posttoday

เปิดหัวโขน ‘ทศกัณฐ์’ หนุ่มนักการทูตไทย-ฝรั่งเศส

04 ธันวาคม 2559

เมื่อนักการทูตหนุ่มสายเลือดไทย-ฝรั่งเศส มาแสดงโขนสวมบท“ทศกัณฐ์” ภาพชายหนุ่ม วิรัช ศรีพงษ์ (วิ) หนุ่มลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส

โดย...ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

เมื่อนักการทูตหนุ่มสายเลือดไทย-ฝรั่งเศส มาแสดงโขนสวมบท“ทศกัณฐ์”

ภาพชายหนุ่ม วิรัช ศรีพงษ์ (วิ) หนุ่มลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส สวมบท“ทศกัณฐ์” ตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ ที่ร่ายรำ สง่างาม และเข้มแข็ง ดุดัน บนเวทีการแสดงโขนสมกับบทบาท “กษัตริย์ยักษ์”

ภายใต้หัวโขนนั้น หนุ่มวัย 30 ปี ที่หน้าตาออกสไตล์ฝรั่งนิดๆ  ดูมีเสน่ห์ ยิ้มและพูดจาภาษาไทยด้วยถ้อยคำอักขระชัดเจน ท่าทีสุภาพอ่อนน้อม ทำให้เราสนใจเรื่องราวเส้นทางชีวิตการก้าวสู่เส้นทางนักแสดงโขนของเขา

วิรัช เล่าว่า เขาสนใจศิลปะการแสดง วัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะมีความสนใจการแสดงโขนมากเป็นพิเศษ พิเศษขนาดไหนเขาเปรียบว่าเสมือน “ชีวิต” ของเขาเอง และไม่ใช่แค่สนใจจะแสดงโขนเท่านั้น “วิรัช” มีความรู้แตกฉานเรื่องรามเกียรติ์ จนได้เป็นสุดยอดเป็นแฟนพันธุ์แท้ “รามเกียรติ์” ปี 2544  ซึ่งตอนนั้นเขาเพิ่งเป็นหนุ่มน้อยอายุประมาณ 15-16 ปีเท่านั้น  ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นนักร้องคลื่นลูกใหม่ของ “วงสุนทราภรณ์”

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นการสนใจการแสดงโขนนั้น วิรัช เล่าว่า ผมสนใจเรื่องโขนมาตั้งจำความได้ประมาณ 2 ขวบ ที่คุณพ่อพาไปดูโขนครั้งแรก และได้มาเริ่มเรียนโขนเมื่ออายุ 11 ขวบ ที่สนใจเรียนโขนเพราะชอบชุดของโขนที่วิจิตรและสง่างามมาก รวมถึงลีลาท่าทางการออกท่าทางร่ายรำตามทำนองเพลงและบทกลอน

การจะซึมซับและเข้าถึงศิลปะการแสดงชั้นสูง “โขน” อย่างลึกซึ้งน้้น  ทำให้วิรัชมีความสนใจศึกษาอ่านวรรณกรรมรามเกียรติ์อย่างจริงจัง  ในขณะเดียวกันก็ได้แรงสนับสนุนจากครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ แม้ว่าท่านเป็นชาวฝรั่งเศส ท่านก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และชอบเกี่ยวกับศิลปะการแสดง

“ตอนเด็กๆ ผมใฝ่ฝันที่จะเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์  ซึ่งในช่วงระหว่างการตัดสินใจสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยนั้น ผู้ใหญ่ก็แนะนำว่าเราสามารถที่จะเรียนวิชาอื่นๆ และเอาความรู้ความสามารถด้านภาษาของเราไปสื่อสารถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างชาติก็ได้   ในขณะเดียวกันระหว่างการเรียนระดับมหาวิทยาลัยนั้น ก็ยังสามารถเรียนรู้ศิลปะการแสดงโขนควบคู่กันไปด้วยได้  ทำให้ผมตัดสินใจเรียนด้านรัฐศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และตั้งใจทำงานเป็นนักการทูต  เป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งของความฝันและความตั้งใจของผม” วิรัช กล่าว

“วิรัช” จบปริญญาโททั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยจบปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต  (ศศ.ม.) สาขายุโรปศึกษา (สหสาขาวิชา/นานาชาติ) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโท Sciences Po ซิยองซ์โป ฝรั่งเศส สถาบันรัฐศาสตร์ปารีส (Institut d’Etudes Politiques de Paris) แห่งซิยองซ์โป หนึ่งในสถาบันการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลก และผลิตผู้นำ นักการเมือง และนักการทูตระดับประเทศมาแล้วเกือบ 150 ปี

