posttoday

ตุลาคม สี่ทศวรรษ: อะไรไม่เปลี่ยน อะไรเปลี่ยน

07 ตุลาคม 2559

เฟซบุ๊ก เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas

เฟซบุ๊ก  เอนก เหล่าธรรมทัศน์ AnekLaothamatas

ช่วงนี้เป็นช่วงรำลึกถึง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 16 และ 6 ตุลาคม 19 ผ่านไปแล้วสี่ทศวรรษ ครับ ซึ่งในทั้งสองเหตุการณ์นั้นมีนักศึกษาและประชาชนต้องบาดเจ็บ พิการ และล้มตายกันไปมากมาย นับว่าเป็นครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ที่บ้านเมืองเปลี่ยนไปไม่ใช่น้อยเพราะพลังมวลชนจากระดับกลาง และ ล่างของสังคมไทยได้ปะทุขึ้น และพุ่งปะทะอำนาจรัฐจนซวดเซ ต้องปรับตัวครั้งใหญ่

จากสายตาของปัจจุบัน บางท่านมองว่าเหตุการณ์เดือนตุลาคม ในความเป็นจริง ไม่ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะจนป่านนี้เรายังวกกลับมามีรัฐประหารได้อยู่เนืองๆ มีการเดินขบวน มีประท้วง มีคอรัปชัน มีการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วก็ร่างกันใหม่ อยู่นั่นแหละ ตอนนี้ ก็ต้องรอการเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง ทหารก็อาจจะอยู่คุมอำนาจต่อไปได้อีกนาน

ข้อสรุปอย่างนี้ก็มีส่วนถูก ประเทศไทยจนถึงวันนี้ก็เป็น"รัฐทวิอำนาจ" คือมีสองวิธีในการขึ้นสู่อำนาจ เปลี่ยนไปมาอย่างค่อนข้างสะดวก ระหว่างรัฐที่มาจากการเลือกตั้งและรัฐที่มาจากการยึดอำนาจ ที่ต้องทึ่ง ก็คือรัฐทั้งสองแบบนั้นเป็นที่รับได้พอๆกันของประชาชนไทย

ไทยเราจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีความชอบธรรม "เชิงระบอบ" มีแต่ความชอบธรรม "เชิงผลงาน" ที่จะมอบให้แก่รัฐบาล นั่นคือ หลายท่านเหลือเกินปลงใจเชื่อว่าบ้านเรานั้นมัน "พอ ๆ กัน" ระหว่างทหาร หรือ นักการเมือง ฉะนั้นจะเป็น "เผด็จการ"บ้าง หรือ "ประชาธิปไตย" บ้างก็ได้ ระบอบใดทำดีทำถูกก็เป็นที่ยอมรับได้ แต่ถ้าไม่ดีไม่ถูกมาเมื่อไร ก็พร้อมจะเรียกเอาอีกระบอบหนึ่งมาแทนได้เสมอ

เมื่อยึดอำนาจกันใหม่ ๆ สองปีที่แล้ว ผมสะกิดเตือนไว้ว่า ทหารอย่าลืมตัว เพราะประชาชนที่สนับสนุนท่านอยู่นั้น ไม่มีความภักดีต่อท่านจริงหรอก ระวังพวกที่เคยส่งเสียงเชียร์ท่าน จะออกมาขับไล่ท่าน พร้อมกับเรียกร้องให้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วได้เสมอ แต่จากนั้นมาเสียงประชาชน เท่าที่ดูจากโพลและจากการลงประชามติที่เพิ่งผ่านไป ก็ลวงตาให้เห็นกันไปว่าทหารชุดนี้อาจอยู่ได้นานจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ใหม่ๆสดๆก็ทำให้บรรดาผู้สนับสนุนเอกเริ่มกังขาทหารในรอบสองอาทิตย์มานี้ ซึ่งในภาวการณ์เช่นนี้ขอให้เชื่อเถิดว่า ในระบอบ "ทวิอำนาจ" นี้ ประชาชนที่ชื่นชอบท่านจนถึงเมื่อวานนี้ วันนี้ก็อาจเปลี่ยนใจ ออกมากดดันท่านได้เสมอ ท่านจะอยู่ได้ก็ด้วยความสุจริต ด้วยผลงาน และ ด้วย "ความจริงใจ" ต่อบ้านเมือง เท่านั้น ในระบอบ"ทวิอำนาจ" นี้ เหลิงเมื่อไร อันตรายทั้งนั้น ไม่ว่ารัฐบาลนั้นจะมาจากการเลือกตั้งหรือจากการยึดอำนาจ

