posttoday

การเมืองของการรณรงค์ในโลกออนไลน์

18 มกราคม 2560

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดย...ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การเมืองในโลกออนไลน์ที่ฮือฮาในช่วงปลายปีก่อนต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปีหนีไม่พ้นเรื่องกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ที่ สนช.ภายใต้การผลักดันของรัฐบาล คสช. เป็นผู้ผลักดัน บทความนี้จะไม่พูดถึงเนื้อหา เพราะได้มีข่าวเจาะจำนวนมากตีแผ่กันไปแล้ว แต่ประเด็นที่ยังไม่ได้เจาะลึกให้สะเด็ดน้ำ คือ ทำไมคนจำนวนมากจึงตื่นตระหนกกับการผลักดันร่างแก้ไขฉบับนี้ และประเด็นไหนที่ “จุดติด” ในหมู่มวลมหาประชาชาวเน็ต

ขบวนการที่ผลักดันและมีมาตรการรุนแรงต่อเนื่อง คือ กลุ่มชาวเน็ตที่เกรงว่า พ.ร.บ.คอมพ์ จะก้าวล่วงล้วงมาดู “ชีวิตส่วนตัว” ในโลกออนไลน์มากที่สุด  มากกว่าประเด็นการเซ็นเซอร์หรือการใช้ พ.ร.บ.คอมพ์ปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองเสียอีก ดังปรากฏว่ามีการลากประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพ์ไปเชื่อมโยงกับโครงการรวบประตูไหลเวียนการจราจรอินเทอร์เน็ตมาอยู่ที่ช่องทางเดียว (พลเมืองต่อต้านซิงเกิ้ลเกตเวย์) ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง

แต่ประเด็น คือ ทำไมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตตระหนกกับการล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัว มากกว่าการจำกัดการแสดงออกนั่นเอง

ทำไมคนไทยกลัว การสอดส่องด้วยซิงเกิ้ลเกตเวย์ซึ่งละเมิดความเป็นส่วนตัว/ข้อมูลส่วนบุคคล มากกว่า การเซ็นเซอร์โดย พ.ร.บ.คอมพ์ที่กระเทือนเสรีภาพในการแสดงออก การเข้าถึงข้อมูล และความคิดสร้างสรรค์ อันเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมอุดมปัญญาพัฒนาเพราะความสร้างสรรค์เกิดจากการทำลายกรอบ หรือไร้กรอบ  นั่นคือ “ไม่ถูกจับจ้องควบคุม” จะตอบคำถามนี้ได้ ต้องลองวิเคราะห์ว่า ใคร ทำอะไร ในอินเทอร์เน็ต ถึงไม่อยากให้รัฐสอดส่อง กลุ่มคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ (New Generation) ที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตมาก คนกลุ่มนี้มีกิจกรรมเชิงผลประโยชน์ในโลกออนไลน์มหาศาล และไม่ต้องการให้ใครทราบถึงรายละเอียดในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ หรือการทำธุรกรรมทางการเงินการลงทุนผ่านโลกไซเบอร์

กลุ่มหลักๆ ที่เติบโตมากในระบบเศรษฐกิจไทย คือ

1) พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เจ้าของวัฒนธรรม “ฝากร้านด้วยจ้า”

2) นักลงทุนดิจิทัล ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นทุกที อาทิ เทรดเดอร์ FOREX, หุ้น, กองทุน, ตราสาร, เงิน, ทอง, น้ำมัน, สินค้าเกษตรล่วงหน้า

พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้แตกต่างจากธรรมชาติเดิมของการรณรงค์ประเด็นความเป็นธรรมทางสังคม ที่เน้นไปจับกลุ่มคนที่มีสำนึกเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย โดยเฉพาะพลเมืองที่ตื่นตัวทางการเมือง ซึ่งนับวันจะมีอัตราส่วนน้อย เพราะโดนตลาด
บีบให้ทุ่มเทเวลาแทบทั้งหมดไปกับการดิ้นรนทางเศรษฐกิจ ในสังคมทุนนิยมที่มีความอ่อนแอเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงเช่นไทย ความเสี่ยงในชีวิตส่วนตัวนี่เองที่ทำให้คนจำนวนมาก พุ่งความสนใจไปที่เรื่อง “ผลประโยชน์ส่วนตน” มากกว่า “สำนึกเกี่ยวกับสาธารณะ” ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้อื่น หรือการสร้างสังคมในอุดมคติเพื่อปวงชนเลย