ปัจจุบัน วิรัช รับข้าราชการในตำแหน่งนักการทูตปฏิบัติการ (เลขานุการตรี) กระทรวงการต่างประเทศ แต่อีกบทบาทหนึ่งในวันว่าง วิรัช ยังคงมาซ้อมการแสดงโขนในบทบาท “ทศกัณฐ์” ที่สถาบันคึกฤทธิ์ทุกวันอาทิตย์ และมีโอกาสได้แสดงบท “ทศกัณฐ์”  ในโขนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

การแสดงโขนนั้น วิรัช มีมุมมองว่าเป็นเรื่องของการค้นพบตัวเอง และสามารถที่จะปลดปล่อยพลังของการเป็นตัวของตัวเองได้ จากประสบการณ์จากการแสดงโขน พอจุดหนึ่งเราได้เห็นตัวเราเองจากตัวที่เราแสดง โดยเฉพาะในเรื่องความเพียร ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับตัวเองได้ในหลายส่วน ทั้งเรื่องเรียน การทำงาน การอยู่ในสังคม

“ผมทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ  อย่างแรกเรื่องความเพียร การรู้จักกาลเทศะ การอ่อนน้อมถ่อมตน การให้เกียรติผู้อื่น รวมถึงการประพฤติปฏิบัติเป็นข้าราชการที่ดี ก็ได้มาจากตอนพาลีสอนน้องในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งการแสดงโขนได้สอนผมทุกอย่าง และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ”

วิรัช เล่าว่า การทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศก็เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงและวัฒนธรรมของไทย  ซึ่งเปรียบเป็นตัวแทนของประเทศ ที่จะสามารถจะถ่ายทอด สื่อสาร และ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการแสดงโขน นาฏศิลป์ไทย อาหารไทย  ซึ่งผมโชคดีที่ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์มาจากบรมครูระดับศิลปินแห่งชาติหลายๆ ท่าน ทำให้เข้าใจศิลปะการแสดงโขน และเรื่องราวความเป็นวัฒนธรรมไทยได้อย่างเข้าใจลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้สามารถนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศได้อย่างถูกต้อง  รวมทั้งผมได้เคยพูดคุยถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมไทย  ความเป็นมาของศิลปะการแสดงไทย ให้กับแขกระดับชั้นผู้ใหญ่ที่เดินทางมาประชุมระหว่างประเทศอยู่บ่อยๆ” วิรัช เล่าอย่างภาคภูมิใจ

ถ้าจะถามว่าการแสดงโขนกับการเป็นนักการทูตเกี่ยวพันกันอย่างไรนั้น วิรัช  บอกว่า  ผมเรียนรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมา เวลาเจอสภาวะการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศนั้น ผมคิดว่าการเจรจาต่อรองนั้น สามารถที่จะนำบทบาท “ทศกัณฐ์” มาปรับใช้ได้ เช่น ทศกัณฐ์จะมีชั้นเชิงการเจรจาต่อรอง เพื่อที่จะไปเกลี้ยกล่อมให้อีกฝ่ายมาเห็นด้วยกับฝ่ายตัวเองได้ ซึ่งก็เหมือนเป็นหลักการทูต  คือ การใช้อำนาจและเสน่ห์  ซึ่งแต่ละคนจะมีเสน่ห์และจุดเด่นที่แตกต่างกัน  นอกจากนี้การแสดงโขนนั้น ยังได้รับคำสั่งสอนมาตลอดเกี่ยวกับเรื่องการประพฤติปฏิบัติตัว รวมถึงการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดี คือ การยืน การนั่ง ต้องสง่าและนิ่ง ไม่หลุกหลิก

“ผมฝึกโขนมาเป็นสิบปีเข้าเส้นอยู่ในสายเลือดมาตลอด และโขนเปรียบเหมือนเป็นชีวิตของผม หรือเหมือนกับ ‘ถ่าน’  ในชีวิต ถ้าถอดโขนออกจากชีวิตผมแล้ว ก็เหมือนเอาถ่านออกจากชีวิตผม โขนจะติดตัวผมไปจนตาย แม้ว่าผมไม่อยู่ในวงการโขนโดยตรง แต่ความรักหวงแหนโขนไม่น้อยกว่าคนอื่นทั่วไป โขนซึมในสายเลือดของผม”  วิรัช หนุ่มสายเลือด “โขน”  กล่าว