posttoday

ครู ผู้ชี้ทางสว่าง ให้กับศิษย์ จริงหรือ?

27 กันยายน 2559

เฟซบุ๊ก SANYA MAKARIN

เฟซบุ๊ก SANYA MAKARIN

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ วันพฤหัสที่ผ่านมาครับ  แต่รู้สึกอย่างเขียนบันทึกของตนเองและศิษย์นี้เอาไว้ ตอนเช้าวันนี้ (อาทิตย์ ๒๕ ก.ย.) เพื่อเป็นบทเรียนกับตนเอง และน่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อผู้อ่านครับ  เรื่องมีอยู่ว่าผมมีโอกาสได้ นำคลิป MV เที่ยวไทยมีเฮ มาเปิดให้เด็กๆ ม.๓ ได้ดูในชั่วโมงที่ผมดูแล แน่นอนวิชาที่ผมดูแลนั้นเป็นวิชาสังคม คับ แต่สิ่งที่ผมชวนเด็กๆ เรียนรู้ก็มักกะเชื่อมโยงกับศาสตร์ โน้นนี้นั้น ตามประสาครูแบบผม อยู่เสมอ  ที่ชอบหยิบและโยงให้เด็กๆได้เห็นตามประสบการณ์ ความรู้ ของตนเองบวกกับของครูที่มี

ก่อนที่ผมจะเปิด MV เที่ยวไทยมีเฮ ให้เด็กดู ผมถามว่า มีใครเคยดู คลิปนี้บ้าง? มีนักเรียนอยู่ ประมาณ สี่ คน ยกมือบอกว่าดูแล้ว ผมถามต่ออีกว่า แล้วมีใครได้ติดตามข่าวบ้าง ว่า MV เพลงดังกล่าวกำลังเป็นกระแส ที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์กันอยู่ จำนวนของนักเรียนที่ยกมือเริ่มมากขึ้นกว่าครั้งแรก 

ผมเลยถือโอกาสนี้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกันกับเด็กๆ เมื่อเปิด MV เที่ยวไทยมีเฮ ให้เด็กๆ ดู สีหน้า แววตา และเสียงหัวเราะ ของพวกเค้าดูท่าทางจะพอใจ และชอบ MV นี้ไม่ต่างไปจากครู (สอยอ) ผมถามว่าดูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง? หลายเสียงบอกชอบ สนุก และไม่เห็นว่ามันจะเสียหายตรงไหน ในขณะที่กลุ่มไม่ออกเสียง มีสีหน้า ยังไม่แน่ใจ เลยเงียบๆไปก่อน (ตามเคย)

หลังจากนั้นผมก็เริ่มเอาคลิป และบทความ ของผู้ที่เห็นด้วย และเห็นต่าง ว่า MV ดังกล่าวเหมาะสมและไม่เหมาะสมในแง่ของการนำเอาโขน วัฒนธรรมและนาฏยศิลป์ ชั้นสูง มานำเสนอในแบบ MV เที่ยวไทยมีเฮ ที่เด็กๆได้ดูผ่านมาเมื่อกี้  ผมชวนคุยอีกครั้ง ว่าดู และอ่านแล้ว มีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ? 

ดูเหมือนเสียงเริ่มจะแตกเป็นสองฝ่าย มีนักเรียนคนหนึ่งยกมือแลกเปลี่ยนว่า

"เอา จริงๆ นะครู ผมไม่เห็นว่ามันจะ น่าเกลียดและเสียหายตรงไหน ดูสนุกและเข้าใจง่ายดีด้วยซ้ำ โขน ก็คือคนป่าวคับ ทำโขน ให้คนดู ก็ต้องมีความเป็นคนบ้าง"

นักเรียนอีกคน พูดว่า “ผมเริ่มเห็นปัญหาแล้วครับ ว่ามันอยู่ตรงไหน ผมว่าลูกสมุนชุดเขียวสองตัว ของทศกัณฐ์นั้นแหละ แสดงท่าทางกวนตีน และเกรียนเยอะไปหน่อย เลยเป็นตัวการให้ถูกด่ากัน ”

“ ใส่หัวโขน แต่มาเป่าแคน เด้าแรงๆ ขี่ม้า วิ่งเล่นตามชายหาด มันอาจจะดูไม่สุภาพ ในแบบที่เค้าจะอยากเห็นมั้งคับครู ”

“ หนูว่าดีนะคะ อย่างน้อยโขนที่เราไม่ค่อยรู้จัก เราก็ได้คุ้นเคยมากขึ้น แถมโขนมาเที่ยวขอนแก่นบ้านเราด้วย เหมือนโขนใกล้ชิดกับพวกเรามากขึ้น (มีเสียงหัวเราะต่อท้าย)”

… การพูดคุยแลกเปลี่ยน ยังคงไหลลื่นไปเรื่อยๆ แต่เสียงส่วนใหญ่ยังคงชอบ มากกว่าไม่ชอบ เห็นด้วยว่า ไม่ควรแบน มากกว่าจะแบน MV ดังกล่าว

เสียงในหัว ผมดังขึ้นว่า “เมิงจะจบบทเรียน แค่ตรงนี้จริงๆ เหรอ สอยอ...ไม่น่าใช่นะ....”

ผมเลยชวนเด็กๆ จินตนาการต่ออีกว่า ถ้าหัวโขน ใน MV ที่ใส่ ไม่ใช่หัวยักษ์ ทศกันต์ล่ะ แต่เป็น ศรีษะของพระพุทธรูป พระพุทธเจ้า หรือศรีษะของพระเยซู ที่เราเคารพนับถือ เราจะมอง หรือรู้สึกอย่างไร ?