ที่กล่าวมาชี้ถึงความคงทนเหนียวแน่นไม่บุบสลายของการเมืองไทย ยังเป็น "ทวิอำนาจ" ต่อมา และ อาจเป็นเช่นนี้ อีกต่อไป ดูสิ ช่างยืดหยุ่นทนทานต่อแรงกระทบกระแทกของเหตุการณ์ตุลาคม 2516-19 และยังเอาตัวรอดจากแรงประทะอันพลุ่งพล่านยิ่งของเหตุการณ์ "พฤษภาคม 2535" ได้ด้วย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงอย่าเอาแต่โทษคนอื่น กลุ่มอื่น ฝ่ายอื่น หากต้องทบทวน และต้อง"เข้มงวดต่อตนเอง" ด้วย ต้องค้น ต้องคิด ต้องถามตนเองด้วยว่าเราผิดบ้างไหม พลาดบ้างไหม บ้านเมืองถึงไปไม่ถึงไหน ถอดบทเรียนจาก 40 ปีที่ผ่านมา มากกว่าที่จะเพียงเย้ยหยัน ด่าทอ ประณาม เคียดแค้น ชิงชังกันและกันแต่อย่างเดียว

มองในแง่บวกบ้าง ผมกลับคิดว่าเมืองไทยได้เปลี่ยนไปมากในสี่สิบปีนี้ ในแง่ที่สำคัญ ได้ขยับเข้าใกล้กับการเปลี่ยนผ่านสำคัญใน "ตะวันตก" ที่เป็นแม่แบบประชาธิปไตยเรา

ก่อนยุค 2516-2519 นั้น การเมืองไทยไม่ต้องเอาพลังทางสังคมมาคิดเลย เป็นการขับเคียวระหว่างฝ่ายทหารกับนักการเมืองฝ่ายค้านที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น สังคมอ่อนแออยู่ห่าง อยู่สงบ ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย

14 ตุลาคม 2516 ส่งขบวนนักศึกษาในฐานะพลังจากสังคมให้ขึ้นสู่เวทีสัประยุทธ์การเมืองเป็นพลังแรก แต่เวลานั้นพวกเขายังไม่จัดเป็น "คนชั้นกลาง" อย่างมากก็เป็นเพียง "เตรียมคนชั้นกลาง" ยังไม่มีฐานะทางสังคมที่ชัดเจน เพราะยังไม่ทำงาน ยังอยู่ในวัยเรียน แต่แค่นั้นเองก็น่าตื่นเต้นแล้ว เพราะนักศึกษาเป็นพลังทางสังคมที่เข้ามามีส่วนสำคัญจริงในการเมืองไทย เป็น "พลังใหม่" ที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาบริสุทธิ์และเสนออะไรที่ "ก้าวหน้า" ช่างเหมือนกระไรกับพวกนักศึกษายุค 60 ของฝรั่งเศสและของอเมริกา และช่างคล้ายกับนักศึกษากรีซที่ล้มรัฐบาลทหารในช่วง 70 ด้วย

