posttoday

ทำไมแจ้งความที่โรงพักคดีถึงล่าช้า?

11 ธันวาคม 2559

เฟซบุ๊ก กูรู พิทักษ์สัตว์

เฟซบุ๊ก กูรู พิทักษ์สัตว์

ไหนๆก็พูดเรื่องคดีแล้ว ขอคุยเรื่องปัญหาเวลาไปแจ้งความกันบ้าง เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยประสบ ผมจึงได้ไปลองขุดคุ้ยมา ทั้งมุมมองของประชาชนและตำรวจอันพอจะสรุปได้ดังนี้

(1) ไปแจ้งที่โรงพัก (ผมว่าคำนี้เหมาะแล้วและควรเปิดคอฟฟี่ช๊อปตาม สน. ต่างๆให้นั่งพักรอได้แล้ว เพราะแต่ละครั้งนานมาก ลืมเรื่อง พรบ.อำนวยความสะดวกและป้ายประชาสัมพันธ์กำหนดระยะเวลาขั้นตอนที่หน่วยราชการมักติดไว้ไปได้เลย) แต่ตำรวจยังไม่รับแจ้ง แค่ลงบันทึกประจำวัน เหตุผลไม่สามารถรับแจ้งความได้ เพราะไม่รู้ใครถูกใครผิด

(2) ไปดูที่เกิดเหตุ เก็บหลักฐาน แล้วเงียบหายไปเลย พอติดตามถามก็ได้เหตุผลว่า ร้อยเวรเจ้าของคดีไม่อยู่ ออกเวรแล้ว ไปตรวจที่เกิดเหตุ ไปศาลคดีอื่น ฯลฯ ทั้งที่ตำรวจคนอื่นๆ ที่ไปด้วยก็อยู่ยังต้องให้รอเจ้าของคดี หากจะขึ้นไปบ่นให้ผู้กำกับฟังตามป้ายที่เขียนว่า “ไม่ได้รับความสะดวกเชิญพบผู้กำกับได้” ผู้กำกับก็มักไม่อยู่หรือกำลังจะออกไปข้างนอกแล้วมีฝ่ายประชาสัมพันธ์มารับหน้าแทน

(3) ให้ชื่อให้เบาะแสแถมเบอร์โทรผู้เกี่ยวข้องกับตำรวจแล้วตำรวจก็ยังไม่ตามมาสอบปากคำ เหตุผล กลับไปดูข้อ 2 บวกกับ ยังไม่มีเวลา ยังไม่มีใครรับสาย ฯลฯ

(4) กรณีต้องใช้ใบแพทย์หรือผลการชันสูตร ตำรวจมักบอกเดี๋ยวจะส่งไปให้ทาง รพ. เองแต่ไม่แจ้งว่าเมื่อไหร่หรือภายในกี่วัน

(5) เหตุเกิดไปแล้วพาเจ้าทุกข์ นำพยานหลักฐานไปให้ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ตำรวจสอบถามพยานแล้วบอกว่า ขอลงประจำวันไว้ก่อน ต้องไปตรวจที่เกิดเหตุก่อน ยังรับแจ้งความกล่าวโทษไม่ได้ ต้องสืบสอนก่อนเพราะไม่รู้ใครถูกใครผิด (ย้อนกลับไปดูข้อ 1)

คราวนี้มาดูมุมมองของตำรวจที่เข้าไปเขียนในพันทิพบ้าง

(1) ทุกอย่างมีขั้นตอนครับ อยากทราบ อยากรู้ โทรครับ คดีของคุณ ติดตามด้วย ไม่ใช่แจ้งแล้วรอเวลา รอทำไมครับ ติดตามไปด้วยกัน แล้วก็อย่ามองตำรวจในภาพลบ

(2) คนแจ้งความร้องทุกข์ 1 คน 1 คดีครับ แต่ตำรวจ 1 คน 100 คดี ทำตามระยะเวลากันไปครับ (ยกเว้นคดีดังนะครับ)