การสนใจเรื่องส่วนตัวนี่แหละที่ทำให้ประเด็น “ความเป็นส่วนตัว” สำคัญมากกับชาวเน็ตมากกว่า“ประเด็นสาธารณะ” ที่ต้องการคนที่มีสำนึกต่อส่วนรวม การรณรงค์ต่างๆ ที่จะได้รับความนิยม มีผู้ติดตามเข้าร่วมผลักดันประเด็นด้วยจำนวนมาก จึงต้องขยายไปทำงานกับคนกลุ่มหลักๆ ที่เป็นคนที่มีส่วนได้เสียในโลกออนไลน์อย่างพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์และนักเทรดดิจิทัลมากขึ้นนั่นเอง

นี่ยังไม่รวมถึงคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเชิงสันทนาการที่ต้องการความปลอดโปร่งโล่งสบาย ไร้คนจดจ้องในยามพักผ่อนหย่อนใจ ไม่ว่าจะเป็นเหล่า

1) เกมเมอร์ส

2) นักดูหนังและซีรี่ส์

3) นักเสพสื่อสายดาร์ก

4) นักปฏิบัติการด้านลิขสิทธิ์และส่งเสริมการเข้าถึงศิลปวัฒนธรรมแม้ฐานะยากจน (นักอัพ/โหลด)

ก็อย่างที่รู้กัน ขบวนการที่สำเร็จมักมีลักษณะรวมแม่น้ำหลายสายให้ไหลมารวมกันนั่นเอง (Inclusive Stake-Holders) การผลิตสื่อและเคลื่อนขบวนให้โดนกลุ่มเป้าหมายสำคัญ

กลับกันหากรัฐจะลดกระแสต่อต้านก็ต้องสนองตอบความกังวลของคนกลุ่มนี้ในประเด็นประกันความเป็นส่วนตัวนั่นเอง

หากรัฐบาลต้องการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้สตาร์ทอัพด้านไอทีมีลู่ทางในการเติบโตทางธุรกิจ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ สร้างความไว้วางใจให้เกิดกับประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต การพร่ำพูดซ้ำๆ ว่าให้เชื่อใจว่าหน่วยงานรัฐไม่ได้เข้าไปจับจ้องท่าน หรือพูดทำนองว่า “ถ้าไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร” ถือว่าไม่เข้าใจธรรมชาติพื้นฐานของคนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรุนแรง

เนื่องจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาก ย่อมรู้ดีว่าการนำเข้าข้อมูลเท็จมาฝากในเครื่องมือสื่อสารโดยอาศัยซอฟต์แวร์และมัลแวร์ต่างๆ เป็นไปได้หากมีทรัพยากรมากแบบรัฐ ยิ่งถ้ารัฐล่วงรู้หมดว่า ใครทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ถี่แค่ไหน ด้วยอุปกรณ์ชิ้นใดย่อมเป็นที่สยดสยองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแน่นอน

ยิ่งไปพ่วงกับการพยายามเชื่อมโยงข้อมูลหลายอย่าง อาทิ เลขบัตรประชาชน ข้อมูลในทะเบียนราษฎร์ เลขบัญชี ข้อมูลทางการเงิน การเสียภาษี แล้วผูกเข้าไปกับกิจกรรมในเครื่องมือสื่อสาร ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตย่อมรู้สึกถูกต้อนจนมุม ไม่เหลือพื้นที่สบายๆ ไว้ให้ผ่อนคลายอีกเลย

ความผ่อนคลายนี่แหละ คือที่มาของการจับจ่ายใช้สอยในอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนบุคคล และโครงการซิงเกิ้ลเกตเวย์โดยตรง อย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จึงต้องออกแบบให้ความไว้ใจของพลเมืองเน็ตเป็นที่ตั้ง  มิใช่ทำตัวเป็น #เทศกิจออนไลน์ #ตำรวจไซเบอร์ #มาเฟียดิจิทัล

หาไม่แล้ว เศรษฐกิจดิจิทัลก็เป็นเพียงอีกโวหารที่ผลาญงบประมาณแต่ไม่สร้างงานสร้างรายได้ให้คนรุ่นใหม่แต่อย่างใด