..เด็กๆ นิ่ง เงียบไปชั่วครู่ ผมเดาเอาเองว่าความนิ่งนั้น คือกระบวนการของการทำงานด้านในของเด็กๆ รวมทั้งครูเองด้วย  คนที่เค้าทักทวง หรือคัดค้าน เค้าอาจจะมองว่าโขน คงเป็นสิ่งที่เขารัก ศรัทธา ควรบูชา และเคารพ ไม่ต่างอะไรจาก พระพุทธรูปที่เรากราบไหว้กันอยู่นั้นเอง  เราผู้มีความรู้ และเข้าใจนาฎยศิลป์ ที่เรียกว่าโขนน้อยมาก ก็ไม่ควรด่วนตัดสินอะไร ถูกหรือผิด จากความรู้สึก หรือเสียงส่วนใหญ่ ว่าผิด หรือถูก เพราะ ถูก ผิด มันอยู่ที่เราเอาอะไรวัดหรือเป็นเกณฑ์

พูดมาถึงตอนนี้ ครูกำลังชวนเด็กๆ เรียนรู้และบอกว่า เรามีสิทธิ์ที่จะชอบ หรือไม่ชอบ เชื่อ หรือไม่เชื่อ แบบไหนก็ได้ แต่ถ้ามองในหลายๆมุมเราก็จะเคารพในความเห็นต่าง และเท่าทันกระบวนการทำงานของสื่อมากยิ่งขึ้น 

เหตุการณ์ในวันพฤหัส(๒๒ ก.ย. ๕๙ ) ในชั้นเรียน ของผม กับเด็กๆ ม.๓ จบไปแล้วครับ แต่ประเด็น การพูดคุยเรื่อง MV เที่ยวไทยมีเฮ ยังไม่จบ (แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็จะจบ ตามกาลเวลา) ในโลกสังคมออนไลน์ และสื่อ ทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ ยังคงทำงานอยู่  อาจารย์ของผมท่านหนึ่งก็เช่นกัน ท่านเขียนประเด็นนี้ในเฟสบุ๊คส่วนตัวได้น่าสนใจคับ

ในพื้นที่ตรงนี้อาจารย์ได้ใช้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้กับลูกศิษย์และคนที่มาอ่านด้วย ผมจับประเด็นได้ว่า ในฐานะครูผู้สร้างการเรียนรู้ ควรจะศึกษาความรู้ ความเข้าใจ เรื่องศิลปะ และวัฒนธรรม ให้มาก และให้ความรู้เรื่องนี้กับนักเรียนด้วย เพราะเมื่อเรามีความรู้น้อย เราก็จะมักตัดสินอะไรจากความรู้สึก ซึ่งทำให้สังคมเราเป็นสังคมบนฐานของความรู้สึก มากกว่าสังคมของเหตุและผล บนฐานของความเป็นจริง เพราะสื่อทุกวันนี้เอง ก็มักจะนำเสนอประเด็นความขัดแย้ง หรือประเด็นที่ขายได้ มากกว่าจะให้ความรู้กับผู้เสพ 

ยิ่งได้ดู คลิปของอาจารย์ พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ในเวที TEDx Bangkok ถอดความเทพพนม ที่แกพูดถึงความเชื่อ วัฒนธรรม และความจริงได้ น่าสนใจมากครับ ก็ทำให้เราเข้าใจถึงวัฒนธรรม และศิลปะได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้ต่อ กับเพื่อนครูคนหนึ่งในโรงเรียน เราได้ข้อสรุปจากเรื่องนี้ว่า เราในฐานะครู ซึ่งเป็นผู้นำพานักเรียน ยิ่งถ้านักเรียนศรัทธาครูคนไหน เขาก็จะเชื่อและเห็นตามครู ถ้าครูเป็นคนมองลบ เด็กจะเชื่อแบบลบๆ ถ้าครูมองบวกเด็กจะเชื่อแบบบวกๆ เราในบทบาทครู เป็นผู้ชี้ ว่าสิ่งนั้น ใช่ ไม่ใช่ ชอบ ชั่ว ดี ได้จริงๆ นะ และถ้าครูเอาทัศนคติส่วนตัวเข้าไปเยอะๆ ล่ะ คงเป็นอะไรที่น่ากลัวนะ ผมว่า

เขียนซะยาวมาถึงตรงนี้ ผมว่า ครู หรือผู้ใหญ่ อย่างเราๆ ควรจะชี้ ชวน เชื่อ แบบไหนดี หรือจะไม่ชวนเชื่อ ไม่ชี้นำ แต่มาเป็นผู้ ชวนตั้งคำถาม ชวนหาทางเลือก  ชวนมองหลายๆมุม ชวนค้นหาคำตอบต่อ (เพราะหลายเรื่องครูไม่ได้รู้จริง และไม่ใช่เทพเจ้าที่จะให้แสงสว่างได้) เพื่อให้อำนาจในการกล้า ตัดสินใจ อย่างมั่นคง และสง่างาม ที่จะเลือก เชื่อ ไม่เชื่อ ชอบ ไม่ชอบ ที่มาจาก ตัวของนักเรียนหรือเด็กๆเอง  ที่ผ่านการใคร่ควรอย่างคนมีปัญญา

เรามาฝึกเป็นครู และผู้ใหญ่แบบนั้นกันครับพี่น้อง     

ที่มา www.facebook.com/soryor