(3) ขั้นตอนเริ่มจากตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย คำให้การฝ่ายผู้ต้องหา / ผู้กล่าวหา คำให้การพยานฝ่ายผู้ต้องหา / ผู้กล่าวหา พยานวัตถุ พยานเอกสาร พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมได้เอง ความเห็นพนักงานสอบสวน ทำบัญชีท้ายคดีปะหน้าส่งอัยการ นำไปให้ รอง ผกก.สส. กับ ผกก. เซ็น ลงความเห็นคดีนี้สั่งฟ้องไม่ฟ้อง หรือ มีความเห็นแย้งไปจากพนักงานสอบสวนก็ต้องพิมพ์กันใหม่อีก จบขั้นตอนพนักงานสอบสวน ยื่นส่งให้อัยการ อัยการ อาจตีกลับมาให้ สรุปใหม่อีก ก็ต้องพิมพ์กันใหม่อีก ไม่รู้กี่รอบ จากนั้นคดีก็จะเข้าสู่ ขั้นกระบวนศาล หากยังหาพยานหลักฐานที่สรุปคดีไม่ได้ ใครเค้าจะไปสรุป ลวกๆ ออกไปล่ะครับ จริงมั้ย ?

(4) ออกเวร ไม่ได้หมายถึง พักแค่แปลว่าไม่ต้องนั่งอยู่บนโรงพัก แต่ไปตรวจสถานที่ ทำสำนวนฯ ผลัดฟ้อง ฝากขัง ฯลฯ... พูดง่ายๆใช้เวลาออกเวรตามคดีที่ตนเองรับผิดชอบอยู่..

(5) โรงพักขนาดกลาง จะมี พนักงานสอบสวน (พงส.) ไม่เกิน 4-6 คน.. คนละ 8 ชม.ต่อวัน ดังนั้น ใน 1 วัน จะใช้ พงส.. 3 คนอีก 3 คน จะว่างไปเคลียร์งานตัวเอง ได้แค่ 1 วัน ก็ต้องกลับมาเข้าเวรต่อ..จึงจำเป็นต้อง แบ่งเวลาทำงานดังนี้ เข้าเวร 8 ชม.เต็ม ถ้าออกเวรเช้า ก็สามรถไปทำงาน ติดต่อราชการจนถึงเย็น กลับมาบ้าน ทำสำนวนต่อ รวบรวมหลักฐาน ฯลฯ อีกวัน ต้องไปขึ้นศาล หรืออื่นๆ อีกกระบุงโกย..

(6) โรงพักขนาดกลาง ในกทม. เดือนๆ มีคนไปแจ้งความเป็นพัน..เอา จำนวน พงส.หาร เลขคดี ตก คนละไม่ต่ำกว่า 100 อัพ ทุกเดือน..จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมบางคดี ถึงเงียบไป บางคดีรวดเร็วปานสายฟ้า บอกได้เลย ว่าถ้าไม่เป็นคดีใหญ่จริงๆแล้วจะต้อง ดองไว้ก่อน ต้องจัดการ คดียาเสพติด คดีที่มีผลต่อชีวิตและเรื่องด่วนๆที่ ผกก สั่งมาโดยตรง..แต่ละคดี กว่าจะสิ้นสุด ก็เมื่อมีคำตัดสิน

(7) พนักงานสอบสวนเป็นสายที่ไม่ค่อยมีใครอยากอยู่ มีโอกาสโยกย้ายที่ไร ย้ายหนีทุกทีเว้นแต่พวกที่ไม่ชอบวิ่งเต้น ไม่มีเส้นสาย ไม่มีเงิน หรือที่ลงมาใหม่ ยังไม่ครบวาระโยกย้ายตามข้อกำหนดให้รับสำนวนไม่เกินปีละ ๗๐ คดี แต่เนื่องจากไม่มีใครอยู่ ย้ายกันหมด ที่เหลืออยู่รับคดีเกินทั้งนั้น

.....