จากนั้นอีกเพียงไม่ถึงยี่สิบปี เราก็พลันมีพลังสังคมใหม่อีกพลังหนึ่ง "คนชั้นกลาง" จริง ๆ "ตัวเป็นๆ" ได้ขึ้นสู่สนามการเมือง ยังจำได้ว่าตนเองตื่นเต้นแค่ไหน เพราะไม่เคยคิดว่าบ้านเราจะเกิดมีคนชั้นกลางขึ้นเป็น "เสาหลัก" ของระบอบประชาธิปไตยได้ เหมือนกับที่คนชั้นกลางในตะวันตกได้เคยเป็นมาแล้ว เป็น "ฐานสังคม" ของการเมืองที่สำคัญไม่แพ้ "ฐาน" เก่าแก่ของคนชั้นสูง และ คนร่ำรวย

ที่จริง ตอนนั้นคนชั้นล่างเอง ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองสมัยใหม่บ้างแล้ว แต่โดยทั่วไปจะอยู่ในฐานะที่เป็นเพียง "ฐานเสียง" ของพรรคและของนักการเมือง ในขณะที่คนชั้นกลางมีอิทธิพลในการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ที่ตนเห็นว่า "ไม่เก่ง-ไม่ดี" ได้อยู่บ่อยๆ

ตอนที่เขียน"สองนครา ประชาธิปไตย" นั้น ผมไม่เคยคิดเลยว่าจากนั้นไปอีกไม่นาน จะได้เห็นคนจากชนบทผู้ยากจนและอยู่ห่างไกลออกไป จะเคลื่อน "เข้ากรุง" มาปกป้องรัฐบาลที่ตนเองเลือกมา หรือ มาประท้วงกดดันขับไล่รัฐบาลที่มีคนชั้นกลางไม่น้อยสนับสนุนอยู่

อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็น เห็นเร็วเสียด้วย ตั้งแต่ ปี 50 และโดยเฉพาะในปี 52 และ 53 บรรดาคนชั้นล่างหรือคนชั้นกลางระดับล่างจากต่างจังหวัดได้เข้ามากดดันการเมืองถึงในกรุงเทพฯ แทบจะไม่ต่างจากที่ขบวนชาวนา-กรรมกร-ผู้หญิงใน"ตะวันตก" เคลื่อนเข้ามาขอสิทธิ ขอส่วน จากรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลในกรุงลอนดอนและปารีสอยู่นับหลายสิบปี บ่อยครั้งต้องนองเลือด ถูกจับ ถูกฆ่าโดยตำรวจทหาร หรือในทางกลับกัน ทำร้ายและฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ

ท่านจะชอบหรือไม่ชอบ และสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน การเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางหรือคนชั้นล่างและชาวชนบท ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ควรจะทราบก็คือการเมืองไทย ในแง่ที่มีคนชั้นกลาง คนชั้นล่างที่ตื่นตัว ที่เฝ้านิยามและเฝ้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยตามที่ตนเห็นด้วยนั้น ได้ขยับการเมืองไทยให้เข้าใกล้กับวิวัฒนาการในยุคต้น และยุคกลางของประชาธิปไตยแม่แบบแล้ว

ประเด็นคือทำอย่างไรจะให้พลังสังคมเหล่านี้ขัดแย้งกันอย่างสร้างสรรค์ได้พยายามเข้าใจกันและกัน สามัคคีกันในบางเรืองที่สำคัญมาก และฝึกหัดที่จะประนีประนอมกันบ้าง

ต้องยอมรับว่าการยึดอำนาจในปี 2549 และ ปี 2557 นั้น ด้านหลัก ไม่ได้เกิดจากฝ่ายทหารขัดแย้งกับฝ่ายประชาธิปไตย ดังเช่นในกรณีตุลาคม 2516-19 หรือ กรณี พฤษภา 35 แต่เกิดจากความขัดแย้งแตกหักระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง ทั้งนี้จะว่าฝ่ายไหนผิดถูก ฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจริง ขอให้ไปคิดกันเอง แต่ตราบใดที่ไม่ปรับเปลี่ยนความคิดและขบวนการครั้งใหญ่ให้กลับมาเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันได้ ก็ยังไม่ง่ายเลยที่ทหารจะลาโรงกลับกรมกอง

ที่มา https://www.facebook.com/AnekLaothamatas/posts/992714227540909