลาก็คือหมด ไม่อาจจะยื้อการใช้สิทธิตามสัมปทานต่อไปอีก มิใช่หรือ?

เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรของชาติและมิให้เกิดการเสียโอกาสในการสร้างเม็ดเงินมาพัฒนาประเทศ อันเป็นประเด็นที่รัฐบาลและประชาชนในชาติกำลังให้ความสนใจเป็นพิเศษในขณะนี้

ผู้เขียนจึงได้หาโอกาสเข้าพบกับ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ อดีตอาจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันเป็น กสทช.และ กทค. ผู้มีบทบาทโดยตรงกับการกำกับดูแลกิจการด้านโทรคมนาคมของ กสทช. เพื่อขอทราบความเห็นและแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของหลักการการใช้คลื่นความถี่ที่เกิดประโยชน์สูงสุดและการสร้างรายได้แก่รัฐ อันมีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์

รศ.ประเสริฐ บอกว่า อันที่จริงนอกจากเรื่องของคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่เป็นข้อโต้แย้งและเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งที่น่าเสียดายมากที่สุดและไม่ควรมองข้ามก็คือ การปล่อยให้เกิดการ "เสียโอกาส" ในการนำเอาคลื่นความถี่ที่ใช้งานไม่สมประโยชน์ในองค์กรต่างๆ ซึ่งทิ้งไว้เปล่าๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างไร? เช่น คลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ที่กระจัดกระจายอยู่ในองค์กรต่างๆ อย่างองค์กร CAT TOT และ อสมท ในปัจจุบัน จำนวนไม่น้อย ซึ่งจากการสำรวจคร่าวๆ ปรากฏว่าองค์กรบางแห่งที่ถือครองคลื่นความถี่อยู่ ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มร้อย บางแห่งเก็บไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์แม้แต่น้อยเลยก็มี

ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการ กสทช.ต่างได้ตระหนักดีในปัญหาเหล่านี้ และเชื่อว่าถ้าหากสามารถนำเอาคลื่นความถี่ที่เหลือใช้ หรือใช้ไม่เต็มประโยชน์เหล่านั้น มาจัดสรร-ประมูลให้แก่เอกชนเพื่อการนำไปใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ย่อมจะก่อเกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และการพัฒนาเทคโนโลยีระบบ 5จี ในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ทว่าโดยลำพังของอำนาจตามกฎหมายของ กสทช.ในขณะนี้ ยังไม่มีอำนาจสำหรับการจัดการให้เกิดประสิทธิผลตามที่ตั้งใจ เว้นแต่จะได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจของรัฐเข้ามาช่วยดำเนินการอีกแรงหนึ่ง จึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด

ในการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ อาจารย์ประเสริฐได้เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของประเด็น 5จี เป็นพิเศษว่า เนื่องจากเทคโนโลยี 5จี กำลังจะย่างก้าวเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยี 5จี ดังกล่าวนี้ จักต้องใช้คลื่นความถี่ให้เพียงพอสำหรับการรองรับ ฉะนั้นผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจึงควรเตรียมการแต่เนิ่นๆ หากปรากฏว่ามีองค์กรใดที่ไม่ให้ความร่วมมือในการเตรียมรับเทคโนโลยียุคใหม่ หรือการปฏิบัติการอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบ "เศรษฐกิจดิจิทัล" รัฐก็ควรแนะนำหรือใช้กฎเหล็กบังคับให้ทบทวนบทบาทเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลยุคใหม่ ที่มีความตั้งใจและความพยายามปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมาย "เศรษฐกิจดิจิทัล" ในที่สุด!

โดยสรุป ระบบเทคโนโลยี 5จี มีนัยสำคัญต่อโลกในอนาคตอย่างยิ่งยวดทีเดียว และอยากจะฝากความหวังกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ซึ่งมีความตั้งใจมุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศชาติให้รุดหน้าอยู่แล้ว จงได้ใช้กฎเหล็ก (ม.44) จัดระเบียบกับการ "ยื้อ" ส่งคืนคลื่นความถี่ (ที่ไม่ได้ใช้ให้สมประโยชน์) ดังกล่าว ตามหนังสือ "ทฤษฎีศูนย์ เพื่อประโยชน์สูงสุด" ของ ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ ที่เน้นให้ "ทำสิ่งที่ไร้ค่าให้เกิดคุณค่าสูงสุด"

เพราะไหนๆ รัฐบาลชุดนี้ก็ได้ใช้บท "เด็ดขาด" จัดระเบียบ จนบรรลุเป้าหมายไปหลายเรื่องแล้ว ทำเรื่องนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอีกสักเคส คงไม่ยากสำหรับรัฐบาลที่มีผู้นำชื่อ "บิ๊กตู่" ว่าไหม?!