ในความคิดเห็นของผมทั้งหมดเป็นมุมมองที่ถูกต้องและน่าเห็นใจทั้งสองฝ่าย แต่ในฐานะคนหนึ่งที่ทุ่มเทหนึ่งในสามของชีวิตไปกับงานเพื่อสังคม ผมเห็นว่าแทบทุกอาชีพในสายบริการล้วนแล้วแต่มีอุปสรรคและความเหนื่อยยากคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นงานยุติธรรม งานรักษาพยาบาล หรืองานอาสาสมัคร ในขณะเดียวกันก็มีผลตอบแทนที่คุ้มค่าแฝงอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอภิสิทธิ์จากตำแหน่งหน้าที่ หรือความภาคภูมิใจจากผลงานและความสำเร็จ

ที่สำคัญหากเราเลือกที่จะเข้ามารับหน้าที่นั้นแล้ว ไม่ว่าจะเหนื่อยหรือทุกข์ตรมแค่ไหน เราก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำต่อไปหรือไม่ก็ถอนตัวไปเสีย ไม่สมควรใช้ความยากลำบากมาเป็นข้ออ้างที่จะปัดความรับผิดชอบ เพราะหากเราทำเช่นนั้นก็ไม่แน่ว่าจะได้รับความเห็นใจ รังแต่จะสร้างความท้อแท้หรือไม่พอใจให้กับผู้ที่คาดหวังหรือจำเป็นต้องพึงพาเรา ยิ่งหากได้รับความเห็นใจแล้วยิ่งสมควรต้องตอบแทนด้วยการปฏิบัติ

ในขณะเดียวกันผู้ที่เห็นใจหรือเกี่ยวข้องก็สมควรร่วมมือกันหาทางแก้ไขลดทอนอุปสรรคเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจในการปรับปรุงแก้ไขควรนำข้อจำกัดของทางตำรวจไปเร่งพิจารณาให้ออกมาเป็นรูปธรรม เพราะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายรู้แต่แทบไม่ได้รับการแก้ไข

ผลก็คือ ผู้ที่เดือดร้อนหรือเหนื่อยยากก็ยังต้องทนเดือดร้อนหรือเหนื่อยยากต่อไป

ผมเองถือว่าโชคดีที่ได้สัมผัสทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีของสังคมไทยบ้านเกิดและต่างประเทศที่ไปศึกษาเล่าเรียน จึงพูดได้เต็มปากว่า วงการตำรวจของทั้งไทยและต่างประเทศล้วนมีปัญหา

แต่ในต่างประเทศเขามีระบบป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นมีผลกระทบกับการบังคับใช้กฎหมายหรือมีผลน้อยที่สุด ตำรวจแต่ละนายมีงานเต็มมือแต่ไม่ล้นมือ มีสวัสดิการที่ดีและระบบตรวจสอบที่เข้มงวด มีการแบ่งแยกภาระหน้าที่ในการรับแจ้งเหตุ การตรวจสอบ การสืบสวน และการสอบสวนชัดเจน ซึ่งผมคงไม่ขอสาธยายเพราะตำรวจผู้ใหญ่และนักการเมืองของเราหลายคนก็เคยไปศึกษาเรียนรู้มาแล้ว แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้เพราะมันเกี่ยวข้องกับการสังคายนาตำรวจไทยทั้งระบบ ตั้งแต่การรับสมัคร สวัสดิการ และการเลื่อนขั้น รวมไปถึงระบบการสืบสวนสอบสวนและการบังคับบัญชาที่ยังคงอยู่ในมือของสายการเมืองและตำรวจที่ขาดการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบจากภาคประชาชน

เราจึงยังมีนายตำรวจที่ถูกสอนให้ออกมาเป็นเจ้านายไม่ใช่ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์ มีคนที่ยอมเสียเงินยัดเยียดตัวเองเข้ามาเป็นตำรวจผู้น้อยเพราะหวังผลประโยชน์ มีครอบครัวที่อยากได้เขยเป็นตำรวจจะได้ไม่ต้องยำเกรงกฎหมาย และมีตำรวจที่อยากรับการเลื่อนยศแต่ไม่อยากรับแจ้งความ

จึงขอปิดท้ายด้วยประโยคยอดนิยมว่า “อำนาจอันยิ่งใหญ่ ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง”

หมายเหตุ เจ้าของเฟซบุ๊ก กูรู พิทักษ์สัตว์ คือ โรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์แห่งประเทศไทย ผู้ทำงานรณรงค์ต่อต้านการทารุณกรรมสัตว์มานานกว่า 30 ปี

ที่มาจากเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=345643802474843&id=100010